AE. Racing Club
11 มกราคม 2025 10:10:20 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก ช่วยเหลือ ค้นหา เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
  แสดงกระทู้
หน้า: [1]
1  AE Racing Club - FreeStyle / Free Style - AE Racing Club / ระบบวัดแรงดันลมยางอัติโนมัติ เมื่อ: 14 กรกฎาคม 2011 14:06:00
วันนี้ขอนำข่าวดีมาแบ่งปันกันกับคอรถด้วยกัน เป็นข่าวที่ว่ามีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาถึงเมืองไทยแล้ว สำหรับคนที่ซื้อรถมาจากเมืองนอกแล้วมีเทคโนโลยีนี้ติดตั้งมาเสร็จแล้วก็ไม่ว่ากัน เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยที่มาจากยางรถยนต์นั่นเองครับ ได้ทราบข่าวว่าเดี๋ยวนี้มีเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า TPMS ที่ย่อมาจากคำว่า Tire Pressure Monitoring System ซึ่งหมายถึงการการวัดการขยายตัวของยางแบบอัติโนมัติ หรือแบบไดเรกต์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ขับขี่ และต่อสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีนี้มาจากหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ชั้นนำของโลก นั่นก็คือ บริษัทคอนติเนนทอล ออโตโมทีฟ ประเทศไทย ซึ่งได้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทยได้ 3 ปีแล้ว ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนอิเลกทรอนิกส์ระดับสูง และขายให้กับโออีเอ็ม หมายถึงค่ายรถต่างๆ แม้ว่าผู้บริโภคทั่วไปจะยังหาซื้อไม่ได้ แต่ก็น่าจะรับทราบข้อมูลไว้ ถ้าหากว่าสนใจเมื่อถึงเวลาซื้อรถคันใหม่จะได้ถามยี่ห้อนั้นๆว่ามีอุปกรณ์นี้ติดตั้งมากับรถหรือเปล่า

สถิติระบุว่า สาเหตุของการที่ยางระเบิดส่วนใหญ่แล้วเป็นผลจากการที่ลมยางอ่อนลงอย่างช้าๆ ทีละน้อยโดยที่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้โดยง่าย ระบบตรวจับแบบอัติโนมัติ หรือ TPMS จะสามารถตรวจจับแรงดันลมที่ค่อยๆอ่อนลงได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมาก โดยระบบนี้ทำงานด้วยเซนเซอร์ตรวจจับที่ติดตั้งภายในยางแต่ละเส้นเพื่อรวบรวมข้อมูลแรงดันอากาศและอุณหภูมิที่สามารถอ่านค่าได้โดยตรง รวดเร็ว และแม่นยำ ในทุกช่วงเวลา ทุกสภาพถนน และทุกย่านความเร็ว ระบบนี้เรียกว่าระบบ ไดเร็คท์ มันจะแสดงผลอย่างรวดเร็วเนื่องจากใช้เกณฑ์ที่แคบกว่ามาก การแสดงผลที่แม่นยำของแรงดันลมยางในช่วงเวลาวิกฤติทำให้ผู้ขับขี่ตัดสินใจได้อย่างทันท่วงที ซึ่งหมายถึงความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นด้วยเมื่อยางจะพองตัวจนถึงระดับที่เหมาะสมทำให้สามารถควบคุมรถยนต์และลดแรงต้านทานการหมุนของยางให้อยู่ในระดับต่ำ  นอกจากเพิ่มความปลอดภัยแล้วยังเป็นการลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงและยืดอายุการใช้งานของยางได้สูงสุด

ค่ายรถยนต์ปัจจุบันต่างก็เลือกใช้เทคโนโลยีวัดแรงดันลมยางแบบ ไดเรคท์ กับรถยนต์รุ่นใหม่ที่ผลิตออกมาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่ายางรถยนต์มีแรงดันในระดับที่เหมาะสมสูงสุดตลอดเวลา ส่วนระบบ “อินไดเรกต์” จะไม่ใช่วิธีวัดค่าแรงดันอากาศโดยตรง แต่จะคำนวนโดยอาศัยข้อมูลจากตัวเซนเซอร์ตรวจวัดความเร็วที่ล้อ ซึ่งข้อมูลของคอนติเนนทอลระบุว่า การวัดแบบอินไดเรกต์ไม่สามารถใช้เป็นหลักประกันว่าจะสามารถประหยัดเชื้อเพลิงได้ตามที่คาดหวัง จึงไม่เหมาะสมที่จะเอามาใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ตามมาตรฐานสหภาพยุโรปได้

เมื่อยางแต่ละเส้นติดตั้งตัวเซนเซอร์แล้ว ข้อมูลการขยายตัวของลมยางจะถูกป้อนผ่านเครือข่ายเข้าสู่ระบบผู้ช่วยคนขับ ตัวเซนเซอร์ในยางจะทำงานร่วมกับแอพพลิเคชั่นของคอนติเนนทอลที่เรียกว่า “ฟิลลิง แอสซิสแตนท์” และตัวเซ็นเซอร์สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟนของผู้ขับขี่เพื่อรายงานระดับแรงดันลมยางในขณะนั้น โดยไม่ต้องคำนึงถึงความแม่ยนำของอุปกรณ์วัดลมยางของสถานีบริการน้ำมันเลย นอกจากนี้ ยางรถยนต์อัจฉริยะรุ่นใหม่ของคอนติเนนทอลยังก้าวล้ำหน้าด้วยการรายงานข้อมูลการบิดเบี้ยวกระทันหันของยางที่กำลังหมุน การทำงานร่วมกันของตัวเซนเซอร์ทำให้สามารถตรวจจับอาการเหินน้ำได้ตั้งแต่ระยะแรก

ปัจจุบันระบบตรวจวัดแรงดันลมยางมีการบังคับใช้ในหลายประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ในสหรัฐอเมริกาปัจจุบันมีกฎหมายบังคับใช้กับรถยนต์ส่วนตัว สหภาพยุโรปเตรียมจะประกาศใช้ระบบวัดแรงดันลมยาง ระยะที่ 1 ในปี 2555 ขณะที่เกาหลีใต้ จะเริ่มบังคับใช้ในปี 2556 แรงผลักดันในการการออกกฎหมายทั้ง 2 ระยะ คือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการแสดงสถานะของยางวรถยนต์ที่มีระดับแรงดันเหมาะสม ซึ่งหมายถึงความปลอดภัยในการขับขี่ อัตราการใช้เชื้อเพลิงและการปล่อยไอเสียที่ลดลง ซึ่งเป็นข่าวดี แต่ประโยชน์ที่จะตกเป็นของผู้ขับขี่หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้เทคโนโลยีการตรวจวัดแรงดันลมยางที่ใช้ คอนติเนนทอลพร้อมจะผลิตยางรถยนต์โดยสารที่มีการติดตั้งอุปกรณ์ยางดังกล่าวไว้ในยางรถยนต์ในปี 2556 
2  AE Racing Club - FreeStyle / Free Style - AE Racing Club / ตอบแทนสู่สังคม: โครงการ “นักขับขี่รุ่นใหม่ ใส่ใจความปลอดภัย” เมื่อ: 07 กรกฎาคม 2011 15:02:59
คอนติเนนทอลจับมือตำรวจทางหลวงจัดโครงการ “นักขับขี่รุ่นใหม่ ใส่ใจความปลอดภัย”

คอนติเนนทอล ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) เริ่มนำร่องโครงการเพื่อสังคมที่เน้นความปลอดภัยบนท้องถนนโครงการแรกแล้ว เพื่อกระตุ้นให้นักขับขี่รุ่นใหม่หันมาใส่ใจกับการขับขี่ปลอดภัย รวมทั้งให้ความรู้เรื่องวิธีการขับขี่ที่ปลอดภัย เน้นเยาวชนที่ขับขี่มอเตอร์ไซค์ หวังช่วยลดอุบัติเหตุ ปลูกฝังจิตสำนึกในการให้ความสำคัญของการขับขี่ที่ถูกต้องและปลอดภัย  “โครงการ นักขับขี่รุ่นใหม่ ใส่ใจความปลอดภัย” มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมให้เยาวชนเอาใจใส่กับการขับขี่ปลอดภัย ซึ่งเชื่อมโยงกับปรัชญาธุรกิจของคอนติเนนทอลที่เน้นในเรื่อง “การขับขี่ปลอดภัย” (Safe Mobility) ซึ่งเน้นเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและชิ้นส่วนรวมทั้งกลไกในรถยนต์ที่เกี่ยวกับความปลอดภัย มุ่งมั่นพัฒนาระบบและส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยในการขับขี่สูงสุด เป็นผู้นำในเมกะเทรนด์ด้านยานยนต์ทั้ง 4 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย การสื่อสารภายในรถยนต์ และความประหยัด

โครงการนี้เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งแรกโดยได้รับความร่วมมือจากตำรวจทางหลวง และนักเรียนจากโรงเรียนปลวกแดงพิทยาคม จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์มาโรงเรียนจำนวน 120 คน เข้าร่วม โดยทีมตำรวจทางหลวงเน้นการอบรมเชิงปฏิบัติการให้เยาวชนได้ร่วมฝึกปฏิบัติ ผู้เข้าอบรมได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องหมายจราจร กฏจราจร และวิธีการขับขี่ที่ถูกต้องและปลอดภัย ซึ่งโรงเรียนปลวกแดงพิทยาคม เป็นโรงเรียนอยู่ในชุมชนไม่ไกลจากโรงงานของคอนติเนนทอลซึ่งตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ จังหวัดระยอง เท่ากับว่ากิจกรรมฝึกอบรมในครั้งนี้จะส่งผลถึงความปลอดภัยของคนในชุมชนในจังหวัดระยองอีกด้วย

ประเทศไทยมีนโยบายให้ความสำคัญกับการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งปี 2553-2554 เป็นปีรณรงค์ลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยตั้งเป้าให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์สวมหมวกกันน็อก 100% ภายในปี 2554 และจากข้อมูลกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระบุว่า ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนเนื่องจากการขับขี่ประมาทถึง 11,000 ราย ในจำนวนนี้ร้อยละ 75 ของผู้เสียชีวิตหรือ 8,250 คนเป็นผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ โดยร้อยละ 60 เป็นผู้ขับขี่ และ ร้อยละ 30 เป็นผู้ซ้อนท้ายที่ไม่ได้สวมหมวกกันน็อก และที่น่าเป็นห่วงก็คือวัยรุ่นและเด็กอยู่ในกลุ่มที่ไม่ได้สวมหมวกกันน็อก ดังนั้นทางคอนติเนนทอลจึงเห็นว่า ผู้ขับขี่ ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มอายุใด หรือมีประสบการณ์มากน้อยแค่ไหน ต้องมีความรู้ความเข้าใจพาหนะที่ใช้ ทั้งต้องมีจิตสำนึก และความรู้เรื่องการขับขี่ที่ถูกต้อง ทั้งหมดนี้ทำให้เราสนุกกับการขับขี่โดยไม่ละเลยเรื่องความปลอดภัย
3  AE Racing Club - FreeStyle / Free Style - AE Racing Club / ข่าวประชาสัมพันธ์:หัวฉีดโซลินอยด์เท่าเพียโซ เทอร์โบชาร์จเจอร์ เมื่อ: 09 มิถุนายน 2011 12:33:18
นวัตกรรมรีดสมรรถนะหัวฉีดโซลินอยด์เท่าเพียโซ และเทอร์โบชาร์จเจอร์ขนาดเล็กพริกขี้หนูจากคอนติเนนทอล

เรเกนส์บูร์ก/เวียนนา คอนติเนนทอลคิดค้นเทคโนโลยีระบบเชื้อเพลิงอากาศและระบบจุดระเบิด เพื่อให้รถยนต์ในอนาคตมีคุณสมบัติสอดคล้องกับข้อบังคับว่าด้วยการใช้พลังงานและการปล่อยอนุภาคไอเสียที่เข้มงวดยิ่งขึ้น

เกร์ฮาร์ด โบห์ หัวหน้าหน่วยธุรกิจระบบเครื่องยนต์ ประจำฝ่ายธุรกิจระบบส่งกำลัง กล่าวระหว่างเข้าร่วมประชุมระบบเครื่องยนต์ที่กรุงเวียนนาว่า คอนติเนนทอลได้พัฒนาและผลิตเทคโนโลยีที่ตอบสนองความต้องการของตลาดที่แตกต่างกัน ประกอบด้วยเทอร์โบชาร์จเจอร์ที่คอนติเนนทอลเพิ่งปรับปรุงใหม่จึงสามารถรองรับการติดตั้งเข้ากับเครื่องยนต์ที่มีปริมาตรความจุเล็กลงได้แต่ยังคงให้แรงม้าเท่าเดิมและกินน้ำมันน้อยลง และระบบควบคุมหัวฉีดโซลินอยด์ หรือ โคซี (Controlled Solenoid Injection – COSI) ซึ่งควบคุมให้มีการจ่ายเชื้อเพลิงเข้ากระบอกสูบในปริมาณเพียงเล็กน้อย ทำให้เกิดการตอบสนองจากแคตตาไลติค คอนเวอร์เตอร์ได้อย่างรวดเร็ว ลดการปลดปล่อยอนุภาคไอเสีย และประหยัดพลังงาน ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว เมื่อระบบหัวฉีดเชื้อเพลิงทำงานประสานกับเครื่องสูบแรงดันสูงที่คอนติเนนทอลเพิ่งปรับปรุงใหม่ยังทำให้มีเสียงที่เงียบลงมาก

คอนติเนนทอลผลิตระบบควบคุมหัวฉีดโซลินอยด์ เทียบเท่าหัวฉีดเพียโซ
ระบบหัวฉีดมีบทบาทหลักในการรักษาระดับการปล่อยไอเสียให้เป็นไปตามกฎหมายปัจจัยสำคัญคือการวัดปริมาณเชื้อเพลิงที่สูบฉีดเข้าไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวัดในระดับต่ำสุด และการเตรียมตัวรองรับเครื่องพ่นเชื้อเพลิงอากาศ (air-fuel jet) ความท้าทายครั้งสำคัญสำหรับภารกิจนี้คือเร่งความร้อนของเครื่องฟอกไอเสียเชิงเร่งปฏิกิริยาให้เกิดขึ้นเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ พร้อมกับลดการก่อตัวของอนุภาคไอเสียในเวลาเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วกระบวนการทำงานของหัวฉีดที่จะกระตุ้นให้เครื่องฟอกไอเสียเชิงเร่งปฏิกิริยาเริ่มงานได้เร็วขึ้นนั้นมักจะเพิ่มการปล่อยอนุภาคไอเสียออกมามากยิ่งขึ้นด้วย อนุภาคไอเสียส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงที่เครื่องยนต์ยังเย็นตัวหรือทันทีที่มีการออกสตาร์ต ซึ่งป้องกันได้โดยใช้ระบบหัวฉีดแบบหลายหัวพร้อมกับปริมาณเชื้อเพลิงเพียงเล็กน้อยและหัวฉีดแรงดันสูงถึงแม้ว่าจะต้องไม่ให้เชื้อเพลิงพ่นไปกระทบผนังกระบอกสูบที่มีความเย็นก็ตาม ด้วยเหตุนี้แล้วระบบหัวฉีดชนิดนี้จึงเป็นที่ต้องการอย่างสูง โดยก่อนหน้านี้มีเพียงหัวฉีดเพียโซเท่านั้นที่วัดปริมาณเชื้อเพลิงได้ไม่เกิน 3 มิลลิกรัมต่อการสูบฉีด 1 ครั้งขณะที่ยังคงสามารถฉีดพ่นได้อย่างแม่นยำ

ในปัจจุบัน ระบบควบคุมหัวฉีดโซลินอยด์ หรือ โคซี สามารถส่งสัญญาณให้เชื้อเพลิงปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่จะส่งผ่านเข้าสู่ส่วนควบคุมได้โดยใช้หัวฉีดโซลีนอยด์มาตรฐานทั่วไป ซอฟต์แวร์ตัวหนึ่งจะเป็นตัวควบคุมปริมาณเชื้อเพลิงต่อการสูบฉีด 1 ครั้งและสังเกตการณ์หัวฉีดแต่ละหัวเพื่อไม่ให้หัวฉีดปล่อยเชื้อเพลิงออกมาในปริมาณที่น้อยจนเกินไปและไม่ให้เครื่องยนต์ทำงานสะดุด กระบวนการดังกล่าวนี้ทำให้โคซีรับประกันความถูกต้องแม่นยำตลอดการใช้งาน หากวัดกันที่ปริมาณเชื้อเพลิงในระดับต่ำที่สุดแล้ว เท่ากับว่าโคซีได้ยกระดับหัวฉีดโซลินอยด์ให้มีสมรรถนะเทียบเท่ากับสิ่งที่ในปัจจุบันมีเพียงหัวฉีดเพียโซเท่านั้นที่ทำได้ ระบบดังกล่าวนี้ถูกนำมาใช้เสริมกับปั๊มสูบเชื้อเพลิงแรงดันสูงที่คอนติเนนทอลเพิ่งปรับปรุงใหม่ด้วย ปั๊มสูบตัวนี้จะทำงานร่วมกับวาลว์เปิด และด้วย “ฟังก์ชันกระซิบ” ทำให้เกิดเสียงขณะทำงานเพียง 1-6 เดซิเบลเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบแล้วนับว่าเบากว่าผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งรายอื่นๆ

เทอร์โบชาร์จเจอร์ขนาดเล็กแรงม้าสูง ประหยัดน้ำมันจากคอนติเนนทอล
มาตรการสำคัญในการลดการใช้พลังงานคือ ลดปริมาตรความจุและลดจำนวนกระบอกสูบ เครื่องยนต์แบบเทอร์โบชาร์จที่มีขนาดเล็กลงจะประสบปัญหาการขาดการหมุนเวียนแก๊สน้อยลง แต่รักษาขอบข่ายการทำงานตามระบบที่วางไว้ดียิ่งขึ้น และปฏิบัติงานด้วยสมรรถนะสูงตามหลักอุณหพลศาสตร์ ระดับการบิดหมุน (ทอร์ก) มีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น เทอร์โบชาร์เจอร์จะต้องมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างฉับไวเพื่อรักษาลักษณะของการขับขี่ไว้ให้คล้ายคลึงกับเครื่องยนต์ที่มีขนาดใหญ่

ปัจจัยที่สำคัญในขั้นตอนนี้คือ ระบบกังหันศักยภาพสูงและการสูญเสียในระดับต่ำที่เวสต์เกท ลิ้นเบี่ยงซึ่งป้องกันไม่ให้แรงชาร์จเพิ่มขึ้นสูงเกินไป จะต้องมีการควบคุมอย่างดีและปิดให้สนิทที่สุดเท่าที่จะทำได้เมื่อเครื่องยนต์มีความเร็วในระดับต่ำ  เพื่อให้เทอร์โบชาร์เจอร์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตั้งแต่ช่วงแรกและสามารถบีบอากาศ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการเผาไหม้นั้น ให้เข้าไปในห้องเผาไหม้ด้วยแรงดันสูง หัวขับเวสต์เกตไฟฟ้าของคอนติเนนทอลสามารถสอดประสานเข้าไปในตัวโข่งไอดีได้อย่างสมบูรณ์แบบเพื่อเพิ่มความเร็วของหัวขับ ขณะที่วาวล์เวสต์เกต ซึ่งออกแบบใหม่ให้มีรูปทรงเป็นแผ่นจานทรงกลมมีหลังคารูปโดม จะทำหน้าที่ลดแรงดัน ทำให้สามารถนำไอเสียมาใช้เพิ่มแรงหมุนของกังหันได้ดียิ่งขึ้น เมื่อเวสต์เกตปิด แรงชาร์จจะมีเพิ่มมากขึ้นและเร็วขึ้น บวกกับแรงเครื่องยนต์ที่มีอยู่แล้วก่อนหน้านี้ทำให้เพิ่มความสะดวกง่ายดายสำหรับผู้ขับขี่มากขึ้นด้วย

หน้า: [1]
Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006-2008, Simple Machines | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!