ข้อมูลตัวอย่าง
การตรวจเช็ครถเบื้องต้น ด้วยตัวเอง
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 04, 2011, 09:42:03 AM »
--------------------------------------------------------------------------------
การบำรุงรักษารถด้วยตนเองที่นำเสนอนี้ เป็นแนวทางทั่วๆไป อย่างไรก็ตามถ้าสิ่งที่นำเสนอนี้ต่างไปจากหนังสือคู่มือรถ ก็ขอให้ยึดถือข้อมูลในหนังสือคู่มือเป็นหลัก รายการที่ควรตรวจเช็ค
1. น้ำหล่อเย็น ควรตรวจเช็คระดับน้ำหล่อเย็นให้อยู่ในระดับ Full อยู่เสมอ โดยตรวจเช็คในขณะที่ดับเครื่อง และเครื่องเย็น ถ้าระดับน้ำลดลงเป็นปริมาณมากก็อาจจะมีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นได้ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาหาสาเหตุ หรือนำรถเข้าศูนย์บริการเพื่อตรวจเช็คสาเหตุ (อย่าลืมเติมน้ำก่อนนำรถไป)
2. ระดับน้ำมันเครื่อง การตรวจเช็คระดับน้ำมันเครื่อง อุ่นเครื่องยนต์จนถึงอุณหภูมิทำงานแล้วดับเครื่องเช็คระดับน้ำมันเครื่องโดยใช้ก้านวัดระดับน้ำมันเครื่องเพื่อให้การตรวจเช็คถูกต้อง รถควรอยู่ในแนวระดับเครื่องยังร้อน และทำการวัดหลังจากดับเครื่อง 2-3นาทีเพื่อให้น้ำมันเครื่องไหลกลับลงด้านล่างก่อน ดึงก้านวัดน้ำมันเครื่องออก เช็คน้ำมันเครื่องที่ติดกับก้านวัดด้วยผ้า เสียบก้านวัดน้ำมันเครื่องคืนกลับจุดเดิม
ดึงก้านวัดออกมาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อตรวจสอบระดับน้ำมันเครื่องที่ปลายก้านวัด ถ้าระดับน้ำมัน เครื่องอยู่ระหว่าง " F " กับ " L " แสดงว่าระดับน้ำมันเครื่องปกติ
ข้อควรระวัง
- หลีกเลี่ยงการเติมน้ำมันเครื่องมากเกินไป เพราะอาจทำให้เครื่องยนต์เสียหายได้
- ตรวจเช็คระดับน้ำมันเครื่องที่ก้านวัดอีกครั้งหลังเติมน้ำมันเครื่องลงไป
3. ระดับน้ำกลั่นแบตเตอรี่ ควรตรวจเช็คระดับน้ำกลั่นแบตเตอรี่ ให้อยู่ในตำแหน่ง UPPER/LEVELและไม่ควรเติมเกินกว่าระดับ UPPER/LEVEL เพราะถ้าเติมมากเกินไป น้ำยาอิเลคโทรไลท์ซึ่งเป็นสารละลายกรดซัลฟูริค จะเจือจางทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงนอกจากนี้ น้ำยาอิเลคโทรไลท์อาจจะกระเด็นออกทางรูระบายไอ และไปกัดกร่อนชิ้นส่วนต่างๆ ในห้องเครื่องยนต์ได้
ข้อควรระวัง
- ปิดฝาเติมน้ำกลั่นให้แน่น
- ขั้วแบตเตอรี่ที่ขั้วบวกและลบขันแน่น
- แบตเตอรี่ยึดแน่นกับฐานที่ตั้ง
4. ระดับน้ำมันเบรค ควรตรวจเช็คด้วยสายตา สังเกตดูที่กระปุกน้ำมันเบรคมีคำว่าMAX และ MINระดับน้ำมันเบรคควรอยู่ที่ระดับ MAX อยู่เสมอ สาเหตุที่เป็นไปได ้ที่มีผลทำให้ปริมาณน้ำมันเบรคในกระปุกน้ำมันเบรคลดลงต่ำลงมี 2 ข้อ คือ
- มีการรั่วของน้ำมันเบรคออกจากระบบเบรค
- การสึกหรอของผ้าเบรค ซึ่งระดับน้ำมันเบรคจะลดลงน้อยและช้ามาก ในกรณีนี้ไม่จำเป็นต้องเติมน้ำมันเบรค
ถ้าพบว่าระดับน้ำมันเบรคในกระปุกน้ำมันเบรคลดลงต่ำลงรวดเร็ว ควรนำรถเข้าศูนย์บริการเพื่อตรวจเช็คสาเหตุ
5. ระดับน้ำมันคลัทช์ ควรตรวจเช็คด้วยสายตา สังเกตดูที่กระปุกน้ำมันคลัทช์ จะมีคำว่า MAX กับ MIN ระดับน้ำมันคลัชท์ควรอยู่ที่ระดับ MAX เสมอ ถ้าพบว่าระดับน้ำมันคลัทช์ในกระปุกลดลงต่ำลง ควรนำรถเข้าศูนย์บริการ เพื่อตรวจเช็คหาสาเหตุ
6. ระดับน้ำมันเกียร์ AUTO ควรตรวจเช็คขณะที่เครื่องยนต์ติดอยู่ โดยการดึงก้านวัดน้ำมันเกียร์ AUTO ออกเช็คน้ำมันเกียร์ที่ติดก้านวัดด้วยผ้า แล้วเสียบก้านวัดน้ำมันเกียร์คืนกลับจุดเดิม ดึงก้านวัดออกมา อีกครั้งหนึ่ง เพื่อตรวจระดับน้ำมันเกียร์ที่ปลายก้านวัด ถ้าระดับน้ำมันเกียร์อยู่ที่ขีด F พอดี แสดงว่า ระดับน้ำมันเกียร์ปกติ
7. ตรวจเช็คระดับน้ำมัน POWER ควรตรวจเช็คขณะที่เครื่องยนต์ติดอยู่ โดยการหมุนฝาปิดกระปุก น้ำมันPOWER จะติดอยู่กับฝากระปุกน้ำมัน POWER ที่ก้านวัดจะมีคำว่า HOT และ COLD อยู่คนละด้านถ้าวัดตอนที่เครื่องยนต์ยังเย็นอยู่ให้ดูด้าน COLD ถ้าวัดตอนเครื่องร้อนให้ดูด้าน HOT ถ้าเป็นรุ่นใหม่ให้ดูที่กระปุกน้ำมันPOWERจะเป็นพลาสติกใส ที่กระปุกจะมีคำว่า HOT และ COLD อยู่คนละด้าน และมีขีดระดับ MAX กับ MIN อยู่ด้วยระดับน้ำมัน POWER ควรอยู่ระดับ MAX เสมอ ถ้าดูตอนเครื่องยนต์ เย็นให้ดูด้าน COLD และถ้าดูตอนเครื่องยนต์ร้อนให้ดูด้าน HOT
8. ตรวจเช็คสภาพของสายพาน โดยวิธีการมองดูที่สายพาน ถ้าพบรอยแตกเกิดขึ้นควรทำการเปลี่ยน แต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะใช้รถได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ก็ควรตรวจดูความตึงของสายพานด้วย โดยการใช้นิ้ว กดลงบนสายพานตรงกลางระหว่างมู่เล่สองข้างถ้าสามารถกดลงได้เล็กน้อย ประมาณ 10 มม.ก็น่าจะพอใช้
ได้ (ถ้าไม่แน่ใจควรให้ช่างตรวจสอบเพราะการตรวจด้วยวิธีดังกล่าว ผู้ตรวจต้องมีความชำนาญพอสมควร)
9. ตรวจเช็คสภาพภายในห้องเครื่อง โดยวิธีการมองดูรอบๆภายในห้องเครื่อง ให้สังเกตดูว่า มีอะไร ผิดปกติหรือไม่ เช่น ท่อยางหม้อน้ำมีคราบน้ำซึมหรือไม่ สายไฟภายในห้องเครื่องเรียบร้อยดีหรือไม่ มีหนูขึ้นมากัดหรือไม่ มีคราบน้ำมันเครื่องรั่วซึมหรือไม่ เป็นต้น
10. ตรวจเช็คระบบไฟส่องสว่าง และไฟสัญญาณต่างๆ เปิดไฟทั้งหมดดูว่าทำงานตามปกติหรือไม่ มีหลอดไหนไม่ติดหรือไม่ ถ้าพบว่ามีไฟหลอดไหนไม่ติดควรเปลี่ยนให้อยู่สภาพพร้อมใช้งาน หรือนำรถเข้าศูนย์บริการเพื่อตรวจเช็ค
11. ตรวจเช็คที่ปัดน้ำฝน ยางปัดน้ำฝนเมื่อใช้ไประยะหนึ่ง ก็อาจมีการเสื่อมสภาพซึ่งเนื่องมาจากสาเหตุเหล่านี้
- ผิวสัมผัสส่วนปลายมีการสึกหรอ จากการทำงานปกติของใบปัด
- มีสิ่งสกปรก และหินทรายละเอียดอยู่ระหว่างยางใบปัดกับกระจกทำให้ยางปัดน้ำฝนสึกหรอ
- เมื่อใบปัดน้ำฝนผ่านการใช้งานนานๆ ยางใบปัดน้ำฝนจะแข็งตัว การยืดหยุ่นจะลดลงและความ บกพร่องในการปัดจะเกิดขึ้น เนื่องจากหน้าสัมผัสระหว่างยางใบปัดกับกระจกไม่ดี รวมทั้งอาจเกิดจากใบปัดน้ำฝนเกิดอาการสั่นเต้น หรืออาการอื่นๆถ้าพบอาการเหล่านี้ควรเปลี่ยนยางปัดน้ำฝนใหม่
12. ตรวจเช็คยาง ควรเช็คแรงดันลมยางอยู่เสมอๆ โดยใช้ความดันลมยางตามที่ผู้ผลิตกำหนด และควรเช็คขณะที่รถยังไม่ได้ใช้งาน( ยางยังไม่ร้อน ) ถ้าลมยางอ่อนผิดปกติควรนำไปตรวจสอบว่า มีตะปูตำหรือไม่ ดูสภาพยางด้วยตาดูที่ผิวยางมีรอยแตกเล็กๆ หรือไม่ ดูการสึกหรอของดอกยาง กล่าวคือ ดอกยางสึกมากไปหรือยัง หรือมีการสึกหรอผิดปกติ เช่น ลึกเฉพาะตรงกลางหน้ายาง (เติมลมมากเกินไป)สึกเฉพาะขอบยางทั้ง 2 ข้าง(ลมยางอ่อนเกินไป) หรือสึกด้านใดด้านหนึ่ง ฯลฯ ซึ่งกรณีเหล่านี้ควรปรึกษา ช่าง เพราะควรจะมีการตรวจเช็คช่วงล่าง และศูนย์ล้อ เอาเล็บมือกดดูที่เนื้อยางว่า นิ่ม หรือ แข็ง ถ้ายาง หมดสภาพ เนื้อยางจะกดไม่ลงจะแข็งมาก
การบำรุงรักษารถด้วยตนเองที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ควรทำบ่อยแค่ไหน ?
คำตอบ คือ ขึ้นอยู่กับรถของท่านว่า ใหม่หรือเก่า มีสภาพเป็นอย่างไร ถ้าเป็นรถใหม่ๆทำอาทิตย์ละครั้งก็มากพอแล้วแต่ถ้าเป็นรถเก่าสภาพไม่ดีนักก็อาจต้องทำทุกวันคำแนะนำ
ข้อควรระวังในการบำรุงรักษารถด้วยตัวของท่านเอง ถ้าท่านทำการบำรุงรักษารถด้วยตัวท่านเอง, ก่อนอื่นต้องแน่ใจว่า ได้ปฏิบัติตามข้อควรระวังที่ให้ไว้ในส่วนนี้อย่างถูกต้อง ไม่เช่นนั้นแล้วจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้
คำแนะนำในส่วนนี้ใช้เฉพาะในการบำรุงรักษารถ เฉพาะส่วนที่บำรุงรักษาง่าย ๆ การทำงานใด ๆเกี่ยวกับรถยนต์ของท่านควรจะใช้ความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นตามคำแนะนำ หรือคำเตือนดังต่อไปนี้
คำเตือน :
- ขณะเครื่องยนต์กำลังทำงาน ระวังอย่าให้มือ , เสื้อผ้า และเครื่องมือต่างๆเข้าใกล้ใบพัด และสายพานขับเครื่องยนต์ ( ควรถอดแหวน , นาฬิกา และเนคไท ออกก่อนทำการตรวจซ่อม )
- หลังจากใช้รถให้ระวังอย่าสัมผัสกับเครื่องยนต์ , หม้อน้ำ และท่อไอเสีย เนื่องจากความร้อนของสิ่งเหล่านี้
- อย่าสูบบุหรี่ ใกล้น้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากไอน้ำมันเชื้อเพลิงจะไวไฟมาก
- ให้ระมัดระวังอันตรายจากน้ำกรด และไอน้ำกรดจากแบตเตอรี่ เมื่อทำงานอยู่กับแบตเตอรี่
- อย่าเข้าใต้ท้องรถโดยมีเพียงแม่แรงรองรับเท่านั้น ควรใช้ขาตั้งรองรับเสียก่อน
- ใช้อุปกรณ์ป้องกันตาขณะทำงานในที่ที่อาจมีของตก มีการพ่นหรือละอองของเหลวกระเด็นออกมาไม่ว่าจะอยู่บนหรือใต้รถก็ตาม
- ควรระมัดระวังเมื่อมีการเติมน้ำมันเบรค เนื่องจากน้ำมันเบรคเป็นอันตรายต่อตาของท่านและทำลายสีรถได้ ถ้าน้ำมันเบรคกระเด็นเข้าตาหรือโดนสีรถให้รีบล้างด้วยน้ำสะอาดโดยทันที
ข้อควรระวัง
- จำไว้ว่าสายจากแบตเตอรี่และสายไฟจุดระเบิด มีกระแสหรือแรงดันไฟสูงมากจะต้องระมัดระวังอย่าให้เกิดการลัดวงจร
- ก่อนปิดกระโปรงหน้า ตรวจสอบให้แน่ใจว่า ไม่ลืมเครื่อมืออุปกรณ์ต่างๆ ไว ้
- ถ้าท่านทำน้ำมันต่างๆ หกรดโดนชิ้นส่วนต่างๆ ให้รีบล้างออกโดยน้ำสะอาดเพื่อป้องกันชิ้นส่วน หรือสีเสียหาย
- อย่าเติมน้ำมันเกียร์อัตโนมัติมากเกิน มิฉะนั้นระบบเกียร์อาจเสียหายได้
- อย่าเติมน้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์มากเกิน มิฉะนั้นระบบพวงมาลัยเพาเวอร์อาจจะเสียหายได้
ที่นี่สามารถช่วยตอบคำถามทุกอย่างได้ครับ
www.google.co.th ครับผม