เที่ยวต่อด้วยปะละ?
ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดปทุมธานี
ศาลหลักเมือง
อำเภอเมือง จ.ปทุมธานี
เป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดปทุมธานี ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าศาลากลางจังหวัด เป็นศาลาแบบจตุรมุขยอดปรางค์ ประดิษฐานเสาหลักเมืองซึ่งมีลักษณะคล้ายก้านดอกบัวหลวงทำจากไม้ชัยพฤกษ์ และมีรูปหล่อพระนารายณ์สี่กรทรงเหนือหลังนกฮูกและพระวิษณุหล่อด้วยสัมฤทธิ์ ด้านหลังของมณฑปบรรจุพระยอดธงวัดไก่เตี้ย อีกทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมายประกอบด้วยเครื่องรางของขลังที่รวบรวมมาจากวัดต่างๆ ในจังหวัดปทุมธานี
ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี (หลังเก่า)
อำเภอเมือง จ.ปทุมธานี ตั้งอยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นเรือนปั้นหยา ด้านหน้าก่อปูนเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป มีลวดลายตกแต่งด้านหน้า ที่สวยงาม ซึ่งทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานแห่งชาติ
หออัครศิลปิน
อำเภอคลองหลวง จ.ปทุมธานี ตั้งอยู่ตำบลคลองห้า อยู่เลยพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ไปอีกราว 3 กิโลเมตร สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นเลิศในศิลปะทั้งมวล เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่พสกนิกรและศิลปินทั่วโลก เป็นสถานที่จัดแสดงผลงานด้านศิลปและวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของพระองค์ 9 ด้าน คือ ด้านหัตถกรรม ด้านกีฬา ด้านวรรณศิลป์ ด้านจิตรกรรม ด้านถ่ายภาพ ด้านภูมิสถาปัตยกรรม ด้านประติมากรรม ด้านดนตรี และด้านการพระราชนิพนธ์เพลง นอกจากนี้ ยังเป็นที่จัดแสดงประวัติ และผลงานอันล้ำค่า ของศิลปินแห่งชาติทุกท่านในรูปแบบนิทรรศการภาพ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยและถ่ายทอดผลงานและภูมิปัญญาของศิลปินแห่งชาติทั้ง 4 สาขา คือ สาขาวรรณศิลป์ ศิลปการแสดง ทัศนศิลป์ และสถาปัตยกรรม ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ในวันอังคาร-วันอาทิตย์ และ วันหยุดนักขัตฤกษ์ 09.30-16.00 น. ปิดวันจันทร์ โทร. 0 2986 5020-4 เว็บไซต์
www.culture.go.th/supreme/main.php ภายในบริเวณใกล้เคียงกับหออัครศิลปิน ยังมีโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อีกหลายแห่ง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก หอจดหมายเหตุแห่งชาติและพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา
ตลาดไท
อำเภอคลองหลวง จ.ปทุมธานี
เป็นตลาดกลางสินค้าการเกษตรแห่งประเทศไทย ศูนย์กลางสินค้าการเกษตร และอุตสาหกรรม การเกษตร ครบวงจร เพื่อภาคการเกษตรกรรมไทย ยิ่งใหญ่ ทันสมัย ก้าวไกลไปสู่ความเป็นหนึ่ง บนเนื้อที่กว่า 500 ไร่ ตลาดไท ถูกออกแบบให้ยิ่งใหญ่กว้างขวาง และสะดวกสบาย แตกต่างจากตลาดกลางแบบเก่าอย่างสิ้นเชิง ด้วยการแบ่งตลาดออกเป็นสัดส่วน ตามประเภทของสินค้าที่หลากหลาย ทำให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าที่หลากหลายวันละกว่า 15,000ตัน จากเกษตรกรทั่วประเทศไทย โดยจัดแบ่งพื้นที่เป็น อาคารส้ม เป็นตลาดผลไม้ส้มเขียวหวาน, อาคารผลไม้รวม เป็นตลาดที่ช่วยรองรับผลไม้รวมจากเกษตรกรทั่วประเทศ เช่น มะม่วง แคนตาลูป กระท้อน มะปราง น้อยหน้า ผรั่ง มะละกอ ละมุด พุทรา แตงไทย ส้มโอ ส้มเช้ง กล้วยหอม ชมพุ่ องุ่น มะขามเทศ ฯลฯ, ลานขายผลไม้ตามฤดูกาล เนื่องจากในช่วงฤดูกาลผลไม้จะมีผลไม้แต่ละชนิดจำนวนมาก พื้นที่นี้เปิดให้เกษตรกรและผู้ซื้อมาซื้อขายกันโดยตรง, ตลาดไม้ดอกไม้ประดับและกิ่งพันธุ์ไม้ รวบรวมกลุ่มผู้ขายไม้ดอกไม้ประดับ และกิ่งพันธุ์ไม้จากแหล่งผลิตที่สำคัญ และรวบรวมกลุ่มผู้ค้าวัสดุอุปกรณ์เพื่อการเพาะปลูก, อาคารผัก, ตลาดสด ขายสินค้าเกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภคทุกประเภทเช่น เนื้อ หมู เป็ด ไก่ ปลา อาหารทะเล ผัก ผลไม้ ร้านขายของชำ ชั้น 2 มีสินค้าเบ็ดเตล็ดทั่วไป, ตลาดดอกไม้ มีร้านจำหน่ายไม้ดอกไม้ประดับหลากหลายจำนวนมาก เช่น ดอกกุหลาบ กล้วยไม้ เยอรบีร่า ร้านจัดทำพวงหรีด ร้านจำหน่ายสังฆภัณฑ์ ตลาดไท เปิดบริการ 24 ชั่วโมง ตั้งอยู่ริมถนนพหลโยธิน กม.ที่ 42 เยื้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ติดต่อสอบถามได้ที่โทร. 0 2908 4490-2
www.taladthai.com พิพิธภัณฑ์บัว
อำเภอธัญบุรี จ.ปทุมธานีตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เริ่มจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2543 ในการดูแลของสำนักงานโครงการภูมิทัศน์และสำนักงานกิจการพิเศษของมหาวิทยาลัยฯ ตามโครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อรวบรวมพันธุ์บัว ทั้งพันธุ์ไทย พันธุ์เทศและพันธุ์ลูกผสม เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ ค้นคว้าวิจัย ขยายพันธุ์บัว เพื่อศึกษาเรื่องการนำส่วนต่าง ๆ ของบัวไปใช้ประโยชน์ อีกทั้งเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีการรวบรวมพันธุ์บัวต่าง ๆ ทั้งของไทยและต่างประเทศ และพันธุ์ลูกผสม กว่า 100 สายพันธุ์ปลูกไว้ในกระถางและสระน้ำ อาทิ บัวหลวง บัวผัน บัวเผื่อน บัวยักษ์ บัวจงกลนี บัวกระด้ง ฯลฯ รวมทั้งบัวที่ชื่อว่า "มังคลอุบล " ที่ได้รับรางวัล Best New Hardy Waterlily 2004 ในการประกวดบัวโลกครั้งที่ 19 ที่สหรัฐอเมริกา เปิดให้เข้าชมฟรี ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30 - 16.30 น.
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ถนนรังสิต-นครนายก ตำบลคลองหก อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี 12110 โทร. 0 2549 3043 - 5 โทรสาร 0 2549 349, 0 2577 2357, 0 2577 2357
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา รังสิต
อำเภอธัญบุรี จ.ปทุมธานีตั้งอยู่ในเนื้อที่ 62 ไร่ ณ ตำบลรังสิต ถนนรังสิต-นครนายก อำเภอธัญบุรี ระหว่างคลอง 5 และคลอง 6 เข้าทางเดียวกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล โดยแยกจากถนนสายรังสิต-นครนายกเข้าไป 4 กิโลเมตร ก่อตั้งเมื่อปี 2537 เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียน นักศึกษา เยาวชนและประชาชนทั่วไป ภายในอาคารมีพื้นที่ใช้สอย 35,000 ตารางเมตร แบ่งพื้นที่ออกเป็น ห้องนิทรรศการถาวร ห้องท้องฟ้าจำลอง ห้องประชุมสัมมนาห้องปฎิบัติการวิทยาศาสตร์
นิทรรศการภายในอาคาร เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ทางด้าน วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เช่น นิทรรศการ ประทีปแห่งแผ่นดิน ดาราศาสตร์และอวกาศ วิทยาศาสตร์พื้นฐาน เมืองเด็กแดนวิทยาศาสตร์มหัศจรรย์เปิดโลกสิ่งแวดล้อม เรียนรู้มหัศจรรย์แห่งชีวิตโลกล้านปี โลกดาวเคราะห์ กีฬากับวิทยาศาสตร์
นิทรรศการนอกอาคาร อุทยานวิทยาศาสตร์ เช่น สวนสมุนไพร สวนวิทยาศาสตร์ สวนเกษตรธรรมชาติ นาฬิกาแดด ไม้ในวรรณคดี สวนธรณีวิทยา
ท้องฟ้าจำลอง รังสิตภายในศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต มีท้องฟ้าจำลองแห่งใหม่ ห้องฉายดาวเป็นแบบโดมเอียง จุที่นั่งได้ 160 ที่นั่ง พร้อมทั้งสามารถฉาย ภาพยนต์แบบ IMAX ได้ ซึ่งถือเป็นท้องฟ้าจำลองที่ทันสมัยที่สุด ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หอดูดาว สร้างเป็นหอดูดาวแบบโดม ติดตั้งกลองขนาด 16 นิ้ว รุ่น LX 200 พร้อม CCD นอกจากนี้ยังมีกล้องภาคสนามอื่นอีกเช่นกล้องนิวโทเนียน 16 นิ้ว และกล้องหักเหแสง ขนาด 4 นิ้ว อีก 3 ตัว เพื่อกิจกรรมดาราศาสตร์ ที่ให้บริการแก่บุคคลทั่วไป
กิจกรรม มีหลากหลายกิจกรรม เช่น ค่ายวิทยาศาสตร์ ทั้งค่ายไป-กลับ ค่ายแรม ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ การประชุมอบรม สัมมนาทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
การเข้าชม ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต เปิดบริการทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 09.00 - 16.00 น. ค่าเข้าชมท้องฟ้าจำลอง คนละ 30 บาท
สอบถายรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต โทร . 0 2577 5455-9 หรือ
www.rscience.netพิพิธภัณฑสถานเครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อำเภอคลองหลวง จ.ปทุมธานี ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ภายในจัดแสดงศิลปโบราณวัตถุ เครื่องถ้วยที่ผลิตจากแหล่งเตาในประเทศไทย เช่น เครื่องถ้วยสุโขทัย เครื่องถ้วยล้านนาและเครื่องถ้วยอยุธยา รวมทั้งเครื่องถ้วยที่ผลิตจากเตาเผาในต่างประเทศ ซึ่งค้นพบในประเทศไทย อาทิ เครื่องถ้วยจีน เครื่องถ้วยเวียตนาม และเครื่องถ้วยพม่า เป็นต้น พิพิธภัณ แบ่งออกเป็นห้องนิทรรศการถาวร ห้องนิทรรศการชั่วคราว ร้านจำหน่ายหนังสือและสินค้าที่ระลึก เปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันอาทิตย์ วันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์เวลา 09.00-16.00 น.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 2902 0299 , 0 2902 0299 ต่อ 2890 โทรสาร. 0 2516 6115, 0 2516 6115 E-mail:
museum@bu.ac.th เว็บไซด์
http://museum.bu.ac.thสวนสนุกดรีมเวิลด์
อำเภอธัญบุรี จ.ปทุมธานีตั้งอยู่ที่ตำบลบึงยี่โถ กิโลเมตรที่ 7 เส้นทางสายรังสิต-นครนายก บริเวณคลองสาม หากเดินทางโดยรถประจำทาง มีรถจากหมอชิต สาย ปอ. 523 (หมอชิต-สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล) หรือ ปอ. 538 (อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล) หรือนั่งรถโดยสาร ขสมก.มาลงที่รังสิต แล้วต่อรถสายที่ไปสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล แวะลงที่หน้าดรีมเวิลด์ดรีมเวิลด์เป็นสวนสนุกและสถานที่พักผ่อน ที่รวบรวมความบันเทิงนานาชนิดเข้าไว้ด้วยกันในเนื้อที่กว่า 160 ไร่ ประกอบด้วยดินแดนต่างๆ 4 ดินแดน ซึ่งได้รับการออกแบบ ให้มีบรรยากาศแห่งความสุข สนุกสนานที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่ ดรีมเวิลด์ พลาซ่า ดินแดนที่เต็มไปด้วยความงดงามของสถาปัตยกรรมอันวิจิตรพิศดารตลอดสองข้างทาง ดรีมการ์เด้น เป็นอุทยานสวนสวยที่ถูกจัดไว้อย่างสวยงาม ท่ามกลางความเย็นสบายจากทะเลสาบขนาดใหญ่ และเคเบิ้ลคาร์ ที่จะพาชมความงามของทัศนียภาพในมุมสูง แฟนตาซี แลนด์ เป็นดินแดนแห่งเทพนิยาย ประกอบด้วย ปราสาทเจ้าหญิงนิทรา บ้านขนมปัง และบ้านยักษ์ แอดแวนเจอร์ แลนด์ ดินแดนแห่งการผจญภัย และท้าทาย ประกอบด้วย รถไฟตะลุยจักรวาล ไวกิ้งส์ เมืองหิมะ เป็นต้นอัตราค่าบริการ บัตรผ่านประตู ชาวไทย ผู้ใหญ่ 120 บาท เด็ก 95 บาท บัตรรวมเครื่องเล่น 330 บาท ชาวต่างประเทศ 450 บาท เปิดบริการทุกวัน เวลา 10.00-17.00 น. เสาร์-อาทิตย์ เปิดถึง 19.00 น. โทร. 0 2533 1152, 0 2533 1152, 0 2533 1447, 0 2533 1447 โทรสาร 0 2533 1899, 0 2533 1899 เว็บไซต์http://www.dreamworld-th.com , E-mail :
info@dreamworld-th.com อนุสรณ์สถานแห่งชาติ
อำเภอคลองหลวง จ.ปทุมธานี ตั้งอยู่ที่ตำบลคูคต บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตบรรจบกับถนนพหลโยธิน มีเนื้อที่ประมาณ 38 ไร่ ในความดูแลของกรมยุทธศึกษาทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด เป็นทั้งอนุสรณ์สถานเทิดทูนวีรกรรมบรรพบุรุษไทย ที่ได้ใช้สติปัญญา ความสามารถตลอดจนเลือดเนื้อและชีวิต เข้าปกป้องผืนพสุธามาตุภูมิแห่งนี้ไว้ และเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ชาติไทยตลอดจนเหตุการณ์รบครั้งสำคัญของไทย และสงครามที่กองทัพไทยได้ไปปฏิบัติการรบในต่างประเทศ อาทิ สงครามเวียดนาม สงครามเกาหลี โดยใช้หุ่นจำลองเหตุการณ์ และภาพถ่าย มีห้องจัดแสดงวิวัฒนาการเครื่องแบบ เครื่องหมายยศของทหารทุกยุคสมัย ดินจากสมรภูมิรบที่สำคัญ ด้านหน้าอาคารประดิษฐานพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 แกะสลักด้วยหินอ่อนขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง และที่น่าสนใจมากคืออาคารภาพปริทัศน์ แสดงภาพจิตรกรรมอันงดงามบนผนังโค้งวงกลม เรื่องราวจากสมัยสุโขทัยถึงปัจจุบันประกอบเสียงคำบรรยาย รวมความยาวโดยรอบถึง 90 เมตร ด้านนอกจัดแสดงวัตถุยุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่ที่ปลดประจำการ เปิดให้เข้าชมวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 09.00-12.00 น.และ 13.00-15.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หมู่คณะต้องการผู้บรรยายควรติดต่อล่วงหน้า สามารถใช้บริการรถประจำทางสาย 29, 34, 39, 59, 95, ปอ. 503, ปอ. 504, ปอ. 510, ปอ. 513, ปอ. 524, ปอ. 529 และ ปอ. 539 สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2532 1020-1
พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ
อำเภอคลองหลวง จ.ปทุมธานีตั้งอยู่ที่ตำบลคลองหนึ่ง ถนนพหลโยธิน กม. 46-48 ตรงข้ามนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ประกอบด้วย กลุ่มอาคารพิพิธภัณฑ์ 9 อาคาร มีทางเดินเชื่อมต่อกัน จัดแสดงเรื่องราวทางการเกษตรผ่านเทคโนโลยีทันสมัย และหุ่นจำลอง ครอบคลุมเนื้อหางานการเกษตรทุกด้าน ได้แก่ การพัฒนาที่ดิน ป่าไม้ ประมง ปศุสัตว์ ระบบนิเวศ ส่วนด้านนอกมีเรือนเพาะปลูก แปลงนาสาธิต และจำลองสภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรทุกภูมิภาคของไทย นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์ฝึกอบรม ศูนย์ประชุมสัมมนาด้านวิชาการเกษตร และยังเป็นแหล่งการศึกษาทางด้านโครงการพระราชดำริ เปิดวันอังคาร-วันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ปิดวันจันทร์ เวลา 09.3015.30 น. ไม่เก็บค่าเข้าชม สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2529 2211-4
http://www.nsm.or.th/rms/index.htmlพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก
อำเภอคลองหลวง จ.ปทุมธานีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงครองราชครบ 50 ปี ในปี พ.ศ.2539 เป็นพิพิธภัณฑ์ทางด้าน ชาติพันธุ์วิทยา ตั้งอยู่ ณ ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี บนเนื้อที่ 305 ไร่ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสที่สำคัญยิ่งของพสกนิกรชาวไทย กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง จึงได้อัญเชิญนามพระราชพิธีมาเป็นชื่อหน่วยงานนี้ว่า "พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก"โครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติด้านชาติพันธุ์วิทยานั้น กำเนิดมาจากนโยบายของกรมศิลปากรที่ตระหนักถึงแนวทาง การพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ที่มุ่งเน้นทางด้านการกระจายความเจริญ จากเมืองไปสู่ชานเมือง นับเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเฉพาะสาขาในส่วนกลาง ลำดับที่ 3 นอกจากนี้ทางกรมศิลปากรได้จัดให้พิพิธภัณฑสถานเฉพาะด้านสาขาอื่นๆ ผนวกกับการสร้างอาคารของหน่วยงานอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรม ที่โยกย้ายออกจากกรุงเทพฯ มารวมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อเตรียมจัดให้เป็นพื้นที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ ร.9 แหล่งเรียนรู้สหสาขาวิชาที่ครอบคลุมความรู้ เรื่องที่เกี่ยวกับคนไทยทั้งศิลปวัฒนธรรมชาติพันธุ์วิทยา และธรรมชาติวิทยา เพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์การเรียนรู้แก่ผู้ที่มาเยี่ยมเยียน เป็นบทนำการเดินทางท่องเที่ยว และศึกษาในภูมิภาคต่างๆของประเทศ ภายในพื้นที่โครงการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษกจึงมีพิพิธภัณฑ์และหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ อยู่ร่วมกันหลายหน่วยงาน อาทิ หอจดหมายแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 หออัครศิลปิน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยา เป็นต้น ถึงแม้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก็ตาม แต่สามารถให้ความรู้แก่นักเรียน หรือผู้ที่สนใจได้ ในรูปแบบของนิทรรศการสัญจรตามสถานศึกษา และศูนย์กลางชุมชน พร้อมสื่อการเรียนรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะวัตถุ โบราณวัตถุจำลอง ภาพสไลด์ เป็นต้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้บรรยาย และในปี พ.ศ.2548 นี้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกาญจนาภิเษก เปิดให้บริการในส่วนของศูนย์ข้อมูลโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ซึ่งจะมีการจัดแสดงโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุประเภทเครื่องปั้นดินเผา ผ้า อาวุธ เครื่องใช้ในการเกษตร เป็นต้น จำนวนมากกว่า 10,000 รายการ ในรูปแบบของคลังเปิด เปิดให้เข้าชมวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-16.00 น. (เข้าชมเป็นหมู่คณะติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม)
ตลาดน้ำคลองสาม
อำเภอคลองหลวง จ.ปทุมธานี
จากตำนานการอพยพของชาวรามัญเข้ามาสู่เมืองสามโคก หรือจังหวัดปทุมธานีในปัจจุบัน เส้นทางสำคัญในการค้าขายของบรรพบุรุษได้บอกเล่าวิถีชีวิต ที่อิงแอบกับสายน้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่สมัยโบราณ ด้วยการดำเนินชีวิตที่เปี่ยมด้วยมนต์เสน่ห์ของวิถีชาวชุมชนสองฝากฝั่ง อันเต็มไปด้วยเรื่องราวของความเจริญรุ่งเรือง ทางประวัติศาสตร์ อารยธรรมและความสำคัญทางด้านการสถาปนาของพระเจ้าแผ่นดินหลากหลายพระองค์ อำเภอคลองหลวง ถือเป็นหนึ่งในต้นกำเนิดตำนานทางประวัติศาสตร์ ที่แฝงด้วยเรื่องราวให้น่าค้นหาอีกมากมาย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วิถีความเป็นอยู่ของชาวคลองสาม ที่ผูกพันธ์อยู่กับสายน้ำได้สร้างวัฒนธรรมชุมชนที่งดงามท่ามกลางการดำรงชีวิต ที่ผูกพันธ์อยู่กับธรรมชาติมาตั้งแต่สมัยโบราณ และในวันนี้จะเป็นวันที่ชาวคลองสามได้นำความภาคภูมิใจในอดีต มาบอกเล่าด้วยเรื่องราวใหม่ ที่ทำให้คนทั้งประเทศได้ร่วมเป็นหนึ่งกับความภาคภูมิใจนี้ก็คือการกำเนิดขึ้นของตลาด
น้ำคลองสาม ตลาดน้ำคลองสามนับเป็นแหล่งท่องเที่ยวล่าสุด ที่ได้รับความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่ให้การสนับสนุน ในการก่อตั้งชุมชนตลาดน้ำแห่งนี้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะมีการบอกเล่าเรื่องราวแห่งการดำเนินชีวิตอันงดงาม ในสมัยโบราณแล้ว ยังเป็นการรักษาวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม ท่ามกลางวิถีสมัยใหม่อย่างแท้จริงด้วยความยาวกว่า 20 กิโลเมตร ตลอดลำน้ำแห่งนี้ เราจะได้สัมผัสกับเรือลำเล็กลำน้อยมากกว่า 100 ลำ ซึ่งจะนำสินค้ามาขายให้แก่ผู้ที่เดินทางผ่านไปมาได้จับจ่ายใช้สอยกันทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น สินค้าเกษตรกรรม สินค้าหัตถกรรมพื้นเมืองจากปทุมธานี สินค้าประเภทอาหารหลากหลายชนิดทั้งคาว-หวาน หรือสินค้าประเภทของชำร่วยของที่ระลึกก็มีให้เลือกซื้อหากันอย่างเต็มที่ ไม่เพียงแต่จะเป็นตลาดน้ำแห่งใหม่ที่ดึงดูดใจด้วยเสน่ห์ที่แปลกตา ตลาดน้ำคลองสามยังได้รับความร่วมมือกันเป็นอย่างดี ให้มีความใสสะอาดด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมกับอดีตอย่างสมบูรณ์แบบ พร้อมกันนี้ยังปรับปรุงเส้นทางการคมนาคม ที่เชื่อมโยงทางบกและทางน้ำให้ติดต่อถึงกัน ทำให้การเดินทางไปท่องเที่ยวมีความสะดวกสบาย และได้สุนทรียรสจากความเป็น"ตลาดน้ำ"อีกแห่งของเมืองไทยอย่างแท้จริง
ศูนย์บริการการกีฬา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อำเภอคลองหลวง จ.ปทุมธานี
ศูนย์บริการการกีฬา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีจุดกำเนิดมาจากการก่อสร้างสนามกีฬา เพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งมีการก่อสร้างอาคารขึ้นมาเพื่อรองรับเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นอาคารที่พักนักกีฬา จำนวน 5,000 ยูนิต สนามกีฬา อาคารสระว่ายน้ำ อาคารยิมเนเซียม ทั้งหมด 7 อาคาร ซึ่งปัจจุบันได้ทำการปรับปรุง เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย อาทิเช่น อาคารยิมเนเซียม 3 ได้ปรับปรุงให้เป็นสถานที่ตั้งของศูนย์บริการการกีฬา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น ศูนย์บริการการกีฬา เป็นหน่วยงานที่แยกส่วนของการกีฬาออกจากสำนักงานจัดการทรัพย์สิน เนื่องจากมีสภาพในการทำงานที่แตกต่างกัน ซึ่งในส่วนของศูนย์บริการการกีฬานั้น มีพันธกิจหลัก คือการจัดให้มีกิจกรรมด้านการกีฬาและการออกกำลังกายอย่างหลากหลายและทั่วถึง รวมทั้งเปิดโอกาสให้บุคคลากร นักศึกษา คณาจารย์ และประชาชนทั่วไปสามารถใช้สนามกีฬาได้อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งให้ความร่วมมือกับการกีฬาของประเทศในทุกๆด้าน ศูนย์บริการการกีฬา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วยสนามกีฬาหลัก ศูนย์กีฬาทางน้ำ สนามเทนนิส อาคารยิมเนเซียม 3 หลัง รวมพื้นที่ประมาณ 400 ไร่ ภายในศูนย์กีฬาแห่งนี้ต้องการให้บริการทางด้านกีฬาที่ครบถ้วนมากที่สุด ในเรื่องของกีฬาและสุขภาพ เปิดให้บริการกับประชาชนทั่วไป
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ
อำเภอคลองหลวง จ.ปทุมธานี ในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี พ.ศ.2539 กรมศิลปากรได้ทำการจัดตั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ขึ้น เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย เป็นสิ่งอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติ ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 720.4 ล้านบาท ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า "หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ตั้งอยู่บนพื้นที่ 75 ไร่ อาคารก่อสร้างเป็นแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ สมัยรัชกาลที่ 9 ตั้งอยู่ ณ ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี มีลักษณะเป็นกลุ่มอาคาร 4 ส่วน มีทางเชื่อมและลานเอนกประสงค์รวมพื้นที่ 20,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย อาคารส่วนที่ 1 อาคารเก็บเอกสารจดหมายเหตุ เป็นอาคาร 9 ชั้น มีพื้นที่ 6,000 ตารางเมตร อาคารส่วนที่ 2 อาคารให้บริการค้นคว้า มีพื้นที่ 4,500 ตารางเมตร อาคารส่วนที่ 3-4 อาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวร เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจและโครงการในพระราชดำริมีพื้นที่ 3,000 ตารางเมตร ลานเอนกประสงค์ เป็นส่วนจัดกิจกรรม มีพื้นที่ 3,500 ตารางเมตร อาคารทั้ง 4 อาคารในหอจดหมายเหตุแห่งชาติแห่งนี้ ทางกรมศิลปากรต้องการให้เป็นหอสมุดจดหมายเหตุแห่งชาติที่สมบูรณ์ที่สุด ในการเก็บรวบรวมเอกสารสำคัญของชาติ เกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเด
ช และพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ค้นคว้า วิจัยให้แก่หน่วยงานราชการ เอกชน นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไป อำนวยประโยชน์ในการรวบรวมจัดเก็บจัดแสดง ให้บริการสืบค้นและอนุรักษ์เอกสารที่เกี่ยวเนื่อง ในพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ อาทิ พระราชหัตถเลขา พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส พระราชนิพนธ์ ภาพเขียนฝีพระหัตถ์ พระบรมฉายาลักษณ์ แถบบันทึกพระสุรเสียง ฯลฯ ตลอดจนเอกสารการดำเนินงาน ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการเฉลิมพระเกียรติต่างๆ หอจดหมายเหตุแห่งชาติแห่งนี้ จึงเป็นสถานที่ให้ความรู้ และให้เยาวชนรุ่นหลังได้ซาบซึ้งถึงพระปรีชาสามารถ ในการปกครองแผ่นดิน รวมไปถึงความจงรักภักดีของพสกนิกรชาวไทย ที่มีต่อพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-16.30 น. การค้นภาพ, จดหมายเหตุ, เข้าชมเป็นหมู่คณะควรติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม โทร. 0 2902 7940, 0 2902 7940 ต่อ 111, 113