หลายคนคงสงสัยเกี่ยวกับเรื่องอย่างนี้กันบ้างนะครับ ทุกคำตอบได้มาจาก พ.ต.ท.ยอดชาย ผู้สันติ รองผกก.2 บก.จร. ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บก.02 กองบัญชาการตำรวจนครบาล
ท่อไอเสีย รถยนตร์ที่มีการเปลี่ยนแปลงขนาดท่อไอเสีย หม้อพัก และปลายท่อด้านท้ายมีขนาดใหญ่กว่าปรกติ มีความผิดหรือไม่ครับ
คำตอบ ไม่ผิดครับ แต่สำคัญอย่าให้เสียงดังเกินกว่าที่กม.กำหนดไว้ สำหรับรถยนต์ ไม่เกิน 100 เดซิเบล รถจักรยานยนต์ไม่เกิน 95 เดซิเบล
กระจกมองข้าง กระจกมองข้างถ้าเราติดอันเล็กจะผิดกฎหมายมั๊ยครับ
คำตอบ การติดกระจกมองข้างอันเล็ก ไม่ผิดกม.ครับ สามารถติดได้ เหตุผลเพราะ
พ.ร.บ.รถยนต์พ.ศ.2522 บัญญัติว่า รถยนต์ต้องมีและใช้เครื่องอุปกรณ์สำหรับรถดังต่อไปนี้
- เครื่องมองหลัง เป็นกระจกเงา ติดอยู่ในที่ที่ผู้ขับรถสามารถมองเห็นภาพการจราจรด้านข้างและด้านหลังได้ทุกขณะอย่างชัดเจน
เนื่องจากไม่ได้กำหนดจำนวนหรือขนาดของเครื่องมองหลัง ดังนั้นจึงสามารถติดเพิ่มจากเดิมได้โดยไม่ผิดกม.
- กรณีเป็นรถจักรยานยนต์ กม.ก็บัญญัติไว้เช่นเดียวกันครับ
เรื่อง รถโหลด รถเก๋งโหลดเตี้ยผิดกฏหมายหรือเปล่าครับ หรือมีกฏหมายบังคับให้โหลดได้ไม่เกินเท่าไหร่ เพราะรถบางคันท้ายโด่งมา บางคนโหลดให้ดูพองาม ซึ่งผมโดนตำรวจจับข้อหาดัดแปลงสภาพรถ และรถผมก็เป็นรถมือสอง ซื้อมาใช้สภาพนี้ครับ (ก็ไม่เตี้ยมากครับน่าจะประมาณ 1 - 2 นิ้ว สามารถก้มไปดูใต้ท้องรถได้)
อยากรู้ว่า
1. ถ้าผิดกฏหมาย ทำไมถึงปล่อยให้เต๊นท์รถขายรถทำมาหรือดัดแปลงรถได้ครับ และทำไมเวลาตรวจสภาพรถก่อนต่อทะเบียนถึงผ่านละครับ ( แต่เวลาขับถูกจับ) และหนังสือลงโฆษณาขายโช้คโหลดอย่างนู้นอย่างงี้ ปล่อยให้เค้าขายได้อย่างไร(เท่ากับขายของที่ทำให้ผิดกฏหมายนะ)
2. ถ้ารถที่ดัดแปลงสภาพรถผิดกฏหมาย รถที่ใส่ไฮโดรลิค ยืดขึ้นยืดลง ใส่เครื่องเสียงดังๆรบกวนชาวบ้าน (เลียนแบบมอเตอร์โชว์) รถเก๋งเล็กที่ใส่เครื่อง J เทอร์โบ (แรงเกินขนาดของรถ) รถที่ยกสูงถือว่าดัดแปลงสภาพรถหรือเปล่า
3.ตอนผมจอดติดไฟแดงตำรวจมาขอดูใบขับขี่ พอผมยื่นให้ดู กับเดินกลับไปที่รถของเค้าเพื่อเขียนใบสั่ง ทิ้งให้ผมนั่งงงอยู่ในรถ โดยไม่แจงข้อหา ผมต้องขับออกไปแล้วจอดข้างทาง แล้วรีบเดินมาหาเค้าถามว่าเกิดอะไรขึ้นเค้าจึงบอกว่าดัดแปลงสภาพรถ ผมบอกว่าผมซื้อมาสภาพนี้ หรือพูดอย่างไรก็ไม่สนเก็บใบขับขี่เข้ากระเป๋าแล้วให้ไปเสียค่าปรับที่โรงพัก พอไปเสียค่าปรับ จะปรับตั้งพันหนึ่ง (มันความผิดผมเหรอ ผมซื้อมาสภาพนี้น่ะ) ผมว่าบางครั้งตำรวจทำเกินไปในบางครั้งไม่รับฟังเหตุผลบ้าง น่าจะชี้แจงให้เข้าใจว่ามันผิดอย่างนี้ๆนะ ไปแก้ไขซะ ถ้าเจออีกจับแน่นอนอะไรประมาณนี้
4. คุณว่าการมีส่วนในเรื่องของเงินค่าปรับมีส่วนเกี่ยวข้องไหม มีคนบอกว่า(ซึ่งผมก็เห็นด้วย) พอมีเอี่ยวส่วนแบ่งในเงินค่าปรับทำให้บางคนไม่เคยโดนจับก็โดน(ผมใช้ขับรถมา 2 ปี ไม่เคยโดนจับไปทำธุระหลายจังหวัดเพิ่งมาโดน) บางครั้งผมเห็นว่ามันเอื้อการนำมาใช้หาผลประโยชน์กับคนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องกฏหมายมากเกินไป เหมือนดาบมีสองคมใช้ในทางที่ดีก็ดีไป เท่าที่ผมอยากรู้ก็มีเท่านี้ละครับ ซึ่งผมคิดว่าประชาชนทั้งหลายที่ใช้รถ ก็คงอยากจะทราบเหมือนกับผม
คำตอบ การใช้รถนั้น หากเป็นรถที่ซื้อต่อจากผู้อื่น (รถมือสอง) ผู้ที่ซื้อรถคันดังกล่าวมาหรือผู้ขับขี่รถ (จะเป็นเจ้าของรถหรือไม่ก็ตาม) จะต้องรับผิดชอบทั้งในเรื่องของการขับขี่รถและของตัวรถที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรตรวจพบว่าผิดกม.
สรุปว่า การใช้รถมือสองหรือการยืมรถคนอื่นมาขับ หรือการเป็นลูกจ้างแล้วนายจ้างสั่งให้มาขับรถ เช่นไปส่งของหรือเป็นคนขับรถ หาสกพบว่ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งผิดกม. จะอ้างว่าไม่ใช้เจ้าของรถหรือเป็นรถซื้อต่อมา ย่อมไม่ได้ ยกเว้นจะมีกม.กำหนดไว้เป็นความผิดเฉพาะตัวเจ้าของ
-- รถโหลดเตี้ยหรือรถยกสูงไม่ผิดกม. เว้นแต่ 2.1 รถโหลดเตี้ย หากโหลดแล้ว มีผลต่อเนื่องไปทำให้ส่วนอื่นของรถผิดกม.ก็จะมีความผิดไปด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดที่สุดคือ การโหลดเตี้ยทำให้ระดับของไฟหน้ารถผิดไปจากที่กม.กำหนดไว้ ได้แก่ รถยนต์ : ไฟหน้ารถถูกกำหนดให้สูงจากพื้นทางราบถึงจุดศูนย์กลางดวงโคมไม่น้อยกว่า 0.60 ม. แต่ไม่เกิน 1.35 ม. หากนำรถไปโหลดเตี้ยแล้ว ลองเอาไม้บรรทัดวัดดูว่าน้อยกว่า 0.60 ม.หรือไม่ หากน้อยกว่าก็ผิดกม.ครับ
1. รถอยู่ในเต๊นท์ยังไม่ผิดกม.ครับ จอดไว้ในเต๊นท์ยังไม่ผิดจะผิดเมื่อเอาออกไปใช้ขับขี่ ส่วนโชคอัพรถนั้นยิ่งไม่ผิดกม.ใหญ่ เว้นแต่จะผิดตามพ.ร.บ. ผลิตภัณท์มาตรฐานอุตสาหกรรม(มอก.) เกี่ยวคุณสมบัติของโชคอัพ ครับ
เท่าที่ทราบ การตรวจสภาพรถผ่านสถานที่ตรวจรถเอกชนไม่ได้ตรวจเรื่องความเตี้ยของรถครับ มีแต่ตรวจเรื่องอุปกรณ์อื่น
2. รถยกสูงหากไฟสูงเกิน 1.35 ม.ก็ผิดกม.เช่นเดียวกันครับ รถใส่เครื่องเทอร์โบ หรือเปลี่ยนเครื่องใหม่ ต้องให้นายทะเบียนกรมการขนส่งทางบกตรวจสภาพก่อน หากตรวจผ่านก็ไม่ผิดครับ
3.ประเด็นว่าเป็นรถมือสองคงเข้าใจดีแล้วนะครับว่า ใช้เป็นเหตุผลในการทำให้พ้นผิดไม่ได้ แต่ประเด็นกรณีที่ตำรวจไม่แจ้งข้อหาหรือความผิดให้ทราบนั้น ไม่ถูกต้อง โดยหลักแล้วต้องแจ้งให้ทราบก่อนว่าผิดอะไร แล้วจึงออกใบสั่ง
4. เรื่องการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับกุมได้รับเงินรางวัลจากค่าปรับจราจรนั้น เป็นเพราะมีกม.บัญญัติไว้ว่า เงินค่าปรับจราจรร้อยละห้าสิบให้แบ่งให้แก่กรุงเทพมหานคร และเป็นรายได้แผ่นดิน (กระทรวงการคลัง) ส่วนที่เหลือนั้นให้เป็นรางวัลให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับกุม ซึ่งในส่วนของตำรวจจราจรก็มีการเปลี่ยนแปลงกันหลายครั้ง ซึ่งก็น่าจะเป็นเหตุจูงใจที่ทำให้มีการกวดขันจับกุมผู้ฝ่าฝืนกม.มากขึ้น แต่การกระทำความผิดใดๆก็ตาม หากไม่เคยถูกจับมาก่อน ก็ไม่ได้หมายความว่า จะเปลี่ยนสิ่งที่ผิดกม.เป็นสิ่งที่ถูกกม.ไปได้ ไม่ว่าจะไม่เคขถูกจับมา 2 หรือ 3 ปีหรือขับรถผ่านมากี่จังหวัดแล้วก็ตาม
เรื่องไฟตัดหมอก อยากทราบว่าการเปิดไฟตัดหมอกนั้นผิดกฎหมายไหมครับแล้วถ้าผิดกฎหมายแล้วจะเสียค่าเปรียบเทียบปรับเท่าไหร่
คำตอบ ขณะนี้กม.เปิดโอกาส ให้รถที่ต้องการติดไฟตัดหมอก
1.สามารถติดได้ที่หน้ารถข้างละหนึ่งดวงอยู่ในระดับเดียวกัน ใช้ไฟแสงขาวหรือแสงเหลือง มีกำลังไฟเท่ากันไม่เกินดวงละ 55 วัตต์ สูงจากพื้นทางราบไม่เกินกว่าระดับโคมไฟแสงพ่งไกล (ไฟสูง) และโคมไฟแสงพุ่งต่ำ (ไฟต่ำ) ศูนย์รวมแสงต้องอยู่ต่ำกว่าแนวขนานกับพื้นทางราบไม่น้อยกว่า 2 องศา หรือ 0.20 เมตรในระยะ 7.50 เมตร และไม่เฉไปทางขวา
2. ไฟตัดหมอกจะเปิดไฟหรือใช้แสงสว่างได้เฉพาะในทางที่จะขับรถผ่าน มีหมอก ควัน หรือฝุ่นละอองจนเป็นอุปสรรค อันอาจเกิดอันตรายในขณะขับรถ และเมื่อไม่มีรถอยู่ด้านหน้าหรือสวนมาในระยะของแสงไฟ ดังนั้น สรุปว่า
1. การติดไฟตัดหมอก มีเงื่อนไขตาม ข้อ 1
2. การใช้ไฟตัดหมอก ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขตาม ข้อ 2
เรื่องการใส่ part รอบคัน รถตู้ใส่กันชนรอบคันและมีเสาอากาศอยู่ด้านหลังจะผิดกฏหมายหรือเปล่าครับ
คำตอบ รถตู้หรือรถอื่นที่ติดกันชนรอบคัน หากพิจารณาจากการติดตั้งแล้ว ไม่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของผู้อื่น เช่นไม่ติดยื่นยาวจนเกินไป หรือไม่มีลักษณะเป็นของแหลมคม เมื่อมีคนเดินผ่านรถไปเฉี่ยวถูก ทำให้ได้รับบาดเจ็บ ก็ยังไม่เป็นความผิด การติดเสาอากาศก็เช่นเดียวกัน การติดกันชนรอบคัน แม้จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับตัวรถ แต่ก็เสียเงิน และทำให้น้ำหนักรถเพิ่มขึ้นโดยใช่เหตุ เปลืองน้ำมันรถเปล่าๆ
ขอบคุณข้อมูลจาก camry club thailand