นายชัยรัตน์ สงวนชื่อ รักษาการอธิบดีกรม การขนส่งทางบก เปิดเผยถึงความคืบหน้าหลังสิ้นสุดประกาศให้รถยนต์ที่เปลี่ยนเครื่องยนต์ใช้ ก๊าซธรรมชาติอัด (ซีเอ็นจี) หรือเอ็นจีวี และก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) เป็นเชื้อเพลิงแทนน้ำมันต้องแจ้งต่อกรมในวันที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า ได้ ส่งเจ้าหน้าที่ขนส่งทางบกไปตรวจร้านค้าและอู่ที่รับติดตั้งก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจีที่ไม่ได้มาตรฐาน และได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในการตรวจจับเจ้าของรถยนต์ที่เปลี่ยนใช้ ก๊าซเอ็นจีวี และแอลพีจี แต่ไม่มาแจ้งที่ขนส่งทางบกภายในเวลาที่กำหนด โดยส่วนใหญ่จะไปสุ่มตรวจที่หน้าปั๊มก๊าซ ซึ่งหากพบรายใดไม่มีใบรับรองของขนส่งทางบกจะมีความผิด มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
“ส่วนใหญ่ตำรวจจะไปสุ่มตรวจที่หน้าปั๊มก๊าซโดยเจ้าของรถยนต์ทุกคันจะต้องนำเอกสารของขนส่งทางบกติดไว้ในรถยนต์เพื่อแสดงหลักฐาน โดยก๊าซเอ็นจีวีจะมีการ์ดเติมก๊าซเป็นหลักฐานก่อนเติมอยู่แล้ว ส่วนก๊าซแอลพีจีต้องซีร็อกซ์ใบสมุดทะเบียนรถยนต์ที่แสดงหลักฐานการแจ้งเปลี่ยนก๊าซกับขนส่งทางบก ซึ่งอยากกำชับให้รถยนต์ที่เปลี่ยนเครื่องยนต์มาแจ้งการตรวจสภาพต่อขนส่งทางบกภายใน 15 วัน หลังจากการติดตั้ง หากมีการตรวจพบภายหลังเจ้าของรถจะถูกปรับไม่เกิน 1,000 บาท ซึ่งประเด็นดังกล่าวไม่ใช่เรื่องสำคัญแต่ที่ต้องการให้ผู้ที่ติดตั้งเครื่องยนต์เอ็นจีวีและแอลพีจีมีสำนึกต่อชีวิตของตนเองและเพื่อนร่วมทาง ในการนำรถมาแจ้งและรับการตรวจสภาพเพื่อความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น”
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีเจ้าของรถยนต์มาแจ้งเปลี่ยนการใช้ก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิงแทนน้ำมันประมาณ 515,000 คัน โดยแบ่งเป็นใช้ก๊าซแอลพีจี 440,000 คัน และเอ็นจีวี 68,000 คัน แต่คาดว่ายังมีรถยนต์ที่เปลี่ยนใช้ก๊าซแล้วยังไม่มาแจ้งอีก 500,000 คัน หรือคาดว่ามีรถยนต์ที่เปลี่ยนใช้ก๊าซทั้งสิ้น 1,000,000 คัน โดยแบ่งรถใช้ก๊าซแอลพีจี 80% อีก 20% เป็นเอ็นจีวี
นอกจากนี้ กรมต้องการขอความร่วมมือเจ้าของปั๊มก๊าซทุกราย ก่อนการเติมก๊าซให้ลูกค้าทุกครั้งให้ลูกค้าแสดงใบรับรองของขนส่งทางบกก่อน จากนั้นจึงเติมก๊าซให้โดยเฉพาะก๊าซแอลพีจี เพื่อความปลอดภัยของเจ้าของปั๊มและลูกค้า ส่วนรถที่ติดตั้งเอ็นจีวีนั้นจะได้ใบรับรองการตรวจสอบจากขนส่งทางบกมาแล้ว ขณะเดียวกันกระทรวงพลังงานและบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่รับผิดชอบในการรักษามาตรฐานความปลอดภัยของสถานีให้บริการน้ำมันและก๊าซ จะต้องเข้มงวดในการดำเนินการอย่างเข้มงวด คือหากเจ้าของรถไม่แสดงสำเนาเอกสาร หรือไม่มีสติกเกอร์แสดงก่อนการเติมก๊าซ ทางปั๊มจะต้องไม่เติมก๊าซให้เพื่อความปลอดภัยของส่วนรวม เพราะขนส่งทางบกไม่มีอำนาจในการกำหนด มาตรฐานความปลอดภัยของปั๊ม
“อยากยังกำชับให้เจ้าของรถทุกคันที่ต้องการนำรถไปติดตั้งเครื่องยนต์ทั้งแอลพีจีและเอ็นจีวีนำรถไปติดตั้งกับอู่ที่ได้มาตรฐานเท่านั้น ซึ่งจากการสำรวจของขนส่งทางบกพบว่ามีอู่ที่ได้รับการรับรองที่ได้มาตรฐานจากขนส่งทางบก ซึ่งขณะนี้มีอู่ที่ได้มาตรฐานทั่วประเทศประมาณ 200 กว่าอู่ ส่วนที่เหลือจะเป็นอู่ย่อย โดยให้ประชาชนสังเกตว่าอู่ที่ได้มาตรฐานจะต้องมีใบวิศวกรรับรอง และอุปกรณ์ต้องได้มาตรฐาน ไม่ใช่นำถังก๊าซที่ใช้แล้วมาปรับปรุงอีกรอบทำให้เกิดอุบัติเหตุอย่างที่ผ่านมา”.
ขอบคุณแหล่งข่าวดีๆ จากไทยรัฐ ปีที่ 59 ฉบับที่ 18473 วันอังคาร ที่ 19 สิงหาคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=economic&content=101138