ทุนการเมืองมองการณ์ไกลฮุบธุรกิจ LPG สอดรับนโยบายรัฐบาลเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ชี้อีกไม่นานราคาก๊าซพุ่งตามตลาด เหตุไร้เงินชดเชยเหมือนในอดีต ก่อนหน้านี้กลุ่มวิชัย ทองแตง ฮุบ PICNI ขณะที่เวิลด์แก๊สมีคนในตระกูลกุลดิลก ถือหุ้นใหญ่ ส่วนสยามแก๊สชัยสิทธิ์ ชินวัตร นั่งเป็นประธาน แบ่งเค้กคุมตลาดแก๊สจาก ปตท.
การเดินเครื่องทำตามนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่หาเสียงไว้ที่เป็นรูปธรรมลำดับแรก คือ การลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันเบนซินและดีเซล เล่นเอาวุ่นวายกันพอสมควรกับนโยบายนี้ และต้องตามแก้ปัญหากันเป็นรายวัน เนื่องจากส่วนต่างระหว่างน้ำมันเบนซินกับแก๊สโซฮอล์มีราคาต่างกันเพียง 23 สตางค์
ขัดกับแนวทางส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง และเริ่มกระทบไปสู่เกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังและอ้อย ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการป้อนโรงงานเอทานอลเพื่อผสมเป็นแก๊สโซฮอล์ และคนกลุ่มนี้เป็นฐานเสียงหลักของพรรคเพื่อไทย
ดังนั้น รัฐบาลได้แก้ด้วยการเพิ่มราคาน้ำมันเบนซินขึ้น 60 สตางค์และลดราคาแก๊สโซฮอล์ลง 60 สตางค์เมื่อ 29 สิงหาคม แต่ส่วนต่างของราคาน้ำมันทั้งสองประเภทก็ยังไม่จูงใจ จนต้องมีการลดการจัดเก็บเงินของกองทุนน้ำมันในแก๊สโซฮอล์ 95 ลงอีก ส่วนแก๊สโซฮอล์ 91 ลดการจัดเก็บที่มีเพียง 10 สตางค์ต่อลิตรแล้วรัฐชดเชยเพิ่มให้อีก 1.50 บาท ทำให้ส่วนต่างของน้ำมันเบนซินกับแก๊สโซฮอล์อยู่ที่ 3.04-4.55 บาทต่อลิตร
แม้วิธีการดังกล่าวจะได้รับเสียงคัดค้านจากนักวิชาการ แต่ไม่สามารถหยุดยั้งรัฐบาลได้หลังจากที่มาตรการค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท หรือเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ในภาคเอกชน คงไม่สามารถทำได้ตามที่สัญญาไว้ ขณะที่ผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ได้ประสานเสียงพร้อมกันว่า น้ำมันที่ลดลงลิตรละ 3-8 บาทไม่สามารถทำให้ราคาสินค้าลดลงได้
LPG จ่อพุ่ง
แหล่งข่าวจากวงการน้ำมันกล่าวว่า การลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันในเวลานี้เท่ากับเหลือเพียงส่วนของแก๊สโซฮอล์ 95 เท่านั้นที่ยังจัดเก็บอยู่ 1.40 บาทต่อลิตร จึงไม่แตกต่างกับการยุบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากเดิมที่เงินในส่วนนี้จะใช้เพื่อไปชดเชยราคาน้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ และก๊าซหุงต้ม (LPG) หรือนำไปใช้เมื่อเกิดความผันผวนขึ้นกับราคาน้ำมัน
เมื่อเงินส่วนนี้ไม่มีอีกต่อไปหากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับสูงขึ้นอีกผู้ใช้น้ำมันย่อมต้องจ่ายแพงขึ้นตามสภาพโดยไม่มีเงินที่จะเข้ามาช่วยชดเชยราคาเหมือนที่ผ่านมา แต่สิ่งที่จะกลายเป็นปัญหาขึ้นมาทันทีคือก๊าซหุงต้มหรือ LPG เนื่องจากทุกวันนี้คนไทยใช้ก๊าซนี้ในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ดังนั้น หากปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด LPG จะขยับสูงกว่าราคาในปัจจุบันไม่น้อยกว่า 18 บาทต่อกิโลกรัม
ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเตรียมที่จะแยกก๊าซเป็น 2 ตลาด ระหว่างภาคครัวเรือน กับภาคขนส่ง โดยจะลอยตัวราคาสำหรับภาคขนส่ง ซึ่งแนวคิดนี้มีมานานแต่ก็ยังไม่มีรัฐบาลไหนดำเนินการได้
ทุนการเมืองฮุบ
ขณะที่ผู้ประกอบการจำหน่ายก๊าซ LPG รายใหญ่ประกอบด้วย ปตท. เวิลด์แก๊ส สยามแก๊สและปิกนิค โดย ปตท.มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด และในช่วงที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวของเอกชนที่จำหน่ายแก๊ส เห็นได้จากบริษัท ปิกนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PICNI จากเดิมเป็นของตระกูลลาภวิสุทธิสินกลายมาเป็นของวิชัย ทองแตง เจ้าของโรงพยาบาลเปาโลและพญาไท อดีตทนายความของทักษิณ ชินวัตร
ราคา LPG ที่อาจเพิ่มขึ้นไม่ได้หมายความถึงกำไรที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ เพราะธุรกิจนี้มีกำไรอยู่แล้ว แม้ว่าจะมีการตรึงราคาโดยภาครัฐและเอกชนก็จะได้รับเงินชดเชย อีกทั้งกลุ่มที่เข้ามาแข่งขันมีไม่มาก เกือบทุกครัวเรือนต้องใช้เพื่อประกอบอาหารและยังมีรถยนต์ที่ต้องเติม LPG อีกหลายล้านคัน ธุรกิจนี้จึงเป็นที่หมายปองของนักธุรกิจ
อาจเป็นความบังเอิญที่นักธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองชุดปัจจุบันเข้ามาซื้อกิจการของปิกนิคพอดี ดีลนี้หาคนซื้อมาระยะหนึ่งและมาลงตัวในช่วงที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ส่วนจะเป็นผลมาจากนโยบายลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนพลังงานหรือไม่ยากที่จะหาคำตอบ แหล่งข่าวจากวงการพลังงานกล่าว
นอกจากนี้ เบอร์ 2 อย่างเวิลด์แก๊ส ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของปิคนิค ปรากฎชื่อภรรยาของพล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท แอสเซ็ท มิลเลียน จำกัด (มหาชน) หรือ AMC ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น บริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด
3 รายใหญ่สัมพันธ์การเมือง
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์กล่าวว่า เดิมเวิลด์แก๊สเป็นส่วนหนึ่งของปิกนิค โดยทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีคำสั่งให้บริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน ผู้ถือหุ้นใหญ่ในเวิลด์แก๊สชดเชยส่วนต่างราคาหุ้นเวิลด์แก๊สที่นำไปจำนำมูลค่าประมาณ 800-900 ล้านบาท หรืออีกทางก็ต้องหาทางนำหุ้นเวิลด์แก๊สกลับมาให้ปิคนิคทั้ง 100% ทั้งนี้เป็นผลมาจากคดีที่มีการยักยอกทรัพย์ในกิจการของปิกนิกในอดีต
ไม่ว่าจะรวมบริษัทระหว่างปิกนิกกับเวิลด์แก๊สหรือไม่ จากชื่อที่ปรากฏของผู้ถือหุ้นใหญ่จะมีสายสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม เมื่อแก๊ส LPG ที่ใช้หุงต้มหรือเติมรถยนต์ต้องลอยตัวหรือปรับราคาขึ้นจากการที่ไม่มีเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเหมือนในอดีต และมีผู้ค้าแก๊สรายใหญ่เพียง 3-4 รายก็สามารถคุมตลาดแก๊สได้ทั้งประเทศ
หากตัด ปตท.ออกไป ทั้งเวิลด์แก๊ส หรือในอนาคตกิจการของปิกนิกกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้งย่อมต้องมีการแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดกันมากขึ้น และถ้าเวิลด์แก๊สรวมกับปิกนิคซึ่งไม่น่าจะยากเพราะกลุ่มของวิชัย ทองแตง และชัจจ์ กุลดิลก มาจากสายสัมพันธ์เดียวกัน ส่วนผู้ค้าแก๊สอีกรายคือสยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SGP ที่ซื้อกิจการของบริษัทยูนิคแก๊ส จนกลายเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีพลเอกชัยสิทธิ์ ชินวัตร นั่งเป็นประธานกรรมการบริษัทมาอย่างต่อเนื่อง
รถขนแก๊สของบริษัทนี้เคยถูกผู้ชุมนุมเสื้อแดงยึดรถ 3 คันแล้วมาจอดไว้ตามจุดต่าง ๆ ในกรุงเทพเมื่อช่วงสงกรานต์ปี 2552 และเตรียมที่จะจุดไฟเพื่อสร้างความวุ่นวายแต่เรื่องยุติลงได้ก่อน
ทั้ง 3 บริษัทล้วนมีสายสัมพันธ์ทางการเมืองกับรัฐบาลปัจจุบัน ที่กุมธุรกิจแก๊ส LPG ไว้ได้ทั้งหมด ยกเว้นเพียง ปตท. ในอดีตหุ้นปิคนิคของตระกูลลาภวิสุทธิสิน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เคยร้อนแรง จากนี้ไปหุ้นของกลุ่มแก๊สที่รัฐบาลมีแผนจะลอยตัวราคาหุ้นย่อมที่จะมีสภาพคล่องมากขึ้นไม่แพ้หุ้นน้ำมันอย่าง ปตท.
ที่มา
http://www.manager.co.th/mgrweekly/viewnews.aspx?NewsID=9540000110149