Copy มาจาเวปอื่นอีกทีนะครับ เห็นว่ามีประโยชน์
สำหรับบทความนี้ อันดับแรกผมต้องขอขอบคุณ ข้อมูล รูปภาพ จากร้านสมาชิกตลาดสินค้ายานยนต์ออนไลน์ของเรา O-Racing-Shop ที่ได้เอื้อเฟื้อข้อมูลในครั้งนี้
ค้ำโช๊คที่เราเห็นขายๆกันในร้านแต่งรถก็ดี ของมือสองก็ดี ล้วนมีประโยชน์ทั้งนั้น ถ้าเป็นรถรุ่นใหม่ๆ ส่วนมากเขาก็จะทำออกมาขายกันมากมาย มีให้เลือกซื้อกันหลายยี่ห้อ (ขอให้มีเงิน) แต่ถ้าเป็นรถเก่า การจะหาค้ำโช๊คมาใส่ซิ่งสักตัว เปรียบเสียยิ่งกว่า งมเข็มในมหาสมุทร งานนี้จึงต้องตกภาระพระเอก ทำเองอีกแล้ว สำหรับรถรุ่นใหม่ๆ ก็สามารถทำเองได้ เพียงเดินหาค้ำโช๊คเชียงกงดีๆ (ถูกๆ) สักตัว มาดัดแปลงทำใช้เอง แต่ก่อนที่จะลงมือทำกัน มีหลายคนยังสงสัยว่า ค้ำโช๊ค เนี่ย ? เขาใส่กันเพื่ออะไร มีประโยชน์อย่างไร ผมจะถือโอกาสเหลาให้เข้าใจสักเล็กน้อย จะได้เห็นว่า มันน่าลงมือ ลงแรงทำกันแค่ไหน เพื่อให้สมาชิก
www.thaispeedcar.com ทดลองทำใช้เองกันบ้าง
Strut Tower Bar คืออะไร มีกี่ชนิด
เหล็กค้ำโช๊ค (Strut Tower Bar) , (Strut Bar) หรือบางคนเรียก ไทร์บาร์ เป็นแกนกลางยึดระหว่าง หัวเบ้าโช๊คทั้งสองด้านของตัวถังรถยนต์ มีหน้าแปลนยึดติดกับหัวเบ้าโช๊ค หน้า - หลัง หรือค้ำยันกับตัวถังรถส่วนใดส่วนหนึ่ง จุดประสงค์การผลิตทำขึ้นเพื่อลดอาการบิดตัวของตัวถังรถ จริงๆแล้วความนุ่มนวลในการขับขี่ และ การเกาะถนนนั้น ได้รับตัวแปรสำคัญมาจากตัวถังรถ (ง่ายๆว่า) ตัวถังจะมีการบิดตัวไปมา ซ้าย-ขวา บน-ล่าง ตามสภาวะจริงที่รถวิ่งผ่านไปตามสภาพถนน (ถ้าคุณได้เคยเห็นภาพการทดสอบตัวถังรถ จะเห็นว่าจริงๆแล้วตัวถังสามารถบิดตัวได้น่าอย่างอัศจรรย์) เป็นส่วนทำให้รถมีการขับขี่ที่นุ่มนวล ดังนั้นการเพิ่มจุดเชื่อมตัวถัง การตีโรลบาร์ หรือการสร้างเหล็กมาเสริมความแข็งแรงกับตัวถังรถ รวมถึงการติดตั้ง Strut Tower Bar นั้นเป็นวิธีการที่วงการแข่งขันรถยนต์ทำนิยมกัน เพื่อรองรับการใช้งานที่หนักขึ้นและลดการบิดตัวของตัวถังนั่นเอง
มี 2 แบบ คือแบบปรับตั้งไม่ได้ เป็นลักษณะเชื่อมติดตายตัว กับหน้าแปลนยึดเบ้าโช๊ค หรือมีน็อตไขติด แบบนี้จะช่วยในด้านความแข็งแรงมากกว่า กับแบบปรับตั้งได้ ส่วนแบบนี้จะเป็นแบบละเอียดช่วยในด้านการค้ำยันตัวถัง ด้วยการปรับตั้งให้เบ้าโช๊คทั้ง 2 ด้านให้หุบเข้าหรือ กางออก
วัสดุที่ใช้มีทั้งแบบที่เป็นเหล็กทั้งหมดซึ่งส่วนมากจะเป็นเหล็กเกรดพิเศษซึ่งความแข็งเหนียว ยืดหยุ่นได้ดีพวกโคโมลี่ ชนิดนี้จะมีความแข็งแรง แต่ก็ให้ความแข็งกระด้างมากเพราะการให้ตัวน้อย ส่วนแบบที่เป็นอะลูมิเนียมพวกนี้จะให้ทั้งน้ำหนักที่เบา และมีความยืดหยุ่นมากกว่า จนถึงแบบที่ทำด้วย ไททาเนียม พวกนี้เน้นที่น้ำหนักเบา และความแข็งแรงสูง (พอๆกับราคา) ส่วนแบบที่ใช้ทั้งเหล็ก และอลูมิเนียมร่วมกัน พวกนี้จะให้ทั้งความแข็งแรง และความยืดหยุ่นไปด้วยพร้อมๆกัน ในปัจจุบันนิยมแบบที่ทำด้วยกราไฟท์ หรือคาบอนเคฟล่า แบบนี้จะให้ความสวยงาม ความยืดหยุ่นดี เรื่องของขนาด ความหนา และรูปทรง รวมถึงจุดยึดต่างๆ และการเลือกใช้วัสดุแกนกลางนั้น ล้วนแต่มีความสัมพันธ์กับความยืดหยุ่นทั้งสิ้น ซึ่งจะให้ผลที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน
ประโยชน์ของ Strut Tower Bar มีประโยชน์มากมาย ตั่งแต่ ช่วยให้การควบคุมรถได้ดีขึ้น ทำให้ตัวถังรถแข็งแรงมากขึ้น ลดอาการเสียหายกับตัวถังโดยเฉพาะรถที่ใช้งานหนัก หรือรถเปลี่ยนช่วงล่างให้ที่แข็งขึ้นมากๆ ซึ่งจะทำให้ภาระทั้งหมดตกมาเป็นของตัวถังรถ ซึ่งจะช่วยลดภาระของตัวถังได้มาก และช่วยในการปรับตั้งมุม Camber ให้กับรถที่เกิดอุบัติเหตุ ได้อีกด้วย
บ่อยครั้งที่เราจะได้พบความเสียหาย กับ ค้ำโช๊คในรูปแบบต่าง ๆ เช่นค้ำโช๊คงอ บิดเบี้ยว เสียรูป หรือค้ำโช๊คหัก ทุกอย่างย่อมเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะเมื่อเวลาที่ตัวถังรถ ได้รับแรงกระทำมาก เช่นตกหลุมแรงๆ หรืออุบิติเหตุ เป็นเพราะการบิดตัวของตัวถังที่รุนแรง การบิดตัวเข้าหากัน รวมถึงการติดตั้งแบบไม่ถูกต้อง
กว่าจะมาเป็นค้ำโช๊ค โดย O-Racing-Shop
1. เหล็กค้ำโช๊คเก่าๆ มือสอง พวกค้ำโช๊คแบบไม่ตรงรุ่น หรือว่าไม่รู้ว่าใส่รุ่นไหนได้ พวกร้านเชียงกงส่วนมากจะขายแบบถูกๆ อันละ 500 ไม่เกิน 800 บาท (ใช้เฉพาะแกนค้ำกลาง เลือกให้มีขนาดความยาวใกล้เคียงพอที่จะใส่รถเรา ไม่ยาวหรือสั้นเกินไป
2. ท่ออะลูมิเนียมกลวง 7 หุน ความหนาสัก 1 หุน หรือ 3 มิลิเมตร ยาวสัก 1 เมตร และ อลูมิเนียมแบบแท่งตันขนาด 7 หุน ยาวสัก 2 นิ้ว ใช้ในงานสร้างแกนกลางค้ำโช๊คเอง
3. สีสเปย์พ่น ประกอบด้วยสีรองพื้นกันสนิม และสีทับหน้าจริง ชอบสีไหน แล้วแต่ความพอใจ
5. น็อตแบบ หกเหลี่ยม เบอร์ 17 ยาว 2 นิ้ว ใช้เป็นน็อตยึดระหว่างหน้าแปลน และแกนค้ำ
6. อุปกรณ์ตัดแบบ ประกอบด้วย กระดาษแข็ง ปากกา กรรไกร และตลับเมตร ใช้ในการวัดความยาวจุดต่างๆ
เริ่มต้นกระบวนการผลิต
1.ใช้กระดาแข็ง ทาบกับหัวโช๊ค ที่ตัวรถ แล้วออกแบบคร่าวๆของหน้าแปลนค้ำโช๊ค
2. นำกระดาษแข็งที่ได้มาตกแต่งให้ได้รูปแบบที่ต้องการ จากนั้นก็นำแบบกระดาษแข็งที่ได้ไปให้ร้านตัดเหล็กตามแบบกระดาษแข็งต่อไป ขนาดความหนาของเหล็กที่ตัด 4.5 มม.
3. นำเหล็กที่ได้จากการตัด มาเจียรตกแต่งส่วนเกินต่างๆให้ได้รูปสวยงาม แล้วนำไปเจาะรูตามแบบ (ข้อควรระวัง ต้องเจาะรูให้ได้ตามแบบมากที่สุด) แล้วนำเหล็กมาทดลองใส่ที่หัวโช๊คที่รถ
4. นำเหล็กมาตัดเป็นหูของค้ำโช๊ค ตามรูปแบบที่ต้องการ จำนวน 2 ตัว เจาะรูแล้วนำไปยึดติดกับแกนค้ำโช๊ค จากนั้นก็นำไปวางบนเหล็กหน้าแปลนที่ยึดติดไว้กับหัวโช๊คที่รถ วัดตำแหน่งให้ได้ Center แล้วเชื่อมหูค้ำโช๊คให้ติดกับหน้าแปลน เชื่อมแค่พออยู่เท่านั้น
5. นำหน้าแปลน ที่เชื่อมหูแล้วถอดออกจากหัวโช๊ค ส่งต่อไปเชื่อม ด้วยเครื่องเชื่อมแบบ อาร์กอน ซึ่งจะให้รอยเชื่อมที่สวยงามและแข็งแรงกว่า
6. นำหน้าแปลนที่เชื่อม ติดกับหูแล้วมา ตกแต่ง ขัดผิวให้สวยงาม ด้วยเครื่องเจียร ตะไบ และกระดาษทราย เพื่อเตรียมพ่นสี
7. นำมาพ่นสีที่ต้องการ ด้วยการพ่นสีแบบกันสนิมเกาะเหล็กหนึ่งชั้น แล้วตามด้วยสีตามใจชอบ จากนั้นเคลือบด้วยแลคเกอร์เพื่อให้เกิดความเงางาม
8. นำไปติดตั้งกับตัวรถเป็นอันเสร็จเรียบร้อย
เป็นไงบ้างครับ กับวิธีการผลิตค้ำโช๊ค แบบ Hand Made ใช้เองสักอัน เป็นการลงทุนที่น้อยกว่า และสำหรับแกนค้ำโช๊ค เราก็สามารถทำเองได้ ตามไอเดียของท่านว่าชอบแบบไหน ด้วยแท่งอะลูมิเนียม สร้างหูยึด และเชื่อมติด ได้อย่างง่ายๆ เลือกความสวยงามได้ตามใจชอบ ไม่ต้องคอยพึ่งร้าน หรือเดินหาของให้ เสียเวลา (เสียค่าน้ำมันแพงๆ) อีกด้วยครับ