นางสาว จูหลิง ปงกันมูล หรือ ครูจุ้ย (มีนาคม พ.ศ. 2522 - 8 มกราคม พ.ศ. 2550) ครูผู้ช่วยโรงเรียนบ้าน กูจิงลือปะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ผู้ถูกจับเป็นตัวประกันไปคุมขังไว้ในอาคารศูนย์พัฒนาเด็ก เล็กใกล้มัสยิดประจำหมู่บ้าน และถูกรุมทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2549 เจ้าหน้าที่สามารถช่วยครูจูหลิงได้และนำตัวส่งโรง พยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ และส่งต่อไปยังโรงพยาบาล สงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในวันต่อมา เนื่องจากเธอถูกตีจนสมองกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง สมเด็จพระ นางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้ทรงรับครูจูหลิงเป็นคนไข้ในพระราชินูปถัมภ์ โดยตลอดจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต
จูหลิง เป็นบุตรสาวคนเดียวของ คุณสูน-คุณคำมี ปงกันมูล เกิดเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2522 คุณพ่อเป็นผู้ตั้งชื่อให้ว่า "จุ้ยหลิน" ตามชื่อนางเอกหนังจีนกำลังภายใน แต่เจ้าหน้าที่จดทะเบียนเป็น "จูหลิง" และมีชื่อเล่นว่า "จุ้ย" เป็นชาวตำบลบ้านปงน้อย กิ่งอำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย จบปริญญาตรีจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เมื่อ พ.ศ. 2545
จูหลิงเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถพิเศษในการวาดภาพ เมื่อ พ.ศ. 2545 จูหลิงเป็นหนึ่งในสิบจิตรกรที่ร่วมวาดภาพในหนังสือชุด "ทศชาติแห่งพระบารมี" นำเสนอเรื่องราวของมหาชาดกทศบารมี ที่แสดงให้เห็นถึงพระบารมี 10 ประการ ที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียร ก่อนที่จะประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ และตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จัดทำโดยกระทรวงยุติธรรม เพื่อเฉลิมฉลองพระชนมายุ 4 รอบ ของสมเด็จพระเทพรัตนราช สุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี พ.ศ. 2546
พ.ศ. 2546 เธอเป็นจิตรกรร่วมวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง แสดงเรื่องราวของสังเวชนียสถาน ในอุโบสถวัดคงคาวดี หรือวัดปากบางภูมี ตำบลรัตภูมิ อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา และวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง แสดงเรื่องราวพุทธประวัติบนผนังศาลาการเปรียญ และลวดลายบนเสาศาลาการเปรียญ ของวัดเดียวกัน
จูหลิงมีปณิธานที่จะรับใช้สังคมและชาติด้วยอาชีพครู เธอจึงเรียนต่อในหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตเพิ่มอีก 1 ปี สมัครสอบบรรจุครูได้เป็นอันดับหนึ่งและเลือกจะเป็นครูในภาคใต้ โดยให้เหตุผลว่า "อยากช่วยเด็กๆ ที่ใต้เพราะทุกวันนี้พื้นที่ใน 3 จังหวัดภาคใต้หาครูได้ยากเต็มที" และได้บรรจุเป็นครูสอนวิชาศิลปะของโรงเรียนกูจิงรือปะ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548
นางคำมี ปงกันมูล มารดาของจูหลิง ได้รับการคัดเลือกให้เป็นแม่ดีเด่นประจำปี 2549 ประเภทแม่ของผู้ทำประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ นางคำมี ได้รับประทานพระบรมฉายาลักษณ์พระราชทานและเกียรติบัตร จากพระ เจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ในพิธีเปิดงานวันแม่แห่งชาติ ณ อาคารใหม่สวนอัมพร ในวันเสาร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2549
ครูจูหลิงได้เสียชีวิตลงอย่างสงบเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2550 ด้วยสาเหตุอวัยวะภายในล้มเหลวเฉียบพลัน หลังจากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้ 8 เดือน สมเด็จพระ นางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานน้ำหลวงอาบศพและพวงมาลาหน้าศพแก่ ครูจูหลิง ปงกันมูล และทรงรับงานศพของครูจูหลิงที่จะตั้งบำเพ็ญกุศลที่บ้านเกิดใน จ.เชียงราย ไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ด้วย
เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2550 สมเด็จ พระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วย สมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนสมเด็จพระ นางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในพิธีพระราชทานเพลิงศพครูจูหลิง ปงกันมูล ณ ฌาปนสถานบ้านปงน้อย หมู่ที่ 10 ตำบลปงน้อย กิ่งอำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. โดยทั้งสองพระองค์พระราชทานวโรกาสให้ นายสูน นางคำมี ปงกันมูล บิดาและมารดาครูจูหลิง เข้าเฝ้ารับเสด็จฯ อย่างใกล้ชิด และยังมีบุคลสำคัญร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพครูจูหลิง จำนวนนับหมื่นคน
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2550 ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำนายสุน และนางคำมี ปงกันมูล บิดามารดาของ ครูจูหลิง ปงกันมูล ที่ได้รับรางวัล ตามรอยเกียรติยศครูผู้มีอุดมการณ์และจิตวิญญาณครู พ.ศ. 2550 รับเกียรติคุณบัตร และโล่เสมาทองคำ 1 ชุด พร้อมเงินสด จาก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี แทนครูจูหลิง ที่เสียชีวิต ให้เป็นบุคคลแรก เพราะเป็นครูที่ดีที่สุดคนหนึ่งที่ได้ทุ่มเทชีวิตเพื่อสอนเด็กและเยาวชน
ที่มา
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%88%E0%B8%B9%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%87_%E0%B8%9B%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5