ยาแก้คัน แก้เชื้อราที่ผิวหนัง
เห็นหลายท่านในบอร์ดเกิดอาการ"คัน" กันครับ เลยเก็บมาฝาก ถาม เมื่อมีอาการคันที่ผิวหนัง ทำไมใช้ยาแก้เชื้อราแล้วไม่หาย
โรคผิวหนังมีหลายชนิด
โรคผิวหนังเป็นโรคหนึ่งที่พบได้บ่อย มีหลายชนิด เช่น ผื่นแพ้ ลมพิษ กลาก เกลื้อน เริม หิด เหา เป็นต้น โรคผิวหนังส่วนใหญ่มักมีอาการคันในบริเวณที่เป็น ทำให้รู้สึกน่ารำคาญ ในบางครั้งอาจคันมากจนต้องเกา เพื่อระงับอาการคัน เมื่อเกาแล้วก็อาจทำให้เกิดรอยเกา เกิดเป็นแผลเปิด และลุกลามให้ติดเชื้อแบคทีเรียตามมาได้ จนเกิดเป็นวงจรของโรคผิวหนังที่มีอาการคัน คือ "คันแล้วเกา เมื่อเกาแล้วยิ่งคัน เมื่อยิ่งคันก็ยิ่งเกา" วนเวียนอยู่อย่างนี้จนลุกลามเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ แต่อย่างไรก็ตามยังมีโรคผิวหนังอีกหลายชนิดที่ไม่มีอาการคัน เช่น โรคเกลื้อน ที่ทำให้ผิวหนังด่างขาว มักไม่มีอาการคัน หรือโรคงูสวัด ที่เป็นตุ่มใสเป็นกลุ่มๆ ลามตามเอว ใบหน้า ขา แขน และมีอาการปวดแสบปวดร้อนในบริเวณขึ้นตุ่ม เป็นต้น
"อาการคันเกิดจากเชื้อรา" จริงหรือ?
เมื่อมี "อาการคัน" ชาวบ้านส่วนใหญ่เข้าใจว่า "เกิดจากเชื้อรา"จึงมาขอซื้อยาแก้เชื้อราเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพที่เป็นอยู่ การมาซื้อยาแก้เชื้อราของชาวบ้านมีหลายรูปแบบ เช่น อาจจะนำตัวอย่างยามาขอซื้อยา หรือระบุชื่อยาแก้เชื้อรา หรือมาแจ้งความประสงค์ว่า ต้องการซื้อยาแก้เชื้อรา (โดยไม่ได้ระบุชื่อยา)
จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ร้านยา เมื่อซักถามอาการเพิ่มเติมกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะพบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมดของกลุ่มนี้เกิดการติดเชื้อราที่ผิวหนังจริง ส่วนที่เหลือจะเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่เชื้อรา
เช่น ผื่นผิวหนังอักเสบจากการแพ้ ผื่นแพ้สัมผัส ลมพิษ สะเก็ดเงิน เริม หิด เป็นต้น
ถ้าผู้ป่วยที่มีอาการคันและได้มาซื้อยาแก้เชื้อรา ซึ่งมีการโฆษณาตามสื่อมวลชนต่างๆ มากมาย
จนทำให้ประชาชนรู้จักชื่อยาเป็นอย่างดี เมื่อผู้ป่วยได้ใช้ยาเหล่านี้ ไป ในกรณีที่ "เฮง" หรือ "โชคดี"
ที่ผู้ป่วยเป็นโรคเชื้อราจริงๆ เมื่อได้ยาแก้เชื้อราไปใช้ทาบริเวณที่เป็นสัก 3-5 วัน อาการก็จะดีขึ้น และหายไปได้ แต่ถ้าผู้ป่วย "ซวย" หรือ "โชคร้าย" ไม่ได้เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา แต่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น การแพ้ เริม หิด เป็นต้น การใช้ยาแก้เชื้อราในกรณีนี้ก็จะไม่ได้ผลในการรักษาได้
เมื่อมีปัญหาโรคผิวหนังควรทำอย่างไร?
ดังนั้น เมื่อมีอาการคัน และสงสัยว่าตนเองจะเป็นเชื้อรา จึงอยากแนะนำให้ไปปรึกษาเรื่องนี้กับผู้ที่เชี่ยวชาญ เรื่องโรคผิวหนัง ได้แก่ ตจแพทย์ (Dermatologist) คือ แพทย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนังเฉพาะ หรืออาจจะปรึกษาเบื้องต้นกับแพทย์ทั่วไป หรือเภสัชกรชุมชนที่ร้านยาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศได้ ว่าอาการคันของท่านนั้นเกิดจากโรคใดกันแน่ จะใช้ยาอะไรดี ใช่เกิดจากเชื้อราหรือไม่ ควรไปพบแพทย์หรือไม่ เพราะถ้าท่านเสี่ยงไปใช้ยาแก้เชื้อรามาทาบริเวณที่คันที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อรา อาการคันของท่านจะไม่ดีขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นโรคที่เป็นอยู่อาจจะลุกลามให้เป็นมากขึ้นด้วย ทำให้เกิดการสูญเสียทั้งเงินทองที่ใช้ซื้อยามารักษา เสียเวลาที่ทดลองใช้ยาที่ไม่ ตรงกับโรค และเสียความรู้สึกและบุคลิกภาพที่มีอาการคัน ต้องคอยเกา เป็นการรบกวนจิตใจอยู่ตลอดเวลา
โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราที่พบบ่อย อนึ่ง โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราที่พบบ่อยในคนทั่วไปที่มีภูมิคุ้มกันปกติ คือ กลาก เกลื้อน และเชื้อราแคนดิดา ทั้ง 3 โรคนี้ โรคเกลื้อนเป็นโรคที่มักไม่มีอาการคัน แต่จะด่างขาวที่ผิวหนังมีขอบเขตชัดเจนและค่อยๆ ลามขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนโรคเชื้อราอีก 2 ชนิด คือกลากและเชื้อราแคนดิดานั้น จะมีอาการคันร่วมด้วย โดยมากเชื้อราจะ ขึ้นได้ดีในบริเวณที่อับชื้น เช่น ตามซอก นิ้วเท้าที่พบในโรคฮ่องกงฟุต (Hong Kong's foot) เป็นต้น ดังนั้นเมื่อมีอาการคันในบริเวณที่อับชื้นก็อาจเกิดจากเชื้อรา และมักมีการลามออกจากจุดเริ่มต้นอย่างช้าๆ เมื่อได้รับยาแก้เชื้อราที่ตรงกับโรค อาการจะดีขึ้นหลังจากใช้ยาทาไปภายใน 1 สัปดาห์ ดังนั้นถ้าใช้ยามาสัปดาห์หนึ่งแล้ว ไม่ดีขึ้นก็อาจเป็นโรคอื่นที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อรา ซึ่งควรไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
ควรใช้ยาทาผิวหนังอย่างไร?
ในการใช้ยาทาที่ผิวหนังจะออกฤทธิ์ได้ดี ยาชนิดนั้นจักต้องถูกดูดซึมผ่านชั้นหนังกำพร้าเข้าไปยัง ณ ตำแหน่งที่ยานั้นออกฤทธิ์ได้ดี แต่เนื่องจากในผิวหนังปกติ ชั้นหนังกำพร้าทำหน้าที่เป็นเสมือนกำแพงคอยปกป้องร่างกาย ดังนั้นถ้ามีการกำจัดผิวหนังกำพร้าออก เช่น เมื่อเป็นแผลเปิด ยาผิวหนังที่ทาบริเวณที่แผลเปิดนี้ก็จะดูดซึมได้ดีขึ้น หรือถ้าทายาผิวหนังในตำแหน่งที่บาง เช่น ที่ใบหน้า ยาผิวหนังก็จะดูดซึมได้ดีขึ้นกว่าบริเวณที่ผิวหนังหนา เช่น ฝ่ามือ ฝ่าเท้า อีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการดูดซึมของยาทาที่ผิวหนัง คือความชื้นของผิวหนัง ทั้งนี้เพราะผิวหนังกำพร้าในภาวะปกติจะมีคุณสมบัติไม่ชอบน้ำ แต่เมื่อใดก็ตามถ้าผิวหนังมีความชุ่มชื้นมากขึ้น จะทำให้การดูดซึมของยาทาที่ผิวหนังดีขึ้น เช่น ผิวหนังของเด็ก ซึ่งมีปริมาณของ น้ำในสัดส่วนที่สูง ดังนั้นในการทาผิวหนังจึงนิยมแนะนำให้ทายาหลังอาบน้ำ เพราะในขณะนั้นผิวหนังชุ่มชื้นเหมาะสมต่อการทายาเพื่อให้ยาดูดซึมได้ดีไปออกฤทธิ์
ณ ตำแหน่งที่ออกฤทธิ์ได้ดียิ่งขึ้น ในการใช้ยาจึงควรทาบางๆ บริเวณที่เป็นวันละ 2-3 ครั้ง (ยกเว้นยารักษาเริม) หลังอาบน้ำเสร็จ เช็ดให้แห้ง ก่อนทายา (ในกรณีที่ผิวหนังแพ้ง่าย ควรใช้ยาน้อยๆ ก่อนในบริเวณแคบๆ และไม่สำคัญ เช่น ท้องแขน เพื่อทดสอบว่า แพ้ยาหรือไม่) เมื่อใช้ยาแล้ว ไม่ควรเปลี่ยนยาบ่อย ก่อนครึ่งสัปดาห์ถึง 1 สัปดาห์ เพราะโรคผิวหนัง ต้องการเวลาในการรักษา และควรกำจัดสิ่งกีดขวาง เช่น ลอกขุย สะเก็ดเนื้อเยื่อที่ตายออกก่อนทายา
การเลือกรูปแบบของยาทาผิวหนัง
ยาทาผิวหนังมีหลายรูปแบบ จึงควรเลือกให้เหมาะสมกับโรค ดังนี้
ครีม มีส่วนประกอบที่เป็นไขมันน้อยแต่มีปริมาณน้ำในจำนวนมาก จึงเหมาะสมสำหรับใช้กับผิวชุ่มชื้นในร่มผ้า และผิวธรรมดาทั่วไป เนื่องจากดูดซึมง่ายและไม่ทำให้เหนียวเหนอะหนะ
ขี้ผึ้ง มีส่วนประกอบของไขมันเป็นส่วนใหญ่ เมื่อทายาขี้ผึ้งนี้ จะมีคุณสมบัติเป็นฟิล์มบางๆ หุ้มผิวหนังบริเวณนั้นไว้ ดังนั้นจึงช่วยรักษาความชื้นของผิวหนัง พร้อมๆ กับทำให้ยาส่วนใหญ่ดูดซึมได้ดียิ่งขึ้น
เป็นผลให้ ความแรงของยาสูงขึ้นกว่ายาชนิดเดียวกันในรูปแบบครีม ดังนั้นยาขี้ผึ้งจึงเหมาะสมสำหรับผิวแห้งหนา รอยโรคเรื้อรัง หรือเป็นสะเก็ด
โลชั่น มีทั้งในรูปของน้ำใส และครีมเหลว จึงมีสัดส่วนของน้ำในปริมาณที่สูงกว่าครีม จึงเหมาะสำหรับบริเวณที่มีขนหรือผม เพราะความสะดวกในการทาผ่านขนหรือผม ลงไปยังจุดที่ยาออกฤทธิ์ที่หนังศีรษะ
อาการอันไม่พึงประสงค์ของยาทาผิวหนัง
ยาทาผิวหนังเป็นยาที่อาจเกิดผลข้างเคียงได้ แต่เนื่องจากเป็นยาทาภายนอก จึงปลอดภัยมากกว่ายาชนิด กิน แต่อย่างไรก็ตามก็อาจพบได้ เช่น การใช้ยาครีม สตีรอยด์ซึ่งเป็นยาที่นิยมใช้ในการลดอาการคันและอักเสบของผิวหนัง ซึ่งถ้ามีการใช้ยาครีมสตีรอยด์ที่มีความแรงและใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ อาจทำให้เกิดผลเสียกับผิวหนัง ทำให้ผิวหนังบางลง สีผิวด่างขาว ผิวหนังลาย ย่น ผิวแตก และเป็นสิวสตีรอยด์ได้
ดังนั้น หากท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวข้องกับเรื่องยาทาในโรคผิวหนัง จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรชุมชน (ที่ประจำอยู่ที่ร้านยา) ที่พร้อมให้คำปรึกษาในเรื่องสุขภาพทุกด้านแก่ท่าน
คอลัมน์: ล้านคำถามเรื่องยา ปรึกษาเภสัชกร
หมวดหมู่: โรคตามระบบ, โรคผิวหนัง
นักเขียนหมอชาวบ้าน: ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด