AE. Racing Club
19 พฤศจิกายน 2024 22:15:47 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [«5]  «  1 ... 6 7 [8]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ประวัติศาสตร์ 77 จังหวัดของไทย  (อ่าน 40023 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #140 เมื่อ: 10 พฤศจิกายน 2010 09:04:39 »

สงขลา
สงขลา มาจากคำว่า สิงขร แปลว่า ภูเขา ตามสภาพที่ตั้งเมืองซึ่งปรากฏ ป้อมกำแพง และคูเมือง บนภูเขา ค่ายม่วง  และทางตอนล่างบริเวณบ้านบนเมือง ตำบลหัวเขา ที่ได้ชื่อว่าเมืองสงขลานั้นมาจากคำว่า สิงขร+นคริน เดิมเป็นภาษาบาลี (มคธ) เมื่อเรียกชื่ออย่างไทยแล้ว เมืองสิงขร (สิงขะระ) เรียกควบเป็นสงขลา ชาวปอร์ตุเกสที่มาค้าขายสมัยอยุธยา เรียกว่า สิง-กอ-ลา (SINGOLA)
เมืองสงขลา  ปรากฏชื่อครั้งแรกในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา  เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ขึ้นเสวยราชย์ กรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๑๘๙๓ ว่าเป็นเมืองประเทศราชในจำนวน ๑๖ เมือง ที่ตั้งตัวเมืองในสมัยนี้ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลหัวเขา อำเภอเมืองสงขลา (บริเวณเขาค่ายม่วง)
เมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๓ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงค์ กับพวกทำการแย่งราชสมบัติ ปลดพระ
อาทิตวงศ์ จากราชบัลลังก์  แล้วปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่าพระเจ้าปราสาททอง เป็นเหตุให้หัวเมืองต่าง ๆ แข็งเมือง เมืองสงขลาก็แข็งเมืองด้วย กรุงศรีอยุธยายกทัพมาปราบหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ จนถึง พ.ศ. ๒๒๒๓ สมเด็จพระนารายณ์ ส่งกองทัพมาปราบเมืองสงขลาได้ และยอมขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาตลอดมา
เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าจึงเกิดก๊กต่าง ๆ ขึ้นสงขลารวมอยู่ในก๊กเจ้านคร เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบก๊กเจ้านครได้  เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๓ เจ้านครและเจ้าเมืองสงขลา หนีไปยังเมืองปัตตานี พระเจ้าตากสินเสด็จเมืองสงขลา ประทับอยู่ ๑ เดือนแล้ว  ทรงแต่งตั้งให้ชาวเมืองสงขลาคนหนึ่งชื่อโยม  เป็นพระสงขลา  ต่อมามีพระราชดำริ พระสงขลา(โยม)  หย่อนสมรรถภาพ    จึงโปรดเกล้าฯ ให้หลวงอินทคีรีสมบัติ  (เหยี่ยง แซ่เฮา) นายอากร  รังนกเกาะสี่ เกาะห้า เป็นพระสงขลา เจ้าเมืองสงขลา (นายเหยี่ยง แซ่เฮา  เป็นต้นสกุล ณ สงขลา) ส่วนพระสงขลา (โยม) ให้เข้ารับราชการในกรุงธนบุรี
   ครั้น  พ.ศ. ๒๓๗๔  ตนกูเดน   ซึ่งเป็นกบฎต่อไทยและหนีไปเกาะหมาก   (ปีนัง)   กับเจ้าพระยาไทรปะแงรัน ผู้เป็นบิดาได้คบคิดกับพวกเมืองไทรบุรี เมืองปัตตานี ยะหริ่ง ยะลา ให้เป็นกบฎยกทัพมาตีเมืองสงขลา   แต่เจ้าพระยาพระคลัง  (ดิส บุนนาค)    ยกทัพมาปราบพวกกบฎไม่คิดต่อสู้  ทัพตามลงไปจนถึงเมืองเประ     การปราบจึงสำเร็จ   พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองสงขลามาตั้งฝั่งตะวันออก คือ ตั้งเมืองในเขตเทศบาลปัจจุบันเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๗
   ใน พ.ศ. ๒๓๘๔  โปรดเกล้าฯ  ให้จัดแจงฝังหลักเมืองสงขลา    พระราชทานเทียนชัย
หลักชัยพฤกษ์ กับเครื่องไทยทาน  ออกมาให้พระยาสงขลาฝังหลักเมือง  พระยาสงขลาจัดทำโรงพิธีกลาง    และโรงพิธีสี่มุมเมืองกับโรงพิธีพราหมณ์ ในเดือน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีขาล จัตวาศก ๑๒๐๔ เวลาเช้าโมง ๒ บาท  (วันศุกร์ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ ปีขาล พ.ศ. ๒๓๘๕ เวลา ๐๗.๑๐ นาฬิกา ) ปัจจุบันศาลเจ้าหลักเมืองอยู่ที่ถนนนางงาม
ใน  พ.ศ. ๒๔๐๑   พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เสด็จเมืองสงขลา  ถึงสงขลาเมื่อเดือน ๙ แรม ๗ ค่ำ เวลาบ่าย ๕ โมงเศษเรือพระที่นั่งกำปั่นกลไฟมณีเมขลา มาจอดที่เกาะหนู  โปรดให้พระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์) ผู้สำเร็จราชการเมืองเข้าเฝ้าและพระองค์ประทับที่พระราชวังแหลมทราย ปรึกษาข้อราชการและประพาสเมืองสงขลา ๙ ทิวา กับ ๘ ราตรี ก็เสด็จกลับกรุงเทพฯ
ใน .ศ. ๒๔๑๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสอินเดียเมื่อเสด็จกลับผ่านทางไทรบุรี เสด็จพระราชดำเนินโดยสกลมาร์ค ตามเส้นทางถนนตัดใหม่ แล้วเสด็จประทับเรือพระที่นั่งสู่กรุงเทพมหานครฯ
ใน พ.ศ. ๒๔๓๑ พระยาวิเชียรคีรี (ชุ่ม) ได้ถึงแก่อนิจกรรม เมืองสงขลาว่างผู้สำเร็จราชการเมืองอยู่ ๖ วัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จประพาสเมืองสงขลาโปรดเกล้าให้หลวงวิเศษภักดี (ชม) เป็นพระยาสุนทรานุรักษ์ เป็นผู้รักษาราชการเมืองสงขลาและโปรดเกล้าให้พระยาสุนทรา    นุรักษ์เป็นพระยาวิเชียรคีรีผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราโชวาทเพื่อปรับปรุงการปกครองได้ปฏิรูปการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาลเมืองสงขลา จึงเป็นที่ตั้งของมณฑลนครศรีธรรมราช
ต่อมา พ.ศ. ๒๔๙๕ เมื่อพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ประกาศใช้เมืองสงขลาจึงเป็นที่ตั้งภาค ฯ ภายหลังเมื่อยุบเลิกการปกครองแบบภาคแล้วก็ตาม จังหวัดสงขลาก็เป็นที่ตั้งของเขตและภาคอยู่ ปัจจุบันมีส่วนราชการส่วนกลาง ๑๔๐ ส่วน ส่วนภูมิภาค ๓๒ ส่วน ส่วนท้องถิ่น ๑๗ ส่วน และรัฐวิสาหกิจ ๒๘ ส่วน

ที่มา : พิธีเปิดอาคารสำนักงานเทศบาลเมืองสงขลา.เทมการพิมพ์, ๒๕๒๘
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #141 เมื่อ: 10 พฤศจิกายน 2010 09:04:58 »

นราธิวาส
  ประวัติเมืองนราธิวาส เดิมมีฐานะเป็นเพียงอำเภอหนึ่ง เรียกว่า อำเภอบางนรา ขึ้นอยู่กับเมืองสายบุรี ต่อมาได้โอนไปขึ้นกับเมืองระแงะ ดังนั้นการที่จะทราบถึงประวัติความเป็นมาของเมือง
นราธิวาส จะต้องกล่าวถึงเรื่องราวของเมืองปัตตานี เมืองสายบุรีและเมืองระแงะ ซึ่งเป็นบริเวณหัวเมือง เป็นลำดับติดต่อกันไป
                  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีรับสั่งให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ยกกองทัพหลวงลงมาปักษ์ใต้ เพื่อปราบปรามข้าศึกที่ยกเข้ามารุกรานพระราชอาณาเขตทางใต้ เมื่อข้าศึกแตกพ่ายหนีไปหมดแล้วจึงได้เสด็จไปประทับ ณ เมืองสงขลา แล้วได้มีรับสั่งออกไปถึงหัวเมืองมลายูทั้งหลาย ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นกับกรุงศรีอยุธยามาแต่ก่อนให้มาอ่อนน้อมเหมือนดังเดิม
                  พระยาไทรบุรี พระยาตรังกานู ยอมอ่อนน้อมโดยดี แต่พระยาปัตตานีตั้งแข็งเมืองไม่ยอมอ่อนน้อม จึงได้รับสั่งให้ยกกองทัพลงไปตีเมืองปัตตานี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๒
                  เมื่อได้เมืองปัตตานีแล้ว ก็โปรดเกล้าพระราชทานตราตั้งให้พระยาสงขลา (บุญฮุย) เป็นพระยาปัตตานี และให้อยู่ในความกำกับดูแลของเมืองสงขลาต่อไป และตั้งให้เป็นเมืองตรี ขึ้นอยู่กับกรุงรัตนโกสินทร์โดยตรง ในระหว่างที่พระยาปัตตานี (ขวัญซ้าย) ว่าราชการเมืองปัตตานีอยู่นั้น บ้านเมืองสงบเรียบร้อยเป็นปกติสุขตลอดมา
                  ครั้นต่อมาเมื่อพระยาปัตตานี  (ขวัญซ้าย) ถึงแก่กรรมลง โปรดเกล้าฯ ให้นายพ่าย    น้องชายของพระยาปัตตานี (ขวัญซ้าย) ขึ้นว่าราชการเป็นพระยาปัตตานีและแต่งตั้งให้นายยิ้มซ้าย บุตร
พระยาปัตตานี (ขวัญซ้าย)  เป็นหลวงสวัสดิภักดี ผู้ช่วยราชการเมืองปัตตานี และได้ย้ายที่ว่าการเมืองปัตตานีจากบ้านมะนา (อ่าวนาเกลือ) ไปตั้งที่บ้านยามู
                  ในระหว่างนั้นพวกซาเห็ดรัตนาวงศ์ฯ และพวกโมเซฟได้เริ่มก่อกวนความสงบสุขของบ้านเมือง โดยคบคิดกันเข้าปล้นบ้านพระยาปัตตานี (พ่าย) และบ้านหลวงสวัสดิภักดี (ยิ้มซ้าย) ผู้ช่วยราชการเมืองปัตตานี แต่ก็ได้ถูกตีถอยหนีไปหลบซ่อนตัวอยู่ที่ตำบลบ้านกะลาพอ เขตเมืองสายบุรี
                  นอกจากนั้นเมืองปัตตานีมีอาณาเขตกว้างขวาง      และมีโจรผู้ร้ายปล้นบ้านเรือนราษฎร
ชุกชุมยิ่งขึ้น จนเหลือกำลังที่พระยาปัตตานี (พ่าย) จะปราบให้สงบราบคาบลงได้ก็แจ้งข้อราชการไปยังเมืองสงขลา พระยาสงขลา (เถี้อนจ๋อง) ออกมาปราบปรามและจัดวางนโยบายแบ่งแยก เมืองปัตตานีออกเป็น ๗ หัวเมือง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๕ แล้วทูลเกล้าถวายรายชื่อเมืองที่แยกออกไปดังนี้ คือ เมืองปัตตานี เมืองหนองจิก และเมืองยะลา เมืองรามัน เมืองระแงะ เมืองสายบุรี และเมืองยะหริ่ง
                  ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาอภัยสงคราม กับพระยาสงขลา (เถี้อนจ๋อง) เป็นผู้เชิญตราตั้งออกไปพระราชทานแก่เจ้าเมืองทั้ง ๗ หัวเมือง ตามรายชื่อที่จัดไว้ ดังนี้
                  ๑. ตั้งให้ตวนสุหลง     เป็น  พระยาปัตตานี
   ๒. ตั้งให้ตวนหนิ      เป็น  พระยาหนองจิก
   ๓. ตั้งให้ตวนยะลอ   เป็น  พระยายะลา
   ๔. ตั้งให้ตวนหม่าโล่   เป็น  พระยารามัน
   ๕. ตั้งให้หนิเดะ      เป็น   พระยาระแงะ
   ๖. ตั้งให้หนิดะ      เป็น   พระยาสายบุรี
   ๗. ตั้งให้นายพ่าย      เป็น  พระยายะหริ่ง
   ระเบียบแบบแผนและวิธีปฏิบัติราชการในสมัยนั้น สำหนับเมืองยะหริ่ง เมืองยะลา และเมืองหนองจิก ให้ใช้ตามแบบเมืองสงขลาทั้งสิ้น ส่วนเมืองปัตตานี เมืองสายบุรี เมืองระแงะ และเมือง รามัน ให้พระยาสงขลา (เถี้ยนเส็ง) แต่งตั้งกรรมการออกไประวังตรวจตราและแนะนำข้อราชการอยู่เป็นประจำ บ้านเมืองจึงสงบเรียบร้อยตลอดมา
                  เมื่อแบ่งแยกหัวเมืองปัตตานีออกเป็น ๗ หัวเมือง ในครั้งนั้นพระยาระแงะ (หนิเดะ)    ตั้ง
บ้านเรือนว่าราชการอยู่ที่ตำบลบ้านระแงะ ริมพรมแดนติดต่อกับเขตเมืองกลันตัน ซึ่งเป็นต้นทางที่จะไปยังโต๊ะโมะ เหมืองทองคำ ส่วนพระยาสายบุรี (หนิดะ) ตั้งบ้านเรือนว่าราชการอยู่ที่ตำบลบ้านยี่งอ (อำเภอยี่งอปัจจุบัน)  บ้านเมืองเป็นปกติสุขเรียบร้อยอยู่หลายปี
                  ต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาปัตตานี (ตวนสุหลง) 
พระยาหนองจิก (ตวนกะจิ) พระยายะลา (ตวนบางกอก) พระยาระแงะ (หนิเดะ) เจ้าเมืองทั้ง ๔ ได้    สมคบร่วมคิดกันเป็นกบฏขึ้นในแผ่นดิน โดยรวบรวมกำลังพลออกตีบ้านพระยายะหริ่ง (พ่าย) แล้วเลยออกไปตีเมืองเทพฯ  และเมืองจะนะ พระยาสงขลา (เถื้ยนเส้ง) ทราบข่าว ก็มีใบบอกเข้าไปยังกรุงเทพฯ สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดเกล้าให้พระยาเพชรบุรี เป็นแม่ทัพบก ออกมาสมทบช่วยกำลังเมืองสงขลาออกทำการปราบปรามตั้งแต่เมืองจะนะ เมืองเทพฯ ตลอดถึงเมืองระแงะ ตัวพระยาระแงะ (หนิเดะ) ซึ่งเป็นสมัครพรรคพวกร่วมคิดกันเป็นกบฏกับพระยาปัตตานีนั้นหนีรอดตามจับไม่ได้
                  พระยาเพชรบุรีและพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) พิจารณาเห็นว่าในระหว่างที่ทำการรบอยู่
นั้น หนิบอสู ชาวบ้านบางปูซึ่งพระยายะหริ่งแต่งตั้งให้เป็นกรมการเมืองยะหริ่ง ได้เป็นกำลังสำคัญ และได้ทำการสู้รบด้วยความกล้าหาญยิ่ง ด้วยคุณงามความดี อันนี้ จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็น ผู้รักษาราชการเมืองระแงะสืบต่อจากพระยาระแงะ (หนิเดะ) ที่หนีไป และได้ย้ายที่ว่าราชการ เมืองระแงะจากบ้านระแงะริมพรมแดนติดต่อกับเขตเมืองกลันตันมาตั้งที่ว่าราชการเสียใหม่ ณ ตำบลตันหยงมัส (อำเภอระแงะปัจจุบัน) 
                  ต่อมาเมื่อพระยาระแงะ (หนิบอสู) ถึงแก่กรรมลง โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ตวนโหนะ บุตรพระยาระแงะ (หนิบอสู) ว่าราชการเมืองระแงะแทน มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาคีรีรัตนพิศาล ตั้งบ้านเรือนว่าราชการเมืองอยู่ที่บ้านพระยาระแงะ (หนิบอสู) บิดา
   เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ ถึงกำหนดเวลาที่บริเวณ ๗ หัวเมืองจะต้องนำต้นไม้เงินต้นไม้ทอง และเครื่องราชบรรณาการเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าแผ่นดิน ณ กรุงรัตนโกสินทร์ แล้วเจ้าเมืองทั้ง ๗ ได้เข้าเฝ้าถวายความจงรักภักดีด้วยความพร้อมเพรียงกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรปูนบำเหน็จความดีความชอบให้ และได้ใช้สืบต่อกันมาจนกระทั่งยุบเลือกการปกครองบริเวณ ๗ หัวเมือง ดังนี้



   ๑. เจ้าเมืองปัตตานี “พระยาวิชิตภักดี ศรีสุรวังษา  รัตนาเขตประเทศราช”
    ๒. เจ้าเมืองหนองจิก “พระยาเพชรภิบาลนฤเบศร์” วาปีเขตร์มุจลินทร์นฤบดินทร์สวา-    มิภักดิ์                                      
       ๓. เจ้าเมืองยะลา “พระยาณรงค์ฤทธิ์ ศรีประเทศวิเศษวังษา”
   ๔. เจ้าเมืองสายบุรี “พระยาสุริยสุนทรบวรภักดี ศรีมหารายา” มัตตาอับดุล วิบูลย์ขอบเขตร์ ประเทศมลายู”
   ๕. เจ้าเมืองรามัน “พระยารัตนภักดี ศรีราชบดินทร์ สุรินทรวิวังษา”
   ๖. เจ้าเมืองยะหริ่ง “พระยาพิพิธเสนามาตรดาธิบดี ศรีสุรสงคราม”
   ๗. เจ้าเมืองระแงะ “พระยาภูผาภักดี ศรีสุวรรณประเทศ วิเศษวังษา”
   ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศกฎข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณ ๗ หัวเมือง เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ ทรงให้ยกเลิกการปกครองแบบเก่าเสียเพราะการแบ่งเขตแขวงการปกครองและตำแหน่งหน้าที่ราชการในหัวเมืองทั้ง ๗ ยังก้าวก่ายกันอยู่หลายอย่าง หลายประการ จึงได้วางระเบียบแบบแผนการปกครองและตำแหน่งหน้าที่ราชการให้เป็นระเบียบตามสมควรแก่การสมัย โดยให้หัวเมืองทั้ง ๗ คงเป็นเมืองอยู่ตามเดิม และให้พระยาเมืองเป็นผู้รักษาราชการต่างพระเนตรพระกรรณ มีกองบัญชาการเมืองให้พระยาเมืองเป็นหัวหน้าปลัดเมือง ยกกระบัดเมือง และผู้ช่วยราชการเมือง รวม ๔ ตำแหน่ง รองตามลำดับ นอกนั้นให้มีกรมการชั้นรองเสมียนพนักงานตามสมควร เพื่อให้ราชการบ้านเมืองเป็นไปโดยสะดวกดีและอาณาประชาราษฎร์มีความอยู่เย็นเป็นสุข โดยมิให้กระทบกระเทือนต่อขนบธรรมเนียมประเพณี และสิ่งที่งามทั้งหลายในหัวเมืองเหล่านั้นแต่ประการใด
       สำหรับการตรวจตราแนะนำข้อราชการเมืองทั้งปวง ให้เป็นหน้าที่ของข้าหลวงใหญ่ ประจำบริเวณ ๗ หัวเมือง คนหนึ่งมีหน้าที่ออกแนะนำข้อราชการเพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับของท้องตรากรุงเทพฯ และสอดคล้องกับคำสั่งของข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชอีกด้วย
   พระยาเมืองที่รับราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยดี ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระ-
ราชทานผลประโยชน์ให้พอเลี้ยงชีพและรักษาบรรดาศักดิ์ตามสมควรแก่ตำแหน่ง และพระราชทานผลประโยชน์ที่เก็บได้เพื่อหักค่าใช้จ่ายไว้เป็นเงินสำหรับบำรุงบ้านเมืองเป็นปีๆ ไป แล้วอีกส่วนหนึ่งด้วย ถ้าต้องออกจากราชการในหน้าที่ด้วยเหตุผลทุพพลภาพ ด้วยเหตุประการหนึ่งประการใดก็ดี จะได้รับพระราชทานเบี้ยเลี้ยงบำนาญอีกต่อไป
   เรื่องการศาล จัดให้มีศาลเป็น ๓ ชั้น คือ ศาลบริเวณ ศาลเมือง ศาลแขวง มีผู้พิพากษาสำหรับศาลเหล่านั้นพิจารณาคดีตามพระราชกำหนดกฎหมาย เว้นแต่คดีแพ่งที่เกี่ยวกับครอบครัวและมรดก ซึ่งอิสลามิกชนเป็นโจทก์และจำเลย หรือเป็นจำเลยให้ใช้กฎหมายอิสลามแทนบทบัญญัติกฎหมายแพ่งพาณิชย์ เว้นแต่บทบัญญัติว่าด้วยอายุความมรดกยังคงต้องใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บังคับ



   การใช้กฎหมายอิสลามในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีดังกล่าวตามข้อบังคับสำหรับการปกครองบริเวณ ๗ หัวเมือง ร.ศ. ๑๒๐ เรียกตุลาการตำแหน่งนี้ว่า “โต๊ะกาลี” ต่อมาจึงได้มีข้อกำหนดไว้ในศาลตรากระทรวงยุติธรรม ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๔๖๐ เรียกตำแหน่งนี้ว่า “ดาโต๊ะยุติ-ธรรม” เพื่อให้สอดคล้องกับตำแหน่ง “เสนายุติธรรม” ในมณฑลพายับ ดาโต๊ะยุติธรรมเป็นผู้รู้และเป็นที่นับถือของอิสลามิกชนเป็นผู้พิพากษาตามกฎหมายอิสลาม
   ต่อมาได้มีการประกาศพระบรมราชโองการ ให้จัดตั้งมณฑลปัตตานีเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๔๔๙   มีสาระสำคัญว่า  แต่ก่อนมาจนถึงเวลานี้บริเวณ  ๗ หัวเมือง มีข้าหลวงใหญ่
ปกครองขึ้นอยู่กับข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ทรงพระตำหนิเห็นว่าทุกวันนี้ การค้าขายในบริเวณ ๗ หัวเมือง เจริญขึ้นมากและการไปมาถึงกรุงเทพฯ ก็สะดวกกว่าแต่ก่อน ประกอบกับบริเวณ ๗ หัวเมืองมีท้องที่กว้างขวางและมีจำนวนผู้คนมากขึ้น สมควรจะแยกออกเป็นมณฑลหนึ่งต่างหาก ให้สะดวกแก่ราชการ และจะทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนได้ จึงแยกบริเวณ ๗ หัวเมืองออกมาจากมณฑลเทศาภิบาลอีกมณฑลหนึ่ง เรียกว่า “มณฑลปัตตานี ” ให้พระยาศักดิ์เสนีเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลปัตตานี
   ในมณฑลปัตตานีมีเมืองที่เข้ามารวม ๔ เมือง คือ เมืองปัตตานี (รวมเมืองหนองจิก ยะริ่ง และเมืองปัตตานี) เมืองยะลา (รวมเมืองรามันและเมืองยะลา) เมืองสายบุรีและเมืองระแงะ
   ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ได้ย้ายที่ว่าราชการเมืองระแงะจากตำบลบ้านตันหยงมัสมาตั้งที่บ้านมะนารอ (บางมะนาวปัจจุบัน) อำเภอบางนรา ส่วนท้องที่เมืองระแงะ  และยกฐานะอำเภอบางนราขึ้นเป็นเมืองบางนรา มีอำเภอในเขตปกครอง คือ อำเภอบางนรา อำเภอตันหยงมัส กิ่งอำเภอยะบะ อำเภอสุไหงปาดี กิ่งอำเภอโต๊ะโมะ
   ครั้นต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระพาสมณฑลปักษ์ใต้ เมื่อเสด็จมาถึงเมืองบางนราทรงพระราชทานพระแสงราชศัตราแก่เมืองบางนราและทรงดำริเห็นว่าบางนรานั้นเป็นชื่อตำบลบ้านและควรที่จะมีชื่อเมืองไว้เป็นหลักฐานสืบไป  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองบางนราเป็นเมืองนราธิวาส ตั้งแต่วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๘
   ในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ได้มีการปรับปรุงระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคครั้งใหญ่ให้ เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นจังหวัด ฉะนั้น เมืองนราธิวาส จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็นจังหวัดนราธิวาส ดังเช่นปัจจุบันนี้
   ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นว่าการที่แบ่งเขตเป็นมณฑลและจังหวัดไว้แต่เดิมนั้น เวลานี้การคมนาคมสะดวกขึ้นมาพอที่จะรวมการปกครอง บังคับบัญชาให้กว้างขวางยิ่งขึ้นแล้ว จึงเป็นการสมควรที่จะยุบมณฑลและจังหวัดเพื่อประหยัดรายจ่ายของแผ่นดิน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกมณฑล ๔ มณฑล จังหวัด ๙ จังหวัด เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๔  ในการประกาศยุบเลิกมณฑลครั้งนี้ มีมณฑลปัตตานีเป็นมณฑลหนึ่งด้วย และให้รวมจังหวัดต่างๆ ของมณฑลปัตตานีเข้าไว้ในปกครองของมณฑลนครศรีธรรมราช มีศาลารัฐมณฑลตั้งอยู่ที่จังหวัดสงขลา
   ส่วนจังหวัดที่ประกาศยุบเลิกมี สายบุรีจังหวัดหนึ่งด้วย โดยให้รวมท้องที่เป็นอำเภอเข้าไว้ในปกครองของจังหวัดปัตตานี เว้นท้องที่อำเภอบาเจาะ ให้ขึ้นอยู่ในความปกครองของจังหวัดนราธิวาส
   ครั้นต่อมา ท้องที่อำเภอของจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเจริญยิ่งขึ้น กระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศยกฐานะกิ่งอำเภอโต๊ะโมะเป็นอำเภอแว้ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑  ประกาศยกฐานะกิ่งอำเภอยะบะ เป็นอำเภอรือเสาะ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ประกาศยกฐานะตำบลสุไหงโก – ลก  ขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ และประกาศยกฐานะเป็นอำเภอ สุไหงโก-ลก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ ประกาศตั้งกิ่งอำเภอศรีสาคร โดยรวมเอาตำบลจากอำเภอรือเสาะ ๒ ตำบล คือ ตำบลสากอ และตำบลตะมะยูง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗  และยกฐานะเป็นอำเภอศรีสาคร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ ประกาศตั้งกิ่งอำเภอสุคีริน โดยแยกตำบลมาโมงจากอำเภอแว้ง แล้วตั้งตำบลมาโมง ตำบลสุคีริน และตำบลเกียร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ ประกาศตั้งกิ่งอำเภอจะแนะ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕







ที่มา : สำนักงานจังหวัดนราธิวาส
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #142 เมื่อ: 10 พฤศจิกายน 2010 09:05:17 »

ภูเก็ต
นายสุนัย  ราชภัณฑารักษ์  อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต  (พ.ศ. ๒๕๑๒ – ๒๕๑๘) ผู้ริเริ่มศึกษาค้นคว้ารวบรวมประวัติจังหวัดภูเก็ต  ได้ศึกษาวิเคราะห์ความเป็นมาของจังหวัดภูเก็ตไว้ในหนังสือเรื่อง ท้าวเทพกระษัตรี  สรุปความว่า   เกาะภูเก็ตเดิมจะต้องเป็นแหลมเชื่อมต่อกับแผ่นดินใหญ่ของประเทศ เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ดีบุก จะต้องมีผู้คนอาศัยในบริเวณนี้มาแต่สมัยโบราณ  โดยมีชื่อเมืองที่มีมาแต่เดิมและเพี้ยนมาเรียกชื่อว่า  เมืองถลาง ข้อสรุปดังกล่าวนี้พิจารณาได้จากหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่สำคัญ คือ
ปโตเลมี (Ptolemy) นักภูมิศาสตร์ชาวกรีก ซึ่งมีชีวิตอยู่ประมาณ พ.ศ. ๖๔๓ – พ.ศ. ๗๑๓   ได้ระบุไว้ในตำราภูมิศาสตร์ว่า การเดินทางจากสุวรรณภูมิลงมาทางใต้ไปยังแหลมมลายูนั้น  จะต้องผ่านแหลมจังซีลอน (Junk  Ceylon) 
ในหนังสือจีนเขียนโดย เจาซูกัว (Tchao  Jau  Kaua)   พิมพ์เมื่อ  พ.ศ. ๑๗๖๘   ได้ระบุชื่อเมืองสิลัน (Si -  Lan)  และว่าเมืองสิลันเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรศรีวิชัย
ในสัญญาทำการค้าขายระหว่างไทยกับฮอลันดา  ในสมัยกรุงศรีอยุธยา  เมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๗  ก็ปรากฏชื่อเมืองโอทจังซูลางห์   หรือ  โอทจังซาลัง  อยู่ในสัญญาด้วย ๑
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ได้ทรงนิพนธ์ไว้ว่า  เกาะถลางนั้นที่ทำไร่นาได้  มีแต่ทางเหนือ  จึงตั้งเมืองถลางอยู่แต่ข้างเหนือแต่เดิมมา  ตอนข้างใต้ไม่มีที่ทำไร่นา  แต่มีดีบุกมากมีแต่คนหาปลาอยู่ริมทะเลกับคนไปตั้งขุดหาแร่ดีบุกอยู่ชั่วคราว  แต่ดีบุกเป็นของต้องการใช้ราชการมาแต่โบราณ    จึงตั้งเมืองภูเก็ตเป็นเมืองขึ้นของเมืองถลางมาแต่สมัยศรีอยุธยา ๒
นอกจากนั้นในรายงานของกัปตัน  James Forrest  ซึ่งได้นำเรืออังกฤษชื่อ  โทมัส  ฟอร์เรส  (Thomas  Forrest)  ได้ทำรายงานตีพิมพ์ในกรุงลอนดอน  เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๕ ระบุว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๗  ได้เดินทางมาถึงเกาะ  Jan  Sylon  ซึ่งเรือจากอินเดียมายังหมู่เกาะมะริด  มาแวะพักที่เกาะจังซีลอน (Jan Sylon) ตั้งอยู่ห่างฝั่งตะวันออกของอ่าวเบงกอลและเกาะจังซีลอนแยกจากแผ่นดินใหญ่โดยช่องแคบอันเต็มไปด้วยทรายยาวประมาณครึ่งไมล์  ช่องแคบนี้จะถูกน้ำท่วมในเวลาน้ำขึ้น  (น้ำขึ้นสูงสุดประมาณ ๑๐ ฟุต)  และตอนเหนือสุดของช่องแคบก็เป็นท่าเรือที่ดีเยี่ยม เรียกว่า ปากพระ  (Popra)๓
จากหลักฐานที่เกี่ยวข้องข้างต้น  นายสุนัย  ราชภัณฑารักษ์  ได้วิเคราะห์ถ้อยคำต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไว้ดังนี้
คำว่า Junk ของปโตเลมี หรือ Jan ของกัปตันฟอร์เรส หรือ โอทจัง ในสัญญาที่ไทยทำกับฮอลันดานั้น มาจากคำว่า อุยัง หรือ อุยุง (Ujung)   ซึ่งแปลว่า “ปลายสุด”   หรือ แหลม ส่วนซีลอน (Ceylon) หรือ ซีลัง  (Sylan)  นั้นคงจะมาจากคำว่า “ลาแล”   ซึ่งแปลว่า  “หญ้าคา”  หรือคำว่า “สิแร” ซึ่งแปลว่า “พลู” ทั้งสองคำนี้เป็นภาษาพื้นเมืองเดิมของคนที่อยู่ในแถบนี้มาก่อน  ซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกกันว่า “ชาวน้ำ” หรือ “ชาวเล” (คือ ชาวทะเล) แล้วชาวมลายูก็รับเอาไปใช้อยู่ในปัจจุบัน ส่วนไทยนั้น ก็ได้เอามาใช้อยู่คำหนึ่ง คือ “สิแร” ซึ่งแปลว่า “พลู” แต่ได้เอามาออกเสียงเพี้ยนเป็น “สะรี” เช่นเดียวกับมลายู ซึ่งใช้คำว่า Sirih กับ สิรา
คำว่า “สิรี” นั้น    ภายหลังได้เขียนเป็น  “สรี” และ “ศรี” ไปเสียด้วย แล้วเลยเอาไปยกให้เป็นคำบาลีสันสกฤต  กลายเป็นของสูง  เป็นราชาศัพท์ว่า “พระศรี”  และความหมายก็แปรไป ไม่หมายถึงพลูโดยเฉพาะ แต่หมายเอาทั้งหมากและพลูรวมกัน เช่น พานใส่หมากใส่พลู ก็เรียก “พานพระศรี………”
คำ “ลาแล” กับ “สิแร” ทั้งสองนี้เป็นชื่อชาวพื้นเมืองเดิมใช้เรียกสถานที่บนเกาะนี้มาแต่ก่อน อุยังลาแลก็คือ  แหลมทางตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเราเปลี่ยนเรียกเป็นชื่อไทยว่า  “แหลมหญ้าคา”  หรือ “แหลมคม” แหลมคา แล้วจึงกลายเป็นแหลมกา ไปในปัจจุบัน นอกจากนั้น คำ “หญ้าคา” นี้ ยังเอาไปใช้เป็นชื่อตำบล เรียกกันว่า “ตำบลทุ่งคา” ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งเมืองภูเก็ต แล้วเลยเรียกอำเภอที่ตั้งเมืองภูเก็ตว่า อำเภอทุ่งคา ภายหลังจึงเปลี่ยนชื่ออำเภอทุ่งคา เป็น “อำเภอเมืองภูเก็ต”และได้แยกตำบลทุ่งคาออกเป็นหลายตำบล  ซึ่งทุ่งคาก็เลยหายสาบสูญไป ฝรั่งเรียกทุ่งคาว่า “ทองคา” หรือ “ตองคา” และยังใช้เป็นชื่อบริษัทเหมืองแร่ “ทุ่งคาฮาเบอร์” อยู่ ทั้งนี้เป็นการยืนยันว่าบนแหลม หรือบนเกาะนี้เดิมเป็นดงหญ้าคา จึงได้ชื่อว่า อุยังลาแล หรือ แหลมหญ้าคา มาแต่เดิม๔
ปัญหาการเรียกชื่อสถานที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิมที่เกี่ยวกับจังหวัดภูเก็ต สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายไว้  ดังนี้
   “……และยังถอดเป็นหนังสือฝรั่งเศสเสียอีกทีหนึ่งด้วย แล้วเราจะมาถอดกลับเป็นภาษาไทยอีก   จะถูกได้เป็นอันยาก  จะถวายตัวอย่าง เช่น  ตำบลทุ่งคา (เมืองถลาง) ฝรั่งเขียนตัวฝรั่งว่า  Tongka  ที่จริง ฝรั่งฟังผิดนิดเดียวคือ ทุง เป็น ท่ง แต่ไทยเราเอามาแปลกลับเป็นว่า “ตองแก” ผิดไปไกล…...”๕
   สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงสนับสนุนว่า  “……..นึกถึงคำฝรั่งที่เขียน Tongka  เรามาแปลเป็นไทยกันว่า “ตองแก” และคำว่า   “แพรกบ้านนาย”   ฝรั่งเขียนเป็น Prek  Ban  Nai
แปลกันว่า “ปริกบ้านใน” รู้สึกว่าแปล  ๓  ที แล้วกินตาย…….”๖

ภูเก็ตสมัยศรีวิชัย – สุโขทัย
เนื่องจากเกาะภูเก็ต   แต่เดิมมีลักษณะเป็นแหลมยื่นออกมาจากแผ่นดินใหญ่    ส่วนที่เป็น
จังหวัดพังงาหรือตะกั่วป่า ปัจจุบันนี้  และจังหวัดพังงาหรือเมืองตะกั่วป่านั้น  เดิมเคยมีชื่อเสียงปรากฎอยู่ในภูมิศาสตร์การเดินเรือของนักเดินเรือมาก่อนว่าเป็นเมืองที่มีท่าจอดเรือดีมาก และมีสินค้าสำคัญคือแร่ดีบุก นักเดินเรือโบราณรู้จักแหลมตะกั่วป่าและแหลมที่เป็นเมืองภูเก็ตนี้ ในชื่อรวมกันว่า “ตักโกละ”
นายสุนัย ราชภัณฑารักษ์  ได้ค้นคว้าและรวบรวมเรื่องราวของเมืองตะกั่วป่า และได้อธิบายไว้ว่า   “เมืองตักโกละ เป็นเมืองเก่ามีชื่อมาแต่โบราณ ซึ่งเข้าใจว่าได้สร้างขึ้นในสมัยที่ชาวอินเดียจากแคว้นกลิงคราฐ อพยพหลบภัยสงครามสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (พ.ศ. ๒๗๐) มาอยู่ในแหลมมลายู ต่อมาเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๙ เมืองตักโกละก็รวมเข้ากับอาณาจักรตามพรลิงค์ ซึ่งตั้งตัวเป็นอิสระจากอาณาจักรฟูนัน และเป็นอาณาจักรไทย อาณาจักรแรกบนแหลมมลายู แล้วภายหลังก็ได้ตกไปอยู่ในอำนาจของอาณาจักรศรีวิชัย พร้อมกับอาณาจักรตามพรลิงค์ เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ๗
ต่อมาเมื่ออาณาจักรศรีวิชัยสิ้นอำนาจลงในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ อาณาจักรตามพรลิงค์กลับมีอำนาจขึ้นใหม่บนแหลมมลายู และเปลี่ยนชื่อเรียกว่า อาณาจักรศิริธรรมนคร  ได้รวมเข้ากับอาณาจักรสุโขทัย และเปลี่ยนเรียกชื่อว่า เมืองนครศรีธรรมราช ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แล้วเมืองตักโกละก็ได้รวมอยู่ในราชอาณาจักรไทยตลอดมา
สำหรับชื่อ ตักโกละ นั้น คงจะได้เปลี่ยนเป็น ตะกั่วป่า ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง เพราะในรัชกาลนั้นพ่อขุนรามคำแหงได้ทรงประดิษฐ์ลายสือไทยขึ้น ใช้ในแว่นแคว้นต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร เพื่อให้เป็นตัวหนังสือสำหรับชนชาติไทยทั้งมวลใช้ร่วมกันแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่การที่หนังสือ ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช เรียกว่า เมืองตะกั่วถลาง มาตั้งแต่ครั้งยังเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรศิริธรรมนครนั้น ก็คงเป็นเพราะผู้เขียนตำนานได้เขียนขึ้นในสมัยเมื่อเปลี่ยนชื่อแล้ว จึงเรียกตามชื่อใหม่ที่ใช้กันอยู่ ในสมัยที่เขียนตำนาน เมืองตะกั่วป่าในสมัยสุโขทัยกลับเป็นเมืองใหญ่ขึ้นอีกด้วยเหตุมีแร่ดีบุกเป็นสินค้าสำคัญ จึงได้แยกออกไปตั้งเป็นเมืองเล็ก ๆ ขึ้นกับเมืองตะกั่วป่าอีกหลายเมือง คือ เมืองตะกั่วทุ่ง ซึ่งไปตั้งเมืองอยู่ที่ชายทะเลลงไปทางใต้ มีพื้นที่เป็นทุ่งราบ คือ ที่แถบบ้านบางคลี อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ปัจจุบัน อันเป็นพื้นที่อุดมไปด้วยแร่ดีบุกเช่นเดียวกัน จึงเรียกว่า เมืองตะกั่วทุ่ง เพื่อให้คู่กับเมืองตะกั่วป่า เมืองกรา  หรือ เมืองกระ ซึ่งย้ายไปจากปากน้ำตะกั่วป่า เมืองนี้โบราณเขียน ก็รา หรือ ก็ระ จึงกลายเป็นเกาะรา หรือ เกาะระอยู่ในปัจจุบัน  เมืองคุระ ซึ่งอาจจะแยกออกจาก   เมืองกระบน   เกาะระมาตั้งอยู่บนฝั่งตำบลคุระ   กิ่งอำเภอคุระบุรี   อำเภอตะกั่วป่า   ซึ่งก็มีความหมายเช่นเดียวกันว่า เมืองปากน้ำ คุระ ก็เพี้ยนมาจาก กระ เมืองคีรีรัฐ อยู่บนเขาในตำบลบางวัน กิ่งคุระบุรี ปัจจุบันเรียกเพี้ยนไปเป็น บ้านคุรอด และ เมืองพระบุรี ซึ่งตั้งอยู่ตรงช่องแคบระหว่างเกาะภูเก็ตกับผืนแผ่นดินใหญ่ ส่วนเมืองถลางบนเกาะภูเก็ตในสมัยนั้น ก็คงจะขึ้นอยู่กับเมืองตะกั่วป่าด้วย จึงเป็นเหตุให้ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช เรียกชื่อควบคู่กันไปว่า เมืองตะกั่วถลาง
ภูเก็ตสมัยกรุงศรีอยุธยา
ครั้นถึงกลางสมัยกรุงศรีอยุธยา  ในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ   (พ.ศ. ๒๑๔๘ - ๒๑๖๓) จึงปรากฎชื่อ เมืองตะกั่วป่า  เมืองตะกั่วทุ่ง  เมืองถลาง เป็นหัวเมืองขึ้นฝ่ายกลาโหมทั้ง  ๓  เมือง  ซึ่งคงเป็นเพราะในสมัยนั้นได้เริ่มทำการค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น หัวเมืองชายทะเลตะวันตกซึ่งมีแร่ดีบุกมาก จึงมีความสำคัญยิ่งขึ้น เพราะเป็นสินค้าที่ต่างประเทศต้องการมาก ดังจะเห็นได้จากการที่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม  รัชกาลต่อมา  ได้พระราชทานที่ดินแถบปากแม่น้ำเจ้าพระยา ให้พวกฮอลันดาสร้างสถานีเก็บสินค้า เมื่อ พ.ศ. ๒๑๖๙ และยังให้ตั้งสาขาขึ้นที่ภูเก็ตกับนครศรีธรรมราช เพื่อทำการรับซื้อแร่ดีบุกเป็นสำคัญอีกด้วย
   ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช    ออกญามหาเสนาสมุหพระกลาโหม    เป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองเชียงใหม่ไม่สำเร็จ แต่ภายหลังออกญาโกษาธิบดี (ขุนเหล็ก) เป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองเชียงใหม่ได้เมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๕ จึงโปรดให้ยกหัวเมืองฝ่ายใต้ทั้งหมด รวมทั้ง เมืองตะกั่วป่า  เมืองตะกั่วทุ่ง 
เมืองถลาง จากฝ่ายกลาโหม ไปขึ้นกับโกษาธิบดี หรือ กรมท่า เพื่อเป็นบำเหน็จความชอบในราชการสงคราม เมืองตะกั่วป่า ได้เป็นหัวเมืองชั้นตรี ขึ้นฝ่ายกรมท่ามาตลอดสมัยศรีอยุธยา
   สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “สาส์นสมเด็จ”  ว่า  “เกาะถลางนั้น    ที่ทำไร่นาได้มีแต่ทางข้างเหนือ     จึงตั้งเมืองถลางอยู่ข้างเหนือแต่เดิมมา ตอนข้างใต้ไม่มีที่ทำไร่นา แต่มีดีบุกมาก มีแต่คนหาปลาอยู่ริมทะเล กับคนไปตั้งขุดหาแร่ดีบุกอยู่ชั่วคราว    แต่ดีบุกเป็นของต้องการใช้ราชการมาแต่โบราณ     จึงตั้งเมืองภูเก็ตเป็นเมืองขึ้นของเมืองถลางมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา” ๘

ภูเก็ตสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) สมุหพระกลาโหม มีความชอบในราชการสงครามปราบปรามพม่า จึงโปรดให้ยกหัวเมืองฝ่ายใต้ทั้งหมดกลับคืนมาขึ้นฝ่ายกลาโหมตามเดิม ต่อมา พ.ศ. ๒๓๒๘ พม่าได้แต่งกองทัพเรือยกมาตี  เมืองตะกั่วป่า  เมืองตะกั่วทุ่งแตกยับเยิน   แต่ไปตีเมืองถลางไม่ได้ เพราะท้าวเทพกระษัตรี  ท้าวศรีสุนทร  ต่อสู้ป้องกันเมืองไว้ได้  ภายหลังเมื่อเสร็จการสงครามแล้ว จึงโปรดให้ เจ้าพระยาสุรินทราชา (จันทร์ ต้นสกุล จันทโรจวงศ์) ไปเป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองชายทะเลตะวันตกอยู่ที่เมืองถลาง  เมืองตะกั่วป่า  เมืองตะกั่วทุ่ง  จึงไปขึ้นกับเมืองถลางอยู่ระยะหนึ่ง
   ต่อมาพอขึ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  รัชกาลที่ ๒  พม่าก็ยกทัพเรือมาตีเมืองตะกั่วป่า  เมืองตะกั่วทุ่ง  ได้อีกเมื่อ  พ.ศ. ๒๓๕๒    เพราะเมืองทั้งสองนี้เพิ่งจะเริ่มฟื้นฟูใหม่ ผู้คนพลเมืองก็ยังน้อย เมื่อทัพพม่ายกมา ก็พากันอพยพหลบหนีเข้าป่าไปหมด พม่าจึงไม่ต้องรบ พม่าได้เมืองตะกั่ว  เมืองตะกั่วทุ่ง แล้วก็เลยไปตีเอาเมืองถลางได้ด้วยในคราวนี้  เมื่อพม่ามาตีเมืองตะกั่วป่าแตกใน พ.ศ. ๒๗๒๘ นั้น ตัวเมืองยังคงอยู่ที่ เขาเวียง เพราะปรากฎว่าพม่าได้ขนเอาเทวรูปทั้ง  ๓  องค์ ลงมาจากเทวสถาน จะเอาไปด้วย แต่เมื่อยกลงมาจากยอดเขา มาถึงริมลำน้ำ เผอิญเกิดพายุใหญ่ฝนตกหนัก พม่าต้องหนีน้ำจึงทิ้งเทวรูปไว้   ตำบลนี้ก็เลยมีชื่อเรียกว่า ตำบลหลังพม่า เพราะพม่าให้หลังที่ตรงนี้ ตำบลหลังพม่านี้  อยู่ในเขตอำเภอกะปง จังหวัดพังงา  ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ตำบลรมณีย์
   เมื่อเมืองเก่าบนเขาเวียงแตกแล้ว  พลเมืองจึงได้ย้ายมาตั้งเมืองใหม่  ที่บ้านตำตัว อยู่ได้ไม่นาน  ถึง พ.ศ. ๒๓๕๒   ก็ถูกพม่ามาขับไล่แตกไปอีก  ในคราวนี้ผู้คนพลเมืองได้หนีไปตั้งอยู่ในป่า  ซึ่งภายหลังก็ได้กลายเป็นหมู่บ้านตะกั่วป่า  ตำบลโคกเคียน  อำเภอตะกั่วป่า   เมื่อกองทัพกรุงยกมาขับไล่พม่าไปหมดแล้วเห็นว่าหัวเมืองชายทะเลตะวันตกยับเยินหนัก  และยังไม่ไว้ใจ เกรงว่าพม่าจะมารุกรานอีก  จึงมิได้ตั้งเป็นหัวเมืองขึ้นกรุงเทพฯ เหมือนเดิม  แต่ให้ยกเมืองตะกั่วป่า  เมืองตะกั่วทุ่ง  เมืองถลาง ไปขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชทั้งหมด
   ต่อมาเมื่อถึง พ.ศ. ๒๓๘๓  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๓  ทรงพระราชดำริที่จะทำนุบำรุงหัวเมืองชายทะเลตะวันตก   ให้กลับคืนดังเดิม   ประกอบกับหมดห่วงในการศึกกับพม่า  เพราะพม่าได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษไปแล้ว  จึงกลับตั้งเมืองตะกั่วป่า  เมืองตะกั่วทุ่ง  เป็นหัวเมืองขึ้นฝ่ายกลาโหมตามเดิม  และยังได้ยกเมืองพังงาเป็นหัวเมืองขึ้นกรุงเทพฯ  ฝ่ายกลาโหมอีกเมืองหนึ่งในคราวนี้ด้วย ส่วนเมืองถลางนั้น ได้กลับตั้งเป็นหัวเมืองขึ้นกรุงเทพฯ ไปตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๒๓๘๐  และเมื่อได้มีการปรับปรุงระบบการปกครองหัวเมืองต่าง ๆ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็นระบบมณฑลเทศาภิบาล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕  โดยรวมหัวเมืองชายทะเลตะวันตกตั้งเป็นมณฑลภูเก็ต  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕  เมืองตะกั่วป่าจึงมาขึ้นกับมณฑลภูเก็ต
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  มีหลักฐานระบุว่า  เมื่อราคาดีบุกสูงขึ้น  และมีคนไปตั้งขุดแร่มากขึ้นโดยลำดับ  ได้มีการแต่งตั้งหลวงมหาดไทยชื่อ ทัด  เป็นกรรมการเมืองถลาง  ไปปกครองดูแล  และตั้งหลักแหล่งหาเลี้ยงชีพด้วยทำการขุดแร่ดีบุกที่ตำบลทุ่งคา  อันเป็นมูลของชื่อที่ฝรั่งเรียกเมืองภูเก็ต……..  ต่อมาหลวงมหาดไทยได้เป็นที่พระภูเก็ต   เจ้าเมือง    แต่ยังขึ้นอยู่กับเมืองถลาง มาจนถึงรัชกาลที่ ๔  พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม)  ออกไปสักเลขที่เมืองภูเก็ต  ไปขอนางสาวเลื่อม  ธิดาพระภูเก็ต (ทัด)  ให้แต่งงานกับพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น) บุตรคนใหญ่  ต่อมาไม่ช้า  เมืองภูเก็ตได้เลื่อนขึ้นเป็น เมืองจัตวา  ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ  พระภูเก็ตก็ได้เลื่อนขึ้นเป็น พระยาภูเก็ตโลหะเกษตรารักษ์  ทำนุบำรุงเมืองภูเก็ตจนเติบใหญ่ ๙
การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ   ได้ทรงนิพนธ์ไว้ในเรื่อง   “นิทานเรื่องเทศาภิบาล” ๑๐ความว่า ประเพณีการปกครองหัวเมืองในสมัยโบราณใช้อยู่หลายอย่าง  ประเทศทางตะวันออกดูเหมือนจะใช้แบบเดียวกันทุกประเทศ ในกฎหมายเก่าของไทย เช่น  กฎมณเฑียรบาล  เป็นต้น  เรียกวิธีการปกครองว่า “กินเมือง”  ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น  “ว่าราชการเมือง”
   วิธีการปกครองที่เรียกว่า  “กินเมือง”  นั้น  หลักเดิมคงมาแต่ถือว่าผู้เป็นเจ้าเมือง ต้องทิ้งกิจธุระของตนมาประจำทำการปกครองบ้านเมือง ให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากภัยอันตราย ราษฎรก็ต้องตอบแทนคุณเจ้าเมืองด้วยออกแรงช่วยทำการงานให้บ้าง หรือแบ่งสิ่งของซึ่งทำมาหาได้ เช่น ข้าวปลาอาหาร เป็นต้น อันมีเหลือใช้ ให้เป็นของกำนัล ช่วยอุปการะ มิให้เจ้าเมืองต้องเป็นห่วงในการหาเลี้ยงชีพ   ราษฎรมากด้วยกัน  ช่วยคนละเล็กละน้อย เจ้าเมืองก็อยู่เป็นสุขสบาย รัฐบาลในราชธานีไม่ต้องเลี้ยงดู  จึงได้ค่าธรรมเนียมในการต่าง ๆ   ที่ทำในหน้าที่เป็นตัวเงินสำหรับใช้สอย   กรมการซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าเมืองก็ไดัรับผลประโยชน์ทำนองเดียวกัน เป็นแต่ลดลงตามศักดิ์
ต่อมาความเปลี่ยนแปลงทำให้การเลี้ยงชีพต้องอาศัยเงินตรามากขึ้นโดยลำดับผลประโยชน์ที่เจ้าเมืองกรมการได้รับอย่างโบราณไม่พอเลี้ยงชีพ จึงต้องคิดหาผลประโยชน์เพิ่มพูนขึ้นทางอื่น เช่น ทำไร่นาค้าขาย เป็นต้น ให้มีเงินพอใช้สอยกินอยู่เป็นสุขสบาย เจ้าเมืองกรมการมีอำนาจที่จะบังคับบัญชาการต่าง ๆ ตามตำแหน่ง และเคยได้รับอุปการะของราษฎรเป็นประเพณีมาแล้ว ครั้นทำมาหากินก็อาศัยตำแหน่งในราชการ เป็นปัจจัยให้ได้ผลประโยชน์สะดวกดีกว่าบุคคลภายนอก เปรียบดังเช่น “ทำนา” ก็ได้อาศัย  “บอกแขก”  ขอแรงราษฎรมาช่วยหรือจะค้าขายเข้าหุ้นกับผู้ใดก็อาจสงเคราะห์ผู้เป็นหุ้นให้ซื้อง่ายขายคล่อง ได้กำไรมากขึ้น แม้จนเจ้าภาษีนายอากรได้รับผูกขาดไปจากกรุงเทพฯ  ถ้าให้เจ้าเมืองกรมการมีส่วนด้วย ก็ได้รับความสงเคราะห์ให้เก็บภาษีอากรสะดวกขึ้น จึงเกิดประเพณีหากินด้วยอาศัยตำแหน่งในราชการแทนทั่วไป    เจ้าเมืองกรมการที่เกรงความผิด   ก็ระวังไม่หากินด้วยเบียดเบียนผู้อื่น    ต่อเป็นคนโลภจึงเอาทุกอย่างสุดแต่จะได้     ดังเช่น     ผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณ     ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ ในนิพนธ์ที่ ๔  เรื่อง ห้ามเจ้ามิให้ไปเมืองสุพรรณ
นอกจากนั้น     กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงนิพนธ์ไว้ว่า      “ตามหัวเมืองสมัยนั้นประหลาดอีกอย่างหนึ่ง   ที่ไม่มีศาลารัฐบาลตั้งประจำสำหรับว่าราชการบ้านเมือง เหมือนอย่างทุกวันนี้ เจ้าเมืองตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ไหน     ก็ว่าราชการบ้านเมืองที่บ้านของตน      เหมือนอย่างเสนาบดีเจ้ากระทรวงว่าราชการที่บ้านตามประเพณีเดิม บ้านเจ้าเมืองผิดกับบ้านของคนอื่นเพียงแต่ที่เรียกกันว่า “จวน” เพราะมีศาลาโถงปลูกไว้นอกรั้วข้างหน้าบ้านหลังหนึ่ง เรียกว่า “ศาลากลาง” เป็นที่สำหรับประชุมกรมการเวลามีงาน   เช่น   รับท้องตรา  หรือ ปรึกษาราชการเป็นต้น  เวลาไม่มีการงานก็ใช้ศาลากลางเป็นศาลชำระความ      เห็นได้ว่าศาลากลางก็เป็นเค้าเดียวกับศาลาลูกขุนในราชธานีนั้นเอง   เรือนจำสำหรับขังนักโทษก็อยู่ในบริเวณจวนอีกอย่างหนึ่ง   แต่คงเป็นเพราะคุมขังได้มั่นคงกว่าที่อื่น ไม่จำเป็นต้องอยู่กับจวนเหมือนศาลากลาง”
“……. เจ้าเมืองต้องสร้างจวนและศาลากลางด้วยทุนของตนเอง แม้แต่แผ่นดินที่จะสร้างจวน ถ้ามิได้อยู่ภายในเมืองที่ปราการ   เช่น  เมืองพิษณุโลก เป็นต้น   เจ้าเมืองก็ต้องหาซื้อที่ดินเหมือนกับคนทั้งหลาย  จวนกับศาลากลางจึงเป็นทรัพย์ส่วนตัวของเจ้าเมือง  เมื่อสิ้นตัวเจ้าเมืองก็ตกเป็นมรดกของลูกหลาน ใครได้เป็นเจ้าเมืองคนใหม่ ถ้ามิได้เป็นผู้รับมรดกของเจ้าเมืองคนเก่า ก็ต้องหาที่สร้างจวนและศาลากลางขึ้นใหม่ตามกำลังที่จะสร้างได้ บางทีก็ย้ายไปสร้างห่างจวนเดิมต่างฟากแม่น้ำ หรือแม้จนต่างตำบลก็มี จวนเจ้าเมืองไปตั้งอยู่ที่ไหน ก็ย้ายที่ว่าราชการไปอยู่ที่นั่นชั่วสมัยของเจ้าเมืองคนนั้น ตามหัวเมือง จึงไม่มีที่ว่าราชการเมืองตั้งประจำอยู่แห่งใดแห่งหนึ่งเป็นนิจ เหมือนทุกวันนี้อันพึ่งมีขึ้นเมื่อจัดมณฑลเทศาภิบาลแล้ว …….”
ในหนังสือเรื่อง “พระราชหัตถเลขา รัชกาลที่ ๕  ที่เกี่ยวกับภารกิจของกระทรวงมหาดไทย ๑๑ ได้กล่าวไว้ว่า “เทศาภิบาล” คือการปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการ ออกไปดำเนินการ ในส่วนภูมิภาค แบ่งออกเป็นมณฑล เมือง อำเภอ ตำบล และ หมู่บ้าน
มณฑล    รวมเขตเมืองตั้งแต่  ๒ เมืองขึ้นไป   มีเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลบังคับ   
                บัญชาพร้อมด้วยข้าหลวงชั้นรอง และเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ
   เมือง        รวมเขตอำเภอตั้งแต่ ๒  อำเภอขึ้นไป มีผู้ว่าการเมืองและกรมการเมืองบังคับ   
                        บัญชาตามข้อบังคับลักษณะปกครองหัวเมือง  รัตนโกสินทร์ศก    ๑๑๖   หรือ 
พุทธศักราช ๒๔๔๐ (สมัยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เป็นเสนาบดี) และ ข้อบังคับลักษณะปกครองหัวเมืองชั่วคราว   พุทธศักราช  ๒๔๖๕   (สมัยเจ้าพระยายมราช  เป็นเสนาบดี)
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #143 เมื่อ: 10 พฤศจิกายน 2010 09:05:40 »

ภูเก็ต ๒
อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน  เป็นหน่วยปกครองที่รองลงมา
“มณฑลที่ตั้งขึ้นก่อนพุทธศักราช ๒๔๓๗ มี ๖ มณฑล คือ (๑) มณฑลลาวเฉียง        (๒) มณฑลลาวพวน  (๓) มณฑลลาวกาว (๔) มณฑลเขมร (๕) มณฑลลาวกลาง  (๖)  มณฑลภูเก็ต”
มณฑลภูเก็ต  (เดิมเรียกหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก) มี ๖ เมือง คือ ภูเก็ต
กระบี่ ตรัง พังงา ตะกั่วป่า ระนอง
    การปกครองโดยการรวมหัวเมืองต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ตั้งเป็นมณฑลนั้น ความจริงได้เคยมีการรวมหัวเมืองต่าง ๆ ให้ขึ้นอยู่ในปกครองข้าหลวงใหญ่มาก่อนบ้างแล้ว เช่น รวมหัวเมืองทางภาคอิสานตั้งเป็นหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ และหัวเมืองลาวกลาง ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๓๓ เป็นต้น โดยเฉพาะมณฑลภูเก็ตนั้นอาจกล่าวได้ว่า ได้รวมเป็นหัวเมืองทำนองมณฑลมาก่อนที่อื่นทั้งหมดก็ว่าได้ เพราะได้เริ่มมีการตั้งข้าหลวงใหญ่คนแรก ออกมาประจำอยู่ที่เมืองภูเก็ต  ทำหน้าที่กำกับราชการบ้านเมือง และจัดการภาษีอากร ตลอดจนรับส่งเงินหลวงในหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตกตั้งแต่ปีกุน สัปตศก จุลศักราช ๑๒๓๗ หรือ พุทธศักราช ๒๔๑๘ เป็นต้นมา ข้าหลวงใหญ่คนแรกนี้คือ เจ้าหมื่นเสมอใจราช (ชื่น   บุนนาค)  หัวหมื่นมหาดเล็กและองคมนตรี   ซึ่งภายหลังได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น   พระยามนตรีสุริยวงศ์
   การตั้งข้าหลวงใหญ่  ออกมากำกับราชการหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตกนี้    เป็นการเจริญรอยตามแบบแผน สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่ได้ตั้ง  เจ้าพระยาสุรินทราชา   (จันทร์  จันทโรจวงศ์) เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองถลางและหัวเมืองอื่นซึ่งเป็นหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตกรวม ๘  เมืองนั่นเอง เหตุผลที่จำเป็นต้องตั้งข้าหลวงใหญ่ ออกมากำกับราชการหัวเมืองฝ่ายนี้ขึ้นอีก ก็มีสาเหตุมาจากการทำเหมืองแร่ดีบุกดังรายละเอียดที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายไว้ใน ประวัติพระยามนตรีสุริยวงศ์ ความว่า “ผลประโยชน์ส่งหลวงนั้น แต่เดิมมาเจ้าเมืองเป็นพนักงานเก็บภาษีโดยตำแหน่งดังกล่าวแล้ว ครั้นเจ้าเมืองเป็นผู้ทำเหมืองเอง รัฐบาลจึงมอบภาษีอากรทั้ง ๕ อย่างคือ ภาษีดีบุก ๑ ภาษีร้อยชักสาม ๑ ภาษีฝิ่น ๑ ภาษีสุรา ๑ อากรบ่อนเบี้ย ๑ รวมเรียกว่า ภาษีผลประโยชน์ให้เจ้าเมืองรับทำกะเพิ่มเงินหลวงให้ส่งเป็นอัตราเสมอไปทุกปี เจ้าเมืองจึงเป็นอย่างเจ้าภาษีรับผูกขาดผลประโยชน์ ในเมืองนั้นด้วยเป็นอย่างนี้มาจนถึงรัชกาลที่ ๕ ครั้งถึงปีวอก พุทธศักราช ๒๔๑๕ พระยาอัษฎงคตทิศรักษา เข้ามาจากเมืองสิงคโปร์มายื่นเรื่องราวที่ในกรุงเทพฯ จะขอรับผูกภาษีผลประโยชน์ที่เมืองภูเก็ต เงินหลวงแต่เดิมได้อยู่ปีละ ๒๑๗ ชั่ง พระยาอัษฎงคตฯ จะประมูลขึ้น ๓,๗๘๓ ชั่ง รวมเป็น ๔,๐๐๐ ชั่ง พระยาอัษฎงคตฯ นี้ชื่อจีน ตันกิมเจ๋ง เป็นพ่อค้าชาวเมืองสิงคโปร์ เคยเข้ามากรุงเทพฯ เนือง ๆ ตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตาตั้งให้เป็นที่พระพิเทศพานิช แล้วโปรดให้เป็นกงศุลไทย ที่เมืองสิงคโปร์    ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระยาอัษฎงคตทิศรักษาตำแหน่งผู้ว่าการเมืองกระ  ทั้งเป็นกงศุลไทยอยู่ที่เมืองสิงคโปร์ด้วย ในรัชกาลที่ ๕ ได้เลื่อนเป็นพระยาอนุกูลสยามกิจกงศุล
เยเนราลไทยที่เมืองสิงคโปร์ แต่เมื่อเข้ามายื่นเรื่องราวประมูลภาษีเมืองภูเก็ต ยังเป็นพระยาอัษฎงค์ฯ อยู่ จึงเกิดเป็นปัญหาที่รัฐบาลจะต้องเลือกในเวลานั้นว่า    จะให้คนในบังคับต่างประเทศเข้ามารับผูกขาดการทำภาษีอากร โดยจะให้ผลประโยชน์แผ่นดินมากขึ้น หรือจะให้เจ้าเมืองจัดต่อไปตามเดิม แต่แผ่นดินได้ผลประโยชน์น้อย ทางที่คิดเห็นกันว่าเป็นอย่างดีที่สุดในเวลานั้นก็คือให้เจ้าเมืองคงทำไปอย่างเดิม แต่ให้ขึ้นเงินหลวงให้เท่ากับที่พระยาอัษฎงค์ฯรับประมูลเวลานั้นพระยาวิชิตสงครามอยู่ในกรุงเทพฯ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์ว่ากล่าวกับพระยาวิชิตสงคราม พระยาวิชิตสงครามจึงรับประมูลเงินหลวงให้มากกว่าพระยาอัษฎงค์ฯ ๒๐๐ ชั่ง เป็นปีละ ๔,๒๐๐ ชั่ง ใช่แต่เท่านั้น พระยาวิชิตสงครามยื่นเรื่องราวขอประมูลทำภาษีอากรเมืองระยอง เมืองตะกั่วป่า เมืองพังงา อย่างพระยาอัษฎงค์ฯ ประมูลเมืองภูเก็ตบ้าง จึงเป็นเหตุให้ผู้ว่าการเมืองนั้น ๆ ต้องประมูลรับขึ้นเงินตามกัน เงินภาษีอากรเมืองฝ่ายทะเลตะวันตกก็เพิ่มขึ้นมากมายหลายเท่า ตั้งแต่ปีระกา จุลศักราช ๑๒๓๕ พุทธศักราช ๒๔๑๖ เป็นต้นมา
   เมื่อเงินภาษีอากรเพิ่มขึ้นมากมายเช่นนั้น การที่จะรับส่งเงินหลวงทางหัวเมืองภูเก็ต ก็เป็นการสำคัญขึ้นแต่แรกรัฐบาลจัดให้เรือรบหลวง ๑ ลำ มีขุนนางกรมอาสาจามเป็นข้าหลวงสำหรับไปรับเงินงวดภาษีอากรทางหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก   ต้องไปมาเป็นการลำบากอยู่เสมอ    เงินที่หัวเมืองจะส่งก็คั่งค้างไม่สะดวกดี แต่ก็ยังมิได้จัดการแก้ไขแต่อย่างใด ครั้งปีกุน
จุลศักราช ๑๒๓๗ พุทธศักราช ๒๔๑๘ พระยาอัษฎงค์  ยื่นประมูลภาษีอากรเมืองภูเก็ตอีกครั้งหนึ่งจะรับขึ้นเงินหลวงอีกปีละ ๑,๐๐๐ ชั่ง เป็นปีละ ๕,๒๐๐ ชั่ง  ปัญหาเกิดขึ้นคราวนี้ ยากกว่าคราวก่อน ด้วยจะเรียกพระยาวิชิตสงครามมาว่ากล่าว     ให้ประมูลขึ้นไปอีกก็ขัดอยู่    เพราะการที่เจ้าเมืองรับขึ้นเงินภาษีอากรเป็นอันมาก เมื่อปีวอกจัตวาศกนั้น มิใช่ว่าเป็นแต่จะไปแบ่งโอนเงินกำไรของตนมาส่งหลวง แท้จริงกำไรที่เจ้าเมืองได้อยู่ก่อนยังต่ำกว่าจำนวนเงินหลวงที่รับประมูลขึ้นไปเสียอีก ความคิดของเจ้าเมืองที่กล้ารับขึ้นเงินหลวงครั้งนั้น ด้วยตั้งใจ จะไปกู้ยืมหาเงินมาลงทุนรอนเรียกจีนกุลีเข้ามาทำเหมืองให้มากให้เกิดผลประโยชน์ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน หมายจะเอากำไรที่จะได้มากขึ้นมาส่งเป็นเงินหลวง เป็นอย่างนี้ด้วยกันทุกเมือง
การที่จัดทำลงทุนรอนไปเป็นธรรมดาจำต้องมีเวลากว่าจะได้ทุนกลับคืนมา ก็ถ้าให้ประมูลกันร่ำไป หรือถ้าผู้อื่นแย่งภาษีไปได้ในเวลาที่ไม่ได้ทุนคืน เจ้าเมืองที่รับทำภาษีอากรอยู่ก็ต้องฉิบหาย รัฐบาลแลเห็นอยู่เช่นนี้ แต่จะไม่รับเรื่องราวของพระยาอัษฎงค์ฯ พิจารณา กฎหมายการทำภาษีอากรในเวลานั้น ก็ยังยอมให้ว่าประมูลอยู่ จึงเป็นความลำบากใจแก่รัฐบาลที่จะบัญชาลงเป็นประการใด สมเด็จเจ้าพระยาฯ จึงทูลขอให้พระยามนตรีฯ แต่ยังเป็นเจ้าหมื่นเสมอใจราชและเป็นองคมนตรี เป็นข้าหลวงพิเศษออกไปตรวจการภาษีอากรทางหัวเมืองมณฑลภูเก็ต เพราะพระยามนตรีฯ เกี่ยวดองกับพระยาวิชิตสงคราม ประสงค์จะให้ไปพูดจาเกลี้ยกล่อมพระยาวิชิตสงครามยอมประมูลเงินสูงกว่าพระยาอัษฎงค์ฯ ๘๐๐ ชั่ง รวมเป็น ๖,๐๐๐ ชั่ง รัฐบาลจึงได้จัดการแก้ไข วิธีเก็บภาษีอากรทางหัวเมืองมณฑลภูเก็ตให้พ้นจากเรื่องประมูลแย่งกันตั้งแต่นั้นมา เวลานั้นพระยาวิชิตสงครามแก่ชรา จักษุมืด จึงโปรดให้เลื่อนขั้นเป็นพระยาจางวาง โปรดให้พระยาภูเก็ต (ลำดวน) บุตรคนใหญ่ของพระยาวิชิตสงคราม เป็นตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองภูเก็ตสำหรับที่จะได้ทำการเก็บผลประโยชน์ แทนตัวพระยาวิชิตสงครามต่อไป แล้วทรงตั้งพระยามนตรีฯ เวลานั้นยังเป็นเจ้าหมื่นเสมอใจราชเป็นข้าหลวงใหญ่คนแรกออกไปอยู่เมืองภูเก็ต ประจำกำกับราชการบ้านเมืองและจัดเก็บภาษีอากรตลอดจนรับส่งเงินหลวงในหัวเมืองมณฑลภูเก็ต ตั้งแต่เมื่อปีกุน สัปตศกนั้น
การที่ตั้งข้าหลวงใหญ่ไปประจำอยู่เมืองภูเก็ตครั้งนั้น เมื่อพิเคราะห์ดูโดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา      ก็แลเห็นได้ว่าเป็นการจำเป็น และสมควรแก่ประโยชน์ของราชการบ้านเมืองด้วยประการทั้งปวง เพราะการที่เปิดเหมืองดีบุก ให้ทำได้มากมายหลายเหมืองพร้อมกันเช่นนั้น อาจจะมีเหตุการณ์แก่งแย่งเกิดขึ้น เช่นแย่งจีนกุลีทำเหมือง เป็นต้น และข้อสำคัญยังมีในการที่เรียกจีนกุลีเพิ่มเข้ามาทำเหมืองมากขึ้น ๆ  ทุกที     ไม่ช้านานเท่าใด จำนวนจีนกุลีทำเหมืองก็มากกว่าพลเมืองไทยที่อยู่ในท้องที่มาแต่เดิม ภาระควบคุมจีนกุลี เป็นความลำบากแก่การปกครองในเวลานั้น ยิ่งกว่าการอย่างอื่น ต้องการกำลังและอำนาจ ในการปกครองยิ่งกว่าที่เจ้าเมืองมีอยู่เฉพาะเมืองอย่างแต่ก่อน  จึงต้องตั้งข้าหลวงใหญ่ไปอยู่ประจำมณฑลคล้าย ๆ กับสมุหเทศาภิบาลที่จัดต่อมาในชั้นหลัง และให้มีเรือรบออกไปอยู่ประจำเป็นกำลังลำหนึ่งสองลำอยู่เสมอ……”
ส่วนปลัดมณฑลที่เคยเป็นตำแหน่งที่สองรองจากข้าหลวงเทศาภิบาลนั้น ก็จำกัดหน้าที่ลงเหลือเป็นเพียงผู้ช่วยในกิจการมณฑลเท่านั้น และงานในหน้าที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเดิมเป็นหน้าที่ของข้าหลวงมหาดไทยนั้น เมื่อได้ตั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองขึ้นอีกตำแหน่งหนึ่งแล้ว ก็ได้ยุบเลิกตำแหน่งข้าหลวงมหาดไทยมณฑลเสีย  แล้วโอนงานของข้าหลวงมหาดไทย ให้ปลัดมณฑลเป็นผู้ปฏิบัติจัดทำต่อไป
ต่อมาถึงพุทธศักราช ๒๔๕๙ จึงได้เปลี่ยนคำว่า “เมือง” เรียกว่า “จังหวัด” เป็นระเบียบเดียวกันทั่วทั้งประเทศ ต่อมาถึงพุทธศักราช ๒๔๖๘ ในรัชกาลที่ ๗ ได้ยุบเลิกตำแหน่งมหาดไทยมณฑล เพื่อประหยัดตัดรอนรายจ่ายแผ่นดินให้เข้าสู่ดุลยภาพ แต่แล้วภายหลังก็ต้องกลับตั้งตำแหน่งมหาดไทยมณฑลขึ้นใหม่ เพื่อให้เป็นผู้ปฏิบัติงานในหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยอีก อนึ่งในปีพุทธศักราช ๒๔๖๘ นี้ ได้โอนจังหวัดสตูล จากมณฑลภูเก็ต ไปขึ้นกับ มณฑลนครศรีธรรมราช เพราะทางไปมาจากสตูลไปสงขลา ซึ่งเป็นที่ตั้งมณฑลนครศรีธรรมราชสะดวกกว่ามาภูเก็ต ต่อมาเมื่อเกิดการปฏิบัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๔๗๕   จึงได้ยกเลิกระบอบเทศาภิบาลเสีย   เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๖     ตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑล จึงได้ถูกยุบเลิกไปแต่นั้นมา ถึงแม้ว่าในภายหลังจะได้มีการแต่งตั้งตำแหน่ง ข้าหลวงตรวจการกระทรวงมหาดไทย ออกไปประจำภาคต่าง ๆ ขึ้น แล้วต่อมาได้เปลี่ยน เรียกว่า ผู้ว่าราชการภาค ก็ตาม ก็หาได้มีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชาข้าราชการในจังหวัดต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์เหมือนในสมัยสมุหเทศาภิบาล ผู้สำเร็จราชการมณฑลต่างพระเนตรพระกรรณไม่ จึงเป็นอันว่าระบอบมณฑลเทศาภิบาลได้หมดสิ้นไป ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๗๖ ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมือง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น ปรากฏตาม พระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกจากจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัดและอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลอีกด้วย เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสีย เหตุที่ยกเลิกมณฑลน่าจะเนื่องจาก
๑) การคมนาคมสื่อสารสะดวกและรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน   สามารถที่จะสั่งการ   และตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง
๒) เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศให้น้อยลง
๓) เห็นว่าหน่วยมณฑลซ้อนกับ หน่วยจังหวัด จังหวัดรายงานกิจการต่อมณฑล มณฑลรายงานต่อกระทรวงเป็นการชักช้าโดยไม่จำเป็น
๔) รัฐบาลในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ๆ  มีนโยบายที่จะให้อำนาจแก่ส่วนภูมิภาคยิ่งขึ้น และการที่ยุบมณฑลก็เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจนั่นเอง
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกฉบับหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดมีหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนี้
๑) จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล    แต่จังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ หามีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่
๒) อำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะบุคคล ได้แก่ คณะกรรมการจังหวัดนั้น ได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับบุคคลคนเดียวคือ ผู้ว่าราชการจังหวัด
๓) ในฐานะของคณะกรมการจังหวัด ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัด ได้กลายเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
ต่อมา ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ตามนัยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น
๑) จังหวัด
๒) อำเภอ
จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลาย ๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ และให้มีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น
ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดภูเก็ต.ภูเก็ต : โรงพิมพ์สมบัติการพิมพ์ ,๒๕๒๙.
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #144 เมื่อ: 10 พฤศจิกายน 2010 09:05:57 »

สุราษฎร์ธานี
สุราษฎร์ธานีเป็นนามซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ เนื่องจากการเรียกชื่อเมืองก่อนหน้านั้นยังซ้ำซ้อนและสับสนกันอยู่ ประกอบกับพระองค์ได้ทรงพิจารณาว่าประชาชนทั่วไปในเมืองนี้มีกิริยามารยาทเรียบร้อย และทรงทราบจากผู้ปกครองเมืองว่า ประชาชนในเมืองนี้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมเคารพและยึดมั่นในพระพุทธศาสนา จึงได้โปรดเกล้าให้เปลี่ยนชื่อเมืองเดิม จากเมืองไชยา มาเป็นเมือง        สุราษฎร์ธานี
ก่อนที่จะกล่าวถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ควรจะทราบประวัติความเป็นมาของจังหวัดในอดีตเสียก่อนว่ามีประวัติความเป็นมาในแต่ละสมัยอย่างไร
สุราษฎร์ธานีในสมัยศรีวิชัย
ดินแดนส่วนที่เป็นด้ามขวานของไทย จนถึงแหลมมลายู ก่อนที่จะมาเป็นดินแดนภาคใต้ของไทยและประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐมาเลเซียทุกวันนี้ ในอดีตเคยเป็นอาณาจักรที่มีความเจริญ    รุ่งเรืองมาก่อน มีกษัตริย์ปกครองสืบต่อ ๆ กันมาหลายยุคหลายสมัย บางครั้งก็เจริญรุ่งเรืองสูงสุด บางครั้งก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรอื่น ๆ เช่น ตกอยู่ภายใต้อาณาจักรฟูนัน จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ เมื่ออาณาจักรฟูนันซึ่งมีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๘ – ๑๒ มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ทางอิสานเสื่อมอำนาจลง บรรดาหัวเมืองใหญ่น้อยทางภาคใต้ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรฟูนัน จึงได้ตั้งเมืองอิสระขึ้น ในระยะนี้กล่าวถึงชื่อประเทศใหม่ ๆ ในแหลมมลายู เช่น ประเทศครหิ ตั้งเมืองหลวงอยู่อ่าวบ้านดอน ตอนที่เป็นไชยาทุกวันนี้ อีกประเทศหนึ่งชื่อตามพรลิงค์หรือ ตามพรลิงเคศวร ตั้งเมืองหลวงที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
ต่อมากษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร์องค์หนึ่งมีอานุภาพมาก ได้แผ่ขยายอิทธิพลมาถึงและรวบรวมเมืองเล็กเมืองน้อยเหล่านี้เข้าไว้เป็นอาณาจักรหนึ่ง แผ่อาณาเขตขึ้นมาเกือบครึ่งค่อนแหลมมลายู คือ ตั้งแต่เขตเมืองไชยาลงไปมีชื่อว่า อาณาจักรศรีวิชัย
กษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร์ ที่ปกครองอาณาจักรศรีวิชัยนี้ เล่ากันว่า สืบเชื้อสายมาจากปฐมกษัตริย์ผู้ครองอาณาจักรฟูนัน ซึ่งมีประวัติพิสดารตามที่ราชฑูตจีนที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับฟูนัน เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๘– ๙ เขียนเล่าในจดหมายเหตุว่า แต่เดิมกษัตริย์ที่ปกครองฟูนัน เป็นผู้หญิง ทรงพระนามว่า พระนางหลิวเหยหรือ พระนางใบสน ต่อมามีชายคนหนึ่งชื่อโกณฑัญญะ มาจากดินแดนแห่งหนึ่งอาจจะเป็นอินเดีย แหลมมลายู หรือหมู่เกาะทางใต้ เกิดฝันไปว่าเทวดาประทานธนูให้และสั่งให้ลงเรือสำเภาออกทะเลไป จะได้เป็นผู้ยิ่งใหญ่ยังดินแดนแห่งหนึ่ง รุ่งเช้าโกณฑัญญะ ตื่นขึ้นจึงตรงไปยังเทวาลัย ก็ได้พบธนูสมดังความฝัน จึงลงเรือสำเภาจากอินเดียแล่นเรือเรื่อยมาจนถึงอาณาจักรฟูนัน พระนางใบสนทราบข่าวก็นำเรือและกำลังอาวุธออกมาต้านทานไม่ให้โกณฑัญญะและพรรคพวกที่ติด-ตามมาขึ้นจากเรือ โกณฑัญญะยิงธนูศักดิ์สิทธิ์ ไปตรึงเรือของพระนางใบสน ผู้คนชาวฟูนันล้มตายลงเป็นอันมาก พระนางใบสนจึงยอมอ่อนน้อมและยอมอภิเษกสมรสด้วย  โกณฑัญญะตั้งตนเป็นกษัตริย์ปกครองอาณาจักรฟูนัน
ดอกเตอร์ควอริตย์ เวลส์ นักโบราณคดีชาวอังกฤษได้เขียนเรื่องราวของกษัตริย์ไศเลนทร์ไว้ว่า เมื่อราว พ.ศ. ๑๒๗๓ - ๑๗๔๐ หลังจากที่อินเดียเกิดยุคเข็ญเป็นจลาจลอย่างหนักแล้ว  ราชวงศ์ปาละ  ได้เป็นใหญ่ในแคว้นเบงกอล  บ้านเมืองจึงได้สงบเป็นปกติดังเดิม  พระเจ้าแผ่นดินในราชวงศ์นี้นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน     อิทธิพลของแคว้นนี้ได้แพร่หลายไปทางตอนใต้ของอินเดียรวมทั้งแคว้นไมสอร์ ซึ่งมีกษัตริย์ราชวงศ์ดังคะ ที่เป็นเชื้อสายของกษัตริย์ราชวงศ์ปาละปกครองอยู่ด้วย แต่บ้านเมืองในแคว้นไมสอร์ขณะนั้น ไม่ค่อยเป็นปกตินัก จึงมีเจ้านายในราชวงศ์นี้พร้อมด้วยอนุชาสี่องค์ลงเรือข้ามน้ำทะเลขึ้นบกที่เมืองตะกั่วป่า แล้วเดินทางเข้ามาแย่งเอาเมือง ครหิหรือเมืองไชยาไว้ แล้วตั้งตนเป็นอิสระ ได้แผ่อาณาเขตออกไปจนตลอดแหลมมลายู และตั้งเป็นอาณาจักรศรีวิชัย
เรื่องการตั้งอาณาจักรศรีวิชัยและศูนย์กลางอาณาจักรศรีวิชัย ในวงการประวัติศาสตร์ไม่อาจยุติได้ว่ามีรายละเอียดอย่างไร หรือตั้งอยู่ที่ใดแน่ แต่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีทำให้ทราบว่า ดินแดนทางภาคใต้ของประเทศไทยลงไปจนถึงอินโดนีเซียได้รับอิทธิพลแบบศรีวิชัยแทบทั้งสิ้น
ถึงแม้เรื่องราวความเป็นมาของกษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร์  ที่ได้แก่   การครองอาณาจักรศรีวิชัยต่อมาจะไม่ค่อยตรงกันโดยตลอดก็ตาม แต่ก็ยังจับเค้าได้ว่า ผู้ที่ได้มาเป็นใหญ่ในดินแดนแถบนี้มาจากอินเดียอย่างแน่นอน และเป็นผู้หนึ่งที่ได้นำอารยธรรมของอินเดียมาเผยแพร่ยังดินแดน          แหลมทอง
ข้อสรุปนี้ผูกมัดเกินไป เนื่องจากไม่มีข้อมูลที่แน่นอนพอจะทำให้ทราบได้ว่าผู้ที่เข้ามามีอิทธิพลในดินแดนแถบนี้มาจากอินเดียโดยตรง ในฐานะพ่อค้าหรือพราหมณ์ แล้วเข้ามามีอิทธิพลทางการเมือง หรือทางวัฒนธรรมซึ่งจะพัฒนาต่อมาในดินแดนแถบนี้
อาณาจักรศรีวิชัย มีความเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยนั้น ในจดหมายเหตุหลวงจีนอี้จิง ซึ่งเดินทางมาศึกษาพระธรรมในอินเดีย ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ได้เขียนไว้ว่า “ระหว่างเดินทางยังได้แวะที่เกาะสมุยตราและว่าในเกาะนี้มีประเทศชื่อ ชีหลีทุดชี เป็นประเทศที่มีอารยธรรมสูง นับถือพุทธศาสนา-นิกายฝ่ายใต้” นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า “กรุงศรีวิชัยไปมาหาสู่ติดต่อกับอินเดีย มีเรือบรรทุกสินค้าไปจำหน่ายยังเมืองท่าต่าง ๆ ในอินเดีย”
อาณาจักรศรีวิชัยนี้เป็นตลาดใหญ่ย่านกลางของสินค้าเครื่องเทศในสมัยนั้น มีเรือกำปั่นบรรทุกสินค้าไปขายยังเมืองโอมาน   ประเทศอาหรับด้วย   พ่อค้าชาวอาหรับจึงรู้จักกรุงศรีวิชัยและได้จดหมายเหตุไว้ แต่เรียกกรุงศรีวิชัยว่า กรุงซามะดะ มีข้อความปรากฏในหนังสือเรื่องแหลมอินโดจีนสมัยโบราณของพระยาอนุมานราชธนเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงของกรุงศรีวิชัยในจดหมายเหตุชาวอาหรับอยู่ตอนหนึ่งว่า
“รายได้แผ่นดินของพระเจ้าไศเลนทร์ส่วนหนึ่ง ได้จากค่าอาชญาบัตรไก่ชน ไก่ตัวใดชนะ ไก่นั้นตกเป็นสิทธิของมหาราช เจ้าของจะต้องนำทองคำไปถวาย สิ่งหนึ่งที่พ่อค้าอาหรับเหล่านี้เห็นควรกล่าวคือ ในเวลาเช้าทุกวัน มหาราชเสด็จประทับในพระราชมณเฑียรซึ่งหันหน้าสู่สระใหญ่ ขณะนั้นมหาดเล็กนำอิฐทองคำเข้ามาถวายแผ่นหนึ่ง พระองค์ทรงตรัสให้ข้าราชการโยนอิฐทองคำลงไปในสระทันที สระนี้น้ำขึ้นลงเพราะมีคลองหรือลำธารน้อย ๆ  เชื่อมถึงสระกับทะเล  เวลาน้ำขึ้นก็ท่วมกองอิฐ-ทองคำซึ่งโยนสะสมไว้ทุกวัน เวลาน้ำลดก็มองเห็นอิฐทองคำเหล่านั้นโผล่ขึ้นเหนือน้ำ เมื่อต้องแสงแดดส่องแลเหลืองอร่าม มหาราชตรัสว่า “จงดูพลังของเรา” การโยนอิฐลงในสระนั้นเป็นประเพณีที่มหาราชแห่งกรุงซามะดะทุกองค์ประพฤติสืบกันมา ถ้ามหาราชองค์ใดสิ้นพระชนม์ลง มหาราชองค์ที่สืบราช-สมบัติต่อก็เก็บรวบรวมอิฐทองคำเหล่านั้นไปหลอม แล้วทรงแจกจ่ายให้ปันแก่พระญาติวงศ์และข้าราช-การ เหลือนอกนั้นประทานแก่คนยากจน จำนวนแผ่นอิฐทองคำของมหาราชองค์หนึ่ง ๆ ที่โยนสะสมไว้ในสระเมื่อถึงเวลาสิ้นพระชนม์ก็เก็บรวบรวมและจดจำนวนลงบัญชีไว้ถูกต้อง ถ้าองค์ใดเมื่อสิ้นพระชนม์ไปแล้วปรากฏว่ามีแผ่นอิฐทองคำที่สะสมไว้เป็นจำนวนมากที่สุดก็นิยมยกย่องมหาราชองค์นั้นอย่างสูงเพราะถือว่าได้เสวยราชย์มานานปี จำนวนอิฐทองคำจึงมีมาก”
แม้อาณาจักรศรีวิชัยจะเจริญมากดังได้กล่าวมาแล้วและมีอายุมากนานถึง ๖๐๐ ปี แต่ก็ไม่สามารถชี้ได้ชัดลงไปว่า เมืองหลวงหรือราชธานีของอาณาจักรศรีวิชัยอยู่ที่ใดแน่ ต้องใช้หลักฐานทางโบราณคดีเข้าช่วย จนกว่าจะเป็นที่ยอมรับกันแน่นอน ซึ่งก็ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ ได้มีผู้สันนิษฐานกันหลายอย่างว่าจะอยู่ที่ใดแน่  เช่น   ศาสตราจารย์ยอร์จ เซเดส์   สันนิษฐานว่าอาณาจักรศรีวิชัยนั้นมีราชธานีอยู่ที่เกาะสุมาตรา ตั้งอยู่ทางทิศระวันตกของเมืองปาเล็มบังปัจจุบันนี้ และเมื่อมีอำนาจมากขึ้นจึงได้แผ่อาณาเขตขึ้นมาครอบครองตลอดแหลมมลายูจนถึงดินแดนเมืองไชยา ส่วนนักโบราณคดีชาวอินเดียคนหนึ่งชื่อ มาชุมทาร์ เห็นว่าราชธานีของอาณาจักรศรีวิชัยไม่ควรอยู่ที่ปาเล็มบังในเกาะสุมาตรา เพราะในเกาะสุมาตราไม่ปรากฏซากบ้านเมืองสมกับเป็นราชธานีแห่งอาณาจักรศรีวิชัยอันใหญ่โตแต่อย่างใดเลย ที่ถูกควรจะอยู่ที่ใดที่หนึ่งในแหลมมลายูมากกว่า
ดร. ควอริตย์ เวลส์ นักโบราณคดีชาวอังกฤษ เห็นว่าการหาหลักฐานจากหนังสืออย่างเดียวไม่พอ   จึงได้ลงทุนสำรวจค้นคว้าด้วยตนเอง  โดยเดินทางตัดข้ามแหลมมลายูจากตะกั่วป่ามาบ้านดอน ตามแบบที่ชาวอินเดียใช้เป็นเส้นทางเดิน ในที่สุดก็ลงความเห็นว่าราชธานีของราชวงศ์      ไศเลนทร์ ซึ่งครอบครองอาณาจักรศรีวิชัยควรจะเป็นที่เมืองไชยา เพราะปรากฏว่ามีเมืองโบราณหลายแห่งรอบ ๆ เมืองไชยา และยังพบโบราณวัตถุโบราณสถาน เช่น พระบรมธาตุไชยา พระพุทธรูป และพระโพธิสัตว์ เป็นจำนวนมากในเมืองไชยาอีกด้วย  แม้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรง-   ราชานุภาพก็ทรงเขียนเกี่ยวกับเรื่องเมืองไชยา ความตอนหนึ่งว่า
เมืองไชยาเป็นเมืองใหญ่มาก ใหญ่กว่าเมืองไหน ๆ ในแหลมมลายู เพราะมีแม่น้ำหลวง (ตาปี) ไหลมาออกที่นั่น สืบตามลำน้ำขึ้นไปถึงคีรีรัฐนิคมมีทางข้ามไปลงแม่น้ำตะกั่วป่า ลงทางตะกั่วป่าได้อย่างสบาย ทางสายนี้เป็นทางที่พวกอินเดียลงมา เมื่อพิจารณาเทียบกับเมืองนครฯ แล้วจะเห็นได้ว่านครฯ มีหาดทรายแก้วยาวเพียงแห่งเดียว ทางตะวันออกก็เป็นชายเพือยจนจดทะเล ทางตะวันตกก็เป็นที่ลุ่มแม่น้ำก็เป็นแม่น้ำน้อย ที่ทำกินเพียงแต่พอมี ฉะนั้น จะถือเป็นเมืองใหญ่โตไม่ได้ด้วยเหตุนี้ จึงรับรองได้ด้วยวิชาโบราณคดีว่า เมืองนครศรีธรรมราชนั้นไม่มีอะไรนอกจากพระมหาธาตุซึ่งเป็นชิ้นหลัก ตำนานเมืองนครฯ ปรากฏว่าพวกแขกพงศาวดารลังกามาเขียนในนครฯ ก็มี เชื่อได้ยาก พระมหาธาตุที่นครฯ นั้นก็เป็นของที่มีกำหนดสร้างแน่นอนค้นได้  ส่วนที่ไชยานั้นมีมาก  มหาธาตุก็มี วัดแก้วก็มี  วัดเวียงก็มี ได้เคยค้นเมืองไชยาล้ำไปถึงเมืองชุมพร ท่าแซะ ฯลฯ ไม่พบเมืองเก่า เมืองเก่าคงมีเพียงเมืองไชยาเมืองเดียว เมืองโบราณเดิมเห็นจะอยู่ที่เมืองไชยาแน่นอนไม่มีที่สงสัย ส่วนที่นครฯ นั้นเป็นเมืองที่เกิดขึ้นสมัยที่ไชยาเจริญ แต่เกิดภายหลังจารึกที่พบทั้งหมดอาจอยู่ที่ไชยา
ปัจจุบัน ไชยาเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ซึ่งมีพระธาตุไชยาอยู่ในวัดพระ-บรมธาตุไชยาราชวรวิหาร นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ในสมัยศรีวิชัยเป็นอันมากที่ขุดค้นพบที่ไชยาในบริเวณใกล้เคียงมีวัดเก่า ๆ เช่นเจดีย์วัดหลวงซึ่งยังมีฐานเจดีย์สมัยศรีวิชัยปรากฏอยู่ เข้าใจว่าอาจจะเป็นซากปราสาทอิฐที่พระเจ้ากรุงศรีวิชัยสร้าง ดังที่กล่าวไว้ในศิลาจารึก เจดีย์วัดแก้ว เป็นเจดีย์สมัยศรีวิชัยที่ยังดีอยู่มาก และวัดเวียง ซึ่งเป็นที่พบจารึกกรุงศรีวิชัย พ.ศ. ๑๓๑๘ กล่าวถึงพระเจ้าราชาธิราชองค์หนึ่งด้วย พระนามศรีวิชเยศวรภุมดี ศรีวิชเยนทรราชาศรีวิชัยนฤปติ ตอนต้นยกย่องว่า พระองค์มีคุณธรรมอันประเสริฐ พระพรหมบรรดาลให้พระองค์มาบังเกิดในโลก เพราะพระพรหมทราบประสงค์ที่จะทำให้พระธรรมมั่นคงในอนาคต พระองค์สร้างประสาทหินอันงามราวกับเพชรสามประสาทเป็นที่บูชาพระโพธิสัตว์ปัทมะปราณี พระผู้ผจญพระยามารและพระโพธิสัตว์วัชรปาณี ส่วนด้านหลังจารึกว่าองค์พระศรีวิชเยศวรภุมดีที่กล่าวถึงในด้านหน้านั้นเป็นพระเจ้าราชาธิราชทรงพระนามวิษณุและศรีมหาราช ทรงเป็นมหาราชแห่งไศเลนทร์วงศ์
ยิ่งกว่านั้นในจังหวัดสุราษฎร์ธานี บริเวณรอบอ่าวบ้านดอนนอกจากเมืองไชยายังมีร่องรอยของเมืองเก่าอีกหลายแห่ง เช่น เมืองกาญจนดิษฐ์ เมืองท่าทอง เมืองพุนพิน และเมืองเวียงสระ ชวนให้สันนิษฐานว่าเมืองไชยาจะต้องเป็นเมืองหลวง หรือราชธานีของอาณาจักรศรีวิชัย

สุราษธร์ธานีในสมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์
อาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมอำนาจลงตรงกับสมัยที่กรุงสุโขทัยกำลังเจริญรุ่งเรือง และได้ขยายอำนาจลงมาทางใต้ตลอดไปถึงแหลมมลายู เมืองไชยาซึ่งเป็นเมืองในอาณาจักรศรีวิชัย จึงตกอยู่ใต้การปกครองของกรุงสุโขทัย
ในสมัยอยุธยา มีเมืองสำคัญทางใต้คือ เมืองนครศรีธรรมราช เมืองไชยาเป็นเมืองที่ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ยังมีเมืองเล็ก ๆ ขึ้นตรงต่อเมืองนครศรีธรรมราช คือ เมืองคีรีรัฐนิคม เมืองท่าทอง
ครั้งเมื่อปี  พ.ศ. ๒๓๑๐  กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า   สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกู้อิสรภาพแล้วจึงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีสืบต่อจากกรุงศรีอยุธยา หลวงสิทธิ์ ปลัดผู้รักษาราชการเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อทราบข่าวเสียกรุงศรีอยุธยาจึงตั้งตนเป็นอิสระ เป็นเจ้าครองเมืองนครศรีธรรมราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้หลวงนายศักดิ์เป็นแม่ทัพไปปราบ เดินทัพผ่านเมืองปะทิว เมืองชุมพร เจ้าเมืองชุมพรคุมสมัครพรรคพวกเข้าสมทบกรุงธนบุรี เดินทัพถึงเมืองไชยา หลวงปลัดเมืองไชยารวบรวมสมัครพรรคพวกเข้าสมทบด้วย หลวงนายศักดิ์เห็นปลัดเมืองไชยาเป็นผู้มีความสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาแต่งตั้งเป็นพระยาวิชิตภักดีสงคราม (พระยาคอปล้อง) เป็นราชทินนามเมืองไชยาสืบมา ทัพหลวงนายศักดิ์เดินทางข้ามแม่น้ำตาปีที่ท่าข้าม (อำเภอพุนพิน) หลวงศักดิ์ตั้งรับทัพเมืองนครศรีธรรมราช ที่จะผ่านทางบ้านท่าหมาก อำเภอบ้านนาสาร ทัพหลวงนายศักดิ์ถูกตีล่าถอยกลับไป แล้วไปตั้งทัพรวมไพร่พลเสบียงอาหารอยู่ที่เมืองไชยา เมื่อไพร่พลหายเหนื่อยแล้วหลวงนายศักดิ์ได้ส่งกำลังข้ามแม่น้ำตาปีอีก แต่ถูกทัพเมืองนครศรีธรรมราชตีพ่ายกลับมาอีก เป็นอันว่าทัพหลวงนายศักดิ์ไม่สามารถจะเอาชนะทัพหลวงนายสิทธิ์ได้ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงต้องยกทัพหลวงโดยทางชลมารคออกแทนเอง โดยทรง-พลหลวงมาขึ้นที่ ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา แล้วเสด็จไปสรงน้ำละลอตโขลนทวารที่สระน้ำคงคาไชยา ทัพเมืองนครศรีธรรมราชจึงได้สงบราบคาบมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
พอถึงรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าพระยานคร (น้อย) เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ได้มาสร้างอู่ต่อเรือพระที่นั่ง และเรือรบถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ที่บ้านดอนนี้ แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านดอนนี้มีความสามารถขนาดต่อเรือรบได้ นับว่ามีฝีมือยอดเยี่ยมมากในสมัยนั้น
ครั้นต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมืองนครศรีธรรมราชอ่อนแอลงเพราะสิ้นบุญเจ้าพระยานคร (น้อย) ขณะนั้นบ้านดอนมีความเจริญรุ่งเรืองมาก และมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ย้ายเมืองท่าทองมาตั้งที่บ้านดอน โดยการย้ายสำนักราชการเมืองมาทั้งหมด  แล้วพระราชทานเมืองใหม่ที่มาตั้งที่บ้านดอนว่า เมือง-  กาญจนดิษฐ์ และยกฐานะเมืองกาญจนดิษฐ์เป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ในเวลาต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองกาญจนดิษฐ์ (บ้านดอน) และเมืองคีรีรัฐนิคมเข้ามาเป็นเมืองเดียวกัน เรียกว่า เมืองไชยา ให้รวมเมืองไชยา เมืองชุมพร และเมืองหลังสวน ขึ้นเป็นมณฑลหนึ่งเรียกว่า มณฑลชุมพร ตั้งศาลา-กลางอยู่ที่ชุมพร  ต่อมาได้ย้ายศาลากลางมณฑลมาตั้งที่บ้านดอน  ในบริเวณเดียวกับศาลากลางเมืองไชยา ยกฐานะเมืองท่าทองเป็นอำเภอ เอาชื่อเมืองกาญจนดิษฐ์ให้เป็นอำเภอ ขนานนามว่าเมืองไชยา ยกฐานะอำเภอกาญจนดิษฐ์ ลดฐานะเมืองไชยาเดิมเป็นอำเภอ เรียกว่า อำเภอเมืองไชยา และได้แบ่งเขตการปกครองซอยลงไปอีก ท้องที่ใดมีคนมากเป็นชุมชนหนาแน่นพอสมควรหรือท้องที่กว้างขวางเกินไปไม่สะดวกแก่การปกครอง ก็แบ่งแยกไปตั้งเป็นอำเภอและกิ่งอำเภอขึ้นใหม่อีกหลายอำเภอ ต่อมาได้มีระบบการปกครองกำหนดออกมาอีกว่า อำเภออันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดนั้น ให้เรียกว่าอำเภอเมือง อำเภอเมืองไชยาจึงถูกตัดคำว่าเมืองออกเสีย คงเรียกแต่อำเภอไชยาเฉย ๆ มาจนทุกวันนี้ ในเวลาเดียวกันกับอำเภอบ้านดอนก็กลายเป็นอำเภอเมืองบ้านดอน ซึ่งเป็นอำเภอที่ตั้งศาลากลางจังหวัด และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอเมืองบ้านดอน เป็นอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ตามชื่อจังหวัดที่ได้รับพระราชทาน
*ก่อนที่บ้านดอนจะได้กลายเป็นอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน มีประวัติความเป็นมาดังนี้
ดินแดนบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ที่เรียกว่า “อ่าวบ้านดอน” ในทุกวันนี้ นักโบราณคดีได้สันนิษฐานไว้ว่า มีผู้คนชาวพื้นเมืองอาศัยอยู่กันมาแต่หนึ่งพันสี่ร้อยปีก่อนแล้ว  ซึ่งก็คงตกประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๒ นั่นเอง ครั้งกระนั้นมีชาวอินเดียแล่นเรือมาถึงเมืองตะกั่วป่า แล้วเดินทางเลาะเสียบลำน้ำตะกั่วป่าไปสู่เชิงเขาหลวง ข้ามเขาเดินเลียบริมแม่น้ำหลวงเรื่อยมาจนถึงปากอ่าวบ้านดอน ชาวอินเดียเป็นผู้มีวิชาความรู้เหนือชนพื้นเมือง จึงได้แพร่วัฒนธรรมของตนไว้ในดินแดนเหล่านี้ สมัยนั้นเป็นเวลาแห่งความรุ่งเรืองของอาณาจักรศรีวิชัย  ซึ่งนักโบราณคดียังถกเถียงกันไม่เป็นที่ยุติว่า  นครหลวงแห่งอาณาจักรศรีวิชัยอยู่ในสุมาตราหรือที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี กันแน่
รอบอ่าวบ้านดอนมีเมืองสำคัญ ๆ อันเป็นที่มาของจังหวัดสุราษฎร์ธานีในปัจจุบันอยู่หลายเมือง คือ เมืองไชยา ตั้งอยู่ ณ ริมน้ำท่าทองอุแท อยู่ในบริเวณอำเภอกาญจนดิษฐ์ ปัจจุบัน และเมืองคีรีรัฐนิคมตั้งอยู่ ณ ริมฝั่งแม่น้ำพุมดวง เดี๋ยวนี้อยู่ในเขตอำเภอคีรีรัฐนิคมนั่งเอง
เมืองทั้งสามนี้คือเมืองเก่าแก่ อันเป็นต้นกำเนิดของจังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือบ้านดอนวันนี้
ในหนังสือรวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช ของกรมศิลปากร ซึ่งพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ มีข้อความตอนหนึ่งในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวไว้ว่า
“เมื่อพระพนมวังแลนางสะเดียงทอง และศรีราชาออกมาสร้างเมืองนครดอนพระนั้น และพระพนมวัง แลนางสะเดียงทองก็มาตั้งบ้านอยู่จงสระ อยู่นอกเมืองดอนพระ สร้างป่าเป็นนา สร้างนาทุ่งเขน สร้างนาท่าทอง สร้างนาไชยคราม สร้างนากะนอม สร้างนาสะเพียง อีกตอนหนึ่งกล่าวถึงเมืองท่าทองไว้ว่า  พญาศรีธรรมาโศกราชก็ทูลกรุณาว่า  เมืองท่าทองใต้หล้าฟ้าเขียวนี้  ยากเงินทอง  ข้าพเจ้า-พระบาทอยู่หัวขอนำเงินเล็กปิดตรานะโมประจำแต่ไปเมื่อหน้า”
ข้อความในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชเกี่ยวกับเมืองท่าทองนี้ไม่มีศักราชระบุไว้แน่นอน เมืองท่าทองนี้จะตั้งมาแต่ครั้งไหน แต่มีข้อความที่ชวนให้สืบสาวความเก่าแก่ของเมืองท่าทองได้ เมื่อตำนานนี้พูดถึงเงินนะโม อันเป็นตราที่ใช้ในสมัยโบราณก่อนหน้าที่จะเกิดกรุงศรีอยุธยาคือก่อน พ.ศ. ๑๘๙๓  ในสมัยอยุธยาได้นำเงินพดด้วงเลียนแบบเงินตรานะโมที่เคยใช้กันมาก่อน  ดังนั้น  เมื่อเมือง ท่าทองเกิดข้าวยากหมากแพง ยากเงินยากทอง เจ้าเมืองจึงนำเงินตรานะโมมาใช้ที่ท่าทอง เป็นอันสันนิษฐานได้ตามหลักโบราณคดีว่า เมืองท่าทองจะต้องเป็นเมืองมาแล้วในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ตรงกับสมัยสุโขทัย มีหลักฐานทางโบราณวัตถุเก่าแก่อยู่หลายแห่ง เช่น ที่วัดคูหา วัดเสมาและวัดม่วงงาม เป็นต้น
เมืองท่าทองเดิมทีเดียวตั้งอยู่ที่บ้านสะท้อน มีเรื่องเก่าเป็นทำนองตำนานว่า สมัยเมื่อหลายปีมาแล้ว ริมคลองแห่งนี้มีต้นสะท้อนอยู่เป็นดง ต่อมานายมากชาวเมืองนครศรีธรรมราช อพยพผู้คนมาตั้งทำกินที่นี่จนมีฐานะร่ำรวย จึงเปลี่ยนชื่อบ้านสะท้อนเป็นบ้านท่าทอง โดยมีพระวิสูตรสงครามราชภักดี เป็นเจ้าเมือง ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ อันตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า-จุฬาโลกมหาราช ปรากฏว่า พระเจ้าปดุงกษัตริย์พม่า ได้ยกทัพมาตีหัวเมืองภาคใต้ตั้งแต่เมืองชุมพร หลังสวน ไชยา ลงมาจนถึงเมืองท่าทอง นครศรีธรรมราช หัวเมืองเหล่านี้ถูกพม่ายึดอยู่ระยะหนึ่ง สมเด็จพระบรมราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงนำกองทัพจากกรุงเทพฯ ไปขับไล่พม่าออกไปจนหมดสิ้น
แต่จากการทำสงครามครั้งนี้ เมืองท่าทองถูกทำลายมากเกินกว่าที่จะบูรณะให้ดีดังเดิมได้ ดังนั้น หลังสงครามนี้แล้ว ผู้รั้งเมืองท่าทองอันมีนามว่านายสม จึงได้ย้ายเมืองท่าทองจากบ้านสะท้อนมาที่บ้านกะแดะ (อันเป็นที่ตั้งอำเภอกาญจนดิษฐ์ในปัจจุบัน) ยังคงเรียกว่าเมืองท่าทองตามเดิม นายสม ผู้ตั้งเมืองนั้นได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงวิเศษ ครองเมืองท่าทองอยู่ที่ริมคลองกะแดะ ไม่นานก็พิจารณาย้ายเมืองมาตั้งริมคลองมะขามเตี้ย (เขตอำเภอเมืองปัจจุบัน) เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๓๖ หลวงวิเศษได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระวิสูตร ครองเมืองท่าทองจนถึงปี พ.ศ. ๒๓๗๕ ก็ถึงแก่กรรม บุตรชาย       พระวิสูตรได้ครองเมืองแทน มีบรรดาศักดิ์เป็นพระพิทักษ์สุนทร
ในระหว่างที่เมืองท่าทองมาตั้งอยู่ริมแม่น้ำมะขามเตี้ยนี่เอง ชุมชนแห่งใหม่ได้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ณ บริเวณที่ดอนริมแม่น้ำหลวง สถานที่แห่งนี้เจ้าพระยานครได้ส่งคนมาต่อเรือกำปั่นเดินทะเล เพราะหาไม่ได้ง่ายจากริมแม่น้ำหลวง เนื่องจากบริเวณเป็นที่ดอนนี่เอง ชาวบ้านก็เลย เรียกกันว่า บ้านดอน ส่วนทางด้านเมืองท่าทองนั้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยานคร (น้อย) ได้ส่งบุตรชายชื่อพุ่ม มาเป็นเจ้าเมือง พอถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเจ้าพระยานคร (น้อย) ถึงแก่อสัญญกรรมแล้ววันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ วันนั้นนับเป็นวันสำคัญของชาวเมืองไชยา ดังจดหมายเหตุระยะทางเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ พุทธศักราช ๒๔๕๘ บันทึกไว้ว่า
“วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ วันนี้มีกระแสพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งผู้แทนเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ให้ประกาศพระราชปรารภเรื่องที่บ้านดอนซึ่งตั้งเป็นเมืองไชยาใหม่ แลตั้งที่ว่าการมณฑลชุมพรอยู่นั้น ประชาชนก็คงเรียกว่าบ้านดอนอยู่ตามเดิมและเมืองไชยาเก่าซึ่งเปลี่ยนเรียกว่า อำเภอพุมเรียง แต่ราษฎรก็คงเรียกชื่อเดิม เมืองไชยา เป็นไชยาเก่า ไชยาใหม่ สับสนกันไม่เป็นที่ยุติลงในราชการ  จึงโปรดเกล้าฯ  พระราชทานนามเมืองที่บ้านดอนใหม่ว่า  เมือง    สุราษฎร์ธานี เปลี่ยนนามอำเภอพุมเรียง เรียกว่า อำเภอเมืองไชยา เพราะเป็นชื่อเก่า……”
ในวันเดียวกันนี้เอง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนนามแม่น้ำหลวงเป็นแม่น้ำตาปี
การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนชื่อเมืองไชยาที่บ้านดอนเป็น   สุราษฎร์ธานี  ก็เพราะทรงสังเกตเห็นว่า  ชาวเมืองนี้เป็นคนดีสุภาพเรียบร้อย  และการที่ทรงเปลี่ยนชื่อแม่น้ำหลวงเป็นตาปีนั้น เล่ากันว่า พระองค์ทรงนำแบบมาจากอินเดีย ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งตั้งต้นจากขุนเขาสัตตปุระ ไหลลงสู่มหาสมุทรอินเดียทางอ่าวแคมเบย์ ชื่อแม่น้ำตาปติ  ทางฝั่งซ้ายก่อนที่แม่น้ำ- ตาปติจะออกปากอ่าวนี้ มีเมือง ๆ หนึ่งชื่อเมืองสุรัฏร์ ตั้งอยู่ ด้วยเหตุนี้เมื่อพระองค์ทรงเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นสุราษฎร์ธานี (สุรัฏร์) จึงทรงเปลี่ยนแม่น้ำหลวงเป็นตาปีด้วย





ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดสุราษฎร์ธานี, พุทธศักราช ๒๕๓๐       
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #145 เมื่อ: 10 พฤศจิกายน 2010 09:06:33 »

พัทลุง
ประวัติศาสตร์เมืองพัทลุง
เมืองพัทลุงมีประวัติศาสตร์ยาวนานนับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์และสืบต่อมาในสมัยประวัติศาสตร์ โดยมีชุมชนเกิดขึ้นทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลาก่อนแล้วเกิดเป็นเมืองขึ้นทางฝั่งตะวันออกเรียกชื่อว่าเมืองสทิงพระ มีอำนาจครอบคลุมรอบลุ่มทะเลสาบสงขลาประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ต่อมาถูกกองเรือพวกโจรสลัดรุกราน จึงมีการย้ายศูนย์การปกครองไปอยู่บริเวณบางแก้ว ฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลา เรียกชื่อเมืองใหม่ว่า เมืองพัทลุง มีอำนาจครอบคลุมรอบลุ่มทะเลสาบสงขลาแทนที่เมืองสทิงพระ เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเมืองสงขลาเป็นเมืองปากน้ำ แต่เมืองพัทลุงก็มีฐานะเป็นเมืองบริวารของแคว้นนครศรีธรรมราชมาตลอด แม้ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงดึงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง แต่เมืองพัทลุงก็ยังตกเป็นเมืองบริวารของนครศรีธรรมราช ต่อมาในสมัยระบบกินเมืองระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ถึงกลางพุทธศตวรรษ  ที่ ๒๕ ราชธานีได้รับผลประโยชน์เพียงน้อยนิด โดยเฉพาะในสมัยที่ตระกูล ณ พัทลุง และตระกูลจันท-โรจวงศ์ปกครองเมือง ราชธานีแทบจะแทรกมือเข้าไปไม่ถึงทั้งๆ ที่แยกเมืองสงขลาออกจากเมืองพัทลุงไปนานแล้ว ขณะเดียวกันมหาอำนาจตะวันตกก็คุกคามเข้ามารอบด้าน เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรงจัดตั้งรัฐบาลกลางเข้มแข็งขึ้นแล้วในกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ก็ทรงเร่งรัดให้กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยรีบจัดการปกครองหัวเมืองในแหลมมาลายูเสียใหม่ เพื่อ ดึงอำนาจเข้าสู่พระราชวงศ์จักรี ทำให้เมืองพัทลุงถูกรวมการปกครองเข้ามณฑลนครศรีธรรมราชในสมัยระบบเทศาภิบาล ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๔๗๖ รัฐบาลพยายามลดอำนาจและอิทธิพลของตระกูล ณ พัทลุง และตระกูลจันทโรจวงศ์ตลอดมาในสมัยระบบเทศาภิบาล แต่แล้วเมื่อมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรครั้งแรกในสมัยระบบประชาธิปไตย เชื้อสายของตระกูล ณ พัทลุง กลับได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดพัทลุง ปัจจุบันจังหวัดนี้กลับกลายเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดของภาคใต้ เพื่อเข้าใจถึงเรื่องราวดังกล่าวผู้เขียนจะแบ่งประวัติศาสตร์พัทลุงออกเป็น ๒ สมัย คือ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์
สมัยก่อนประวัติศาสตร์
สันนิษฐานได้จากหลักฐานทางโบราณวัตถุคือ ขวานหินขัดสมัยหินใหม่ หรือชาวบ้าน เรียกว่า ขวานฟ้าที่พบจำนวน ๕๐-๖๐ ชิ้น(๑) ในเขตท้องที่อำเภอเมือง อำเภอเขาชัยสน และอำเภอ ปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ปรากฏว่าท้องที่เหล่านี้ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์หรือประมาณ ๒,๕๐๐-๔,๐๐๐ ปี มาแล้ว(๒) มีชุมชนเกิดขึ้นแล้ว โดยใช้ขวานหินขัดเป็นเครื่องมือสับตัด
สมัยประวัติศาสตร์
อายุตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่  ๑๒ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันพอจะแบ่งได้เป็น ๔ สมัย คือ สมัยสร้างบ้านแปลงเมือง สมัยระบบกินเมือง สมัยระบบเทศาภิบาล และสมัยระบบประชาธิปไตย

สมัยสร้างบ้านแปลงเมือง
ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒–๒๐  เมื่อบริเวณสันทรายขนาดใหญ่ กว้าง ๕–๑๒ กิโลเมตร ยาว ๘๐ กิโลเมตรทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลาหรือบริเวณที่ต่อมาภายหลังชาวพื้นเมืองเรียกว่า แผ่นดินบก ซึ่งเป็นที่ดอน เป็นแผ่นดินเกิดใหม่ชายฝั่งทะเลหลวง ทำให้ผู้คนอพยพจากบริเวณฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลา ไปตั้งหลักแหล่งทำมาหากินมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสภาพภูมิ-ประเทศบริเวณนี้มีความเหมาะสมหลายประการกล่าวคือ เป็นสันดอนน้ำไม่ท่วม สามารถตั้งบ้านเรือนสร้างศาสนสถานได้สะดวกดี มีที่ราบลุ่มกระจายอยู่ทั่วไปกับที่ดอนเป็นบริเวณกว้างขวางพอที่จะเพาะปลูกได้อย่างพอเพียง ประกอบกับเป็นบริเวณอยู่ห่างไกลจากป่าและภูเขาใหญ่ ภูมิอากาศดี  ไม่ค่อยมีไข้ป่ารบกวน อีกประการหนึ่ง สามารถติดต่อค้าขายทางทะเลกับเมืองอื่นที่อยู่ห่างไกลได้สะดวก เพราะอยู่ติดกับทะเล ชุมชนแถบแผ่นดินบกจึงเจริญเติบโตรวดเร็วกลายเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งของแหลมมาลายูตอนเหนือไปในที่สุด ศูนย์กลางที่ตั้งเมืองอยู่บริเวณสทิงพระ เรียกชื่อเมืองว่าสทิงพระ มีอำนาจครอบคลุมชุมชนรอบทะเลสาบสงขลา(๓) ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นชุมชนนับถือศาสนาฮินดู(๔) มีฐานะเป็นหัวเมืองขึ้นของบรรดารัฐต่างๆ  ที่เข้มแข็งและมีนโยบายจะควบคุมเส้นทางการค้าที่ผ่านทางคาบสมุทรมาลายูมาตลอดเวลา เช่น รัฐฟูนันลังกาสุกะ ศรีวิชัย(๕)
ต่อมาไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเมื่อใดเมืองสทิงพระถูกกองทัพเรือ จากอาณาจักรทะเลใต้ชวา สุมาตรายกมาทำลาย เมืองเสียหายยับเยิน พลเมืองแตกกระจัดกระจายอพยพหนีภัยไปอยู่ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลากันมาก เพราะตัวเมืองอยู่ใกล้ทะเลหลวง คือ ห่างเพียง ๑ กิโลเมตร ทำให้ข้าศึกเข้าถึงได้ง่ายโดยไม่ทันรู้ตัว เมืองสทิงพระจึงอ่อนกำลังลงมาก หลังจากนั้นพวกโจรสลัดยกมาปล้นสดมภ์ และในที่สุดก็สามารถยึดเมืองได้ ทำให้มีการย้ายศูนย์การปกครองไปอยู่ทางฝั่งตะวันตก โดยย้ายไปอยู่บริเวณบางแก้ว หรือปัจจุบันเรียกว่า โคกเมือง อยู่ในอำเภอเขาชัยสน ซึ่งเป็นชุมชนอยู่ก่อนแล้ว  และชื่อเมืองพัทลุงน่าจะเกิดขึ้นในยุคนี้(๖) คือประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙(๗)มีอำนาจครอบคลุมชุมชนรอบทะเลสาบสงขลาแทนเมืองสทิงพระ ชาวเมืองนับถือพุทธศาสนาเป็นส่วนมาก
ในขณะเดียวกันแคว้นตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช ซึ่งมีศูนย์อำนาจอยู่ในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน และมีกำเนิดมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๗-๘(๘)สามารถขยายอำนาจเข้ามาปกครองดินแดนทั้งแหลมมาลายู โดยปกครองดินแดนในรูปของเมืองสิบสองนักษัตร(๙) ทำให้เมืองพัทลุงต้องกลายเป็นเมืองบริวารของนครศรีธรรมราช ดังปรากฏในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชว่า เมืองพัทลุงเป็นเมืองหนึ่งในเมืองสิบสองนักษัตรของนครศรีธรรมราช ใช้ตรางูเล็กเป็นตราของเมือง(๑๐)และในตำนานนางเลือดขาวตำนานเมืองพัทลุงก็กล่าวถึงความเกี่ยวข้องกับราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชของนครศรีธรรมราชด้วย ดังข้อความในหนังสือเอกสารประวัติศาสตร์เมืองพัทลุง ซึ่งแต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๒ รัชสมัยสมเด็จพระภูมินทรราชา (ขุนหลวงท้ายสระ) แห่งกรุงศรีอยุธยาตอนหนึ่งว่า
“นางและเจ้าพระยา (คือนางเลือดขาวและกุมารผู้เป็นสามี) กรีธาพลกลับหลังมายังสทังบางแก้วเล่าแล กุมารก็เสียบดินดูจะสร้างเมือง ก็มาถึงแขวงเมืองนครศรีธรรมราชและก็สร้างพระพุทธ-รูปเป็นหลายตำบลจะตั้งเมืองมิได้ เหตุน้ำนั้นเข้าหาพันธุ์สักบมิได้ ก็ให้มาตั้ง ณ เมืองนครศรีธรรมราช แลญังพระศพธาตุแลเจ้าพระญา (แลเจ้าพระญา คือเจ้าพระญา) ศรีธรรมโศกราช ลูกเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราชนั้น” (๑๑)
 เมืองพัทลุงมีความสัมพันธ์กับแคว้นนครศรีธรรมราชอย่างใกล้ชิด เป็นเมืองพี่เมืองน้องกันเพราะแม้เมืองพัทลุงจะขึ้นกับแคว้นนครศรีธรรมราช แต่มีลักษณะเป็นเมืองอิสระในทางการปกครองอยู่มาก สังเกตจากสมุดเพลาตำรากล่าวว่า แต่เดิมนั้นเมืองพัทลุงเก่าครั้งมีชื่อว่า เมืองสทิงพระ ทางฝ่ายอาณาจักรเจ้าเมืองมีฐานะเป็นเจ้าพญาหรือเจ้าพระยา ทางฝ่ายศาสนจักรเมืองพัทลุงมีฐานะเป็นเมืองพาราณสี แสดงให้เห็นว่าเมืองพัทลุงเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่มีบริวารมากศูนย์กลางจึงมีฐานะเป็นกรุง คือกรุงสทิงพระคล้ายกับเป็นเมืองหลวงแห่งหนึ่งทีเดียว และมีความสำคัญทางพุทธศาสนามาก เปรียบได้กับเมืองพาราณสี (ชื่อกรุงที่เป็นราชธานีของแคว้นกาศีของอินเดีย) ส่วนแคว้นนครศรีธรรมราชเปรียบประดุจเป็นเมืองปาฏลีบุตร (เป็นเมืองหลวงแคว้นมคธ) ฉะนั้นแคว้นนครศรีธรรมราชและเมืองพัทลุงคงจะเคยเป็นเมืองศูนย์กลางทางพุทธศาสนาเก่าแก่แห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับเมืองพัทลุงนั้นติดต่อกับหัวเมืองมอญและลังกามานานไม่ต่ำกว่า พ.ศ. ๑๘๐๐ เป็นต้นมาแล้ว พระสงค์คณะลังกาป่าแก้วจึงเจริญมากในบริเวณนี้ วัดสำคัญ ๆ ไม่ว่าวัดสทัง วัดเขียน วัดสทิงพระ วัดพระโค ล้วนขึ้นกับคณะลังกาป่าแก้วทั้งสิ้น(๑๒)
ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ขณะที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งกรุงสุโขทัยเพิ่งเริ่มรุ่งเรืองขึ้น ทางแคว้นนครศรีธรรมราชยังคงมีอำนาจแผ่ไปทั่วแหลมมาลายู ดังปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุจีนว่า จักรพรรดิของจีนเคยส่งทูตมาขอร้องอย่าให้สยาม (นครศรีธรรมราช) รุกรานหรือรังแกมาลายู เลย(๑๓)เมืองพัทลุงจึงคงจะยังขึ้นกับแค้วนนครศรีธรรมราชต่อมาอีกกว่าศตวรรษเพราะในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นมานั้น อาณาเขตของอยุธยายังแคบมาก กล่าวคือ ทิศเหนือจดชัยนาท ทิศตะวันออกจดจันทบุรี ทิศตะวันตกจดตะนาวศรีและทิศใต้จดแค่นครศรีธรรมราช(๑๔)เพิ่งปรากฏหลักฐานการเปลี่ยนแปลงชัดเจนในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงดึงอำนาจทุกอย่างเข้าสู่ศูนย์กลางคือ เมืองหลวงทรงจัดระบบสังคมเป็นรูประบบศักดินา ในส่วนที่เกี่ยวกับการปกครองหัวเมือง ทรงประกาศใช้พระอัยการตำแหน่งนายทหารหัวเมืองใน พ.ศ. ๑๙๙๘ มีผลกระทบต่อเมืองพัทลุง และแคว้นนครศรีธรรมราช คือ แคว้นนครศรีธรรมราชถูกลดฐานะลงเป็นหัวเมืองชั้นเอกขึ้นตรงต่ออยุธยา ส่วนเมืองพัทลุงมีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นตรีขึ้นตรงต่ออยุธยาเช่นกัน เจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์ เป็นพระยา ถือศักดินา ๕๐๐๐(๑๕)

สมัยระบบกินเมือง
  ตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ (พ.ศ. ๑๙๙๘) ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕  (พ.ศ.
๒๔๓๙) ระบบกินเมือง หมายถึงระบบที่เจ้าเมืองมีอำนาจเก็บภาษี ใช้ไพร่ และเก็บเงินค่าราชการจากไพร่ ทั้งมีสิทธิ์ลงโทษราษฎรตามใจชอบ เจ้าเมืองและกรมการมักเป็นญาติกัน ราชธานีมิได้มีสิทธิ์แต่งตั้งเจ้าเมืองตามทฤษฎีที่กำหนดไว้ เพราะเจ้าเมืองเหล่านี้มีอยู่แล้ว, ราชธานีเป็นเพียงยอมรับอำนาจเจ้าเมือง ส่วนกรมการเมือง ราชธานีก็จะต้องแต่งตั้งตามข้อเสนอของเจ้าเมือง เพื่อป้องกันเหตุร้าย
การปกครองดังกล่าวทำให้ราชธานีพยายามจะลดอำนาจเจ้าเมืองพัทลุง และเข้าไปมีอำนาจเหนือเมืองพัทลุงตลอดมา โดยในระยะต้นของสมัยระบบกินเมือง อาศัยพุทธศาสนา กล่าวคือ สนับสนุนการก่อตั้งพระพุทธศาสนา ดึงกำลังคนจากอำนาจของเจ้าเมืองพัทลุงและนครศรีธรรมราชไปขึ้นกับวัด พระ และเพิ่มชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์อยุธยาในฐานะผู้ทรงอุปถัมภ์ศาสนา เช่นกรณีภิกษุอินทร์รวบรวมนักบวชราว ๕๐๐ คนขับไล่พม่าที่มาล้อมกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักร-
พรรดิ (พ.ศ. ๒๐๙๑ - ๒๑๑๑) โดยใช้เวทมนตร์ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงโปรดปรานมากจึงพระราชทานยศให้เป็นพระครูอินทโมฬีคณะลังกาป่าแก้ว (กาแก้ว) เมืองพัทลุง ควบคุมวัดทั้งในเมืองพัทลุงและนครศรีธรรมราชถึง ๒๙๘ วัด ทั้งทรงกัลปนาวัด คือกำหนดเขตที่ดินและแรงงานมาขึ้นวัดเขียนและวัดสทังที่พระครูอินทโมฬีบูรณะด้วย(๑๖)
หรือกรณีอุชงคตนะโจรสลัดมาเลย์เข้ามาปล้นโจมตีเมืองพัทลุงเสียหายยับเยิน เมื่อประ-
มาณ พ.ศ. ๒๑๔๑ - ๒๑๔๔ ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช(๑๗) ออกเมืองคำเจ้าเมืองหนีเอา    ตัวรอด ราษฎรส่วนหนึ่งต้องอพยพหนีไปอยู่ต่างเมือง อีกส่วนหนึ่งถูกพวกโจรกวาดต้อนไปวัดวาอารามก็ถูกเผา ทางราชธานีอ้างว่าศึกเหลือกำลัง จึงมิได้เอาผิดที่เจ้าเมืองทิ้งเมืองและกลับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองต่อไป (๑๘)แต่ก็มีการกัลปนาวัดในเมืองพัทลุงอีกครั้งใน พ.ศ. ๒๑๕๓(๑๙)
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการกัลปนาวัดจะทำให้อำนาจของเจ้าเมืองพัทลุงและนครศรีธรรมราชลดน้อยลง เพราะเจ้าเมืองมีอำนาจควบคุมไพร่พลโดยตรงเฉพาะในบริเวณที่อยู่นอกเขตกัลปนาเท่านั้น แต่ก็ทำให้มีอำนาจของฝ่ายฆราวาสกับพระสงฆ์สมดุลมากขึ้น มีผลให้เมืองพัทลุงกลับเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยชุมชนใหญ่ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลาทำหน้าที่เป็นเมืองหน้าด่าน ติดต่อกับเมืองต่างๆ และรับอารยธรรมจากอินเดีย ลังกา ส่วนทางฝั่งตะวันออกทำหน้าที่เป็นเมืองท่าค้าขายทางทะเล(๒๐) จนเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับเมืองไทย เช่น เอกสารของฮอลันดาบันทึกไว้ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๕ ว่าอังกฤษและฮอลันดาพยายามแข่งขันกันเข้าผูกขาดชื้อพริกไทยจากเมืองพัทลุงและเมืองในบริเวณใกล้เคียง ใน พ.ศ. ๒๑๖๓ เวนแฮสเซลพ่อค้าฮอลันดาแนะนำว่า ฮอลันดาควรจะจัดส่งเครื่องราชบรรณาการเจ้าเมืองลิกอร์ (นครศรีธรรมราช) เจ้าเมืองบูร์เดลอง (พัทลุง) และเจ้าเมืองแซงกอรา (สงขลา) เพื่อเอาใจเมืองเหล่านั้นไว้ เพราะสัมพันธ์ภาพกับเจ้าเมืองเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมาก(๒๑)ความรุ่งเรืองทางการค้านี้ประกอบกับสงครามไทยพม่า ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒ และการแย่งชิงอำนาจในราชธานีในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ทำให้อำนาจของอยุธยาที่มีต่อหัวเมืองมาลายูอ่อนแอลง เช่น เจ้าเมืองปัตตานี นครศรีธรรมราช(๒๒)สงขลาและพัทลุง(๒๓)ประกาศไม่ยอมรับการขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ของอยุธยา ขณะเดียวกันทางมาเลย์กลับมีกำลังแข็งขึ้นพวกมุสลิมจึงเป็นเจ้าเมืองในแถบหัวเมืองมาลายูมากขึ้นในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๓ อาทิ พระยารามเดโชเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ตาตุมะระหุ่มที่เชื่อกันว่าเป็นต้นตระกูล ณ พัทลุง อาจจะเป็นทั้งเจ้าเมืองพัทลุงและสงขลา (๒๔)
ทางอยุธยาพยายามดึงหัวเมืองดังกล่าวให้ใกล้ชิดกับอยุธยามากขึ้น โดยใช้นโยบายให้คนไทยไปปกครอง และสนับสนุนอุปถัมภ์ตระกูลของคนไทยที่มีผลประโยชน์ในการปกครองหัวเมืองแหลมมาลายู บางครั้งใช้ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ แต่ดูเหมือนนโยบายนี้จะไม่ได้ผลมากนักในเมืองพัทลุง  (๒๕)เพราะในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เจ้าเมืองที่เป็นเชื้อสายของตระกูล ณ พัทลุง ยังคงเป็นเจ้าเมืองพัทลุงที่นับถือศาสนาอิสลามสืบมาจนเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าใน พ.ศ. ๒๓๑๐  (๒๖)
เมื่อทางราชธานีเกิดการจราจล ขาดกษัตริย์ปกครอง พวกขุนนางและเชื้อพระวงศ์ต่างตั้งตัวเป็นอิสระ ทางหัวเมืองมาลายูพระปลัดหนูผู้รักษาราชการเมืองนครศรีธรรมราชตั้งตัวเป็นอิสระ เรียกว่าชุมชนเจ้านคร ปกครองหัวเมืองแหลมมาลายูทั้งหมด และดูเหมือนว่าบรรดาหัวเมืองอื่นๆ ก็ยอมรับอำนาจของเจ้านคร (หนู) แต่โดยดี เพราะไม่ปรากฏหลักฐานว่าเจ้านคร (หนู) ต้องใช้กำลังเข้าบังคับปราบปรามเมืองหนึ่งเมืองใดเลย แต่ใน พ.ศ. ๒๓๑๓ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงปราบปรามเจ้านคร (หนู) ได้สำเร็จแล้วก็โปรดเกล้าให้เจ้านราสุริวงศ์พระญาติปกครองเมืองนครศรีธรรมราช และให้รับผิดชอบในการดูแลหัวเมืองแหลมมาลายูแทนราชธานีด้วย(๒๗)ทำให้เมืองพัทลุงกลับมาขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชอีกครั้งในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๑๓–๒๓๑๙ คือ ตลอดสมัยเจ้านราสุริวงศ์ โดยโปรดเกล้าฯ ให้นายจันทร์มหาดเล็กมาเป็นเจ้าเมืองแทนเจ้าเมืองเชื้อสายตระกูล ณ พัทลุง(๒๘)
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #146 เมื่อ: 10 พฤศจิกายน 2010 09:07:02 »

พัทลุง ๒
การกระทำดังกล่าวคงทำให้ตระกูล ณ พัทลุง ต่อต้านเจ้าเมืองพัทลุงคนใหม่ เพราะในพงศาวดารเมืองพัทลุง ซึ่งเขียนโดยหลวงศรีวรวัตร(๒๙)(พิณ จันทโรจวงศ์) เชื้อสายของตระกูล ณ พัทลุง กล่าวว่า นายจันทร์มหาดเล็กเจ้าเมืองพัทลุงคนใหม่นั้นว่าราชการอยู่ได้เพียง ๓ ปีก็ถูกถอดออกจาก  ราชการและตำแหน่งเจ้าเมืองพัทลุงตกเป็นของตระกูล ณ พัทลุง อีกใน พ.ศ. ๒๓๑๕ และในปีนี้เองพระ-ยาพัทลุง (ขุนหรือคางเหล็ก) ตระกูล ณ พัทลุงได้เปลี่ยนท่าทีใหม่คือ เปลี่ยนศาสนามานับถือศาสนาพุทธ(๓๐) คงจะเนื่องมาจากพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) ทราบว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเลื่อมใส   ในพุทธศาสนาเข้ามามีอิทธิพลชักชวนให้คนไทยเกิดความเลื่อมใสในศาสนานั้น(๓๑)ปรากฏหลักฐานว่าในที่สุดถึงกับทรงออกประกาศห้ามอย่างเฉียบขาด ใน พ.ศ. ๒๓๑๗ ดังความตอนหนึ่งว่า

ประกาศของไทย ลงวันที่ ๑๓ เดือนตุลาคม ค.ศ ๑๖๖๔  (พ.ศ. ๒๓๑๗)
ห้ามมิให้ไทยและมอญเข้ารีตและนับถือศาสนาพระมะหะหมัด
มองเซนเยอร์เลอบองเป็นผู้แปล

ด้วยพวกเข้ารีตและพวกถือศาสนามะหะหมัดเป็นคนที่อยู่นอกพระพุทธศาสนาเป็นคนที่ไม่มีกฎหมาย และไม่ประพฤติตามพระพุทธวจนะ ถ้าพวกไทยซึ่งเป็นคนพื้นเมืองนี้ตั้งแต่กำเนิดไม่นับถือและไม่ประพฤติตามพระพุทธศาสนาถึงกับลืมชาติกำเนิดตัว ถ้าไทยไปประพฤติและปฏิบัติตามลัทธิของพวกเข้ารีตและพระมะหะหมัดก็จะตกอยู่ในฐานความผิดอย่างร้ายกาจ เพราะฉะนั้นเป็นอันเห็นได้เที่ยงแท้ว่าถ้าคนจำพวกนี้ตายไป ก็จะต้องตกนรกอเวจี ถ้าจะปล่อยให้คนพวกนี้ทำตามชอบใจ ถ้าไม่เหนี่ยวรั้งไว้ ถ้าไม่ห้ามไว้ พวกนี้ก็จะทำให้วุ่นขึ้นทีละน้อยโดยไม่รู้ตัว จนที่สุดพระพุทธศาสนาก็เสื่อมทรามไปด้วย… เพราะเหตุฉะนี้จึงห้ามขาดมิไห้ไทยและมอญ ไม่ว่าผู้ชายหรือหญิงเด็กหรือผู้ใหญ่ได้เข้าไปในพิธีของพวกมะหะหมัดหรือพวกเข้ารีต ถ้าผู้ใดมีใจดื้อแข็ง เจตนาไม่ได้มืดมัวไปด้วยกิเลสต่างๆ จะฝ่าฝืนต่อประกาศนี้ ขืนไปเข้าในพิธีของพวกมะหะหมัดและพวกเข้ารีตแม้แต่อย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว ให้เป็นหน้าที่ของสังฆราชหรือบาทหลวงมิชชันนารี หรือบุคคลที่เป็นคริสเตียน หรือมะหะหมัดจะต้องคอยห้ามปรามมิให้คนเหล่านั้นได้เข้าไปในพิธีของพวกคริสเตียน และพวกมะหะหมัดให้เจ้าพนักงานจับกุมคนไทยและมอญที่ไปเข้าพิธีเข้ารีตและมะหะหมัดดังว่ามานี้ ส่งให้ผู้พิพากษาชำระ และให้ผู้พิพากษาวางโทษถึงประหารชีวิต(๓๒)
จริงอยู่แม้ว่าพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) จะเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธก่อนการออกประกาศดังกล่าว แต่พระราชประสงค์ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชลักษณะนี้คงจะเป็นสิ่งที่เข้าใจกันดีในหมู่ขุนนางก่อนที่จะมีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) จึงต้องเปลี่ยนศาสนา มิใช่เกิดจากความศรัทธาในพุทธศาสนา เพราะเชื้อสายตระกูล ณ พัทลุง ผู้หนึ่งเป็นเจ้าเมืองใน พ.ศ. ๒๓๓๔ - ๒๓๖๐ ยังไม่ยอมให้นำเนื้อหมูเข้ามาในบ้านของท่านแสดงว่า พระยาพัทลุง (ทองขาว) ยังนับถือศาสนาอิสลาม เพิ่งจะมีการนับถือพุทธศาสนากันจริงๆ ในชั้นหลานของพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) (๓๓)
การเปลี่ยนศาสนาของพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) ดูเหมือนจะไม่ได้ผลทางการเมืองมากนัก เพราะตระกูล ณ พัทลุง ยังไม่ได้รับความไว้วางใจจากราชธานี อำนาจและอิทธิพลของเมืองพัทลุงลดลงเรื่อยๆ กล่าวคือ ใน พ.ศ. ๒๓๑๘ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสนับสนุนจีนเหยียงหรือหลวง สุวรรณคีรีคนกลุ่มใหม่และต้นตระกูล ณ สงขลา เป็นเจ้าเมืองสงขลา(๓๔)ทั้งยกเมืองสงขลาเมืองปากน้ำของเมืองพัทลุงไปขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อเจ้านราสุริวงศ์ถึงแก่นิราลัยในปีรุ่งขึ้น  ทางราชธานีให้ยกเมืองพัทลุงไปขึ้นตรงต่อราชธานีดังเดิม(๓๕)และสืบไปตลอดสมัยระบบกินเมือง และแม้ว่าพระยา-พัทลุง (คางเหล็ก) จะส่งบุตรธิดาหลายคนไปถวายตัว(๓๖) ทั้งมีความดีความชอบในการทำสงครามกับพม่าใน พ.ศ. ๒๓๒๘ และกับปัตตานีในปีถัดมา แต่เมื่อพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) ถึงแก่อนิจกรรม       ใน พ.ศ. ๒๓๓๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชกลับโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีไกร-ลาศคนของราชธานีมาเป็นเจ้าเมืองพัทลุงแทนตระกูล ณ พัทลุง(๓๗)อีก ๒ ปีต่อมายังทรงเพิ่มบทบาทให้เมืองสงขลาเข้มแข็งมากขึ้น โดยให้ทำหน้าที่ดูแลหัวเมืองประเทศราชมลายู(๓๘)และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขณะที่ทางราชธานียอมให้ตระกูล ณ พัทลุง (พระยาพัทลุงทองขาว) กลับมาเป็นเจ้าเมืองพัทลุงอีก แต่ก็ส่งนายจุ้ยตระกูลจันทโรจวงศ์ และบุตรของเจ้าพระยาสรินทราชา (จันทร์)(๓๙)ซึ่งเกี่ยวดองกับตระกูล ณ นคร เข้ามาเป็นกรมการเมืองพัทลุง  (๔๐)เพื่อคานอำนาจของตระกูล ณ พัทลุง ในที่สุดในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๕๔–๒๓๘๒ เมื่อเจ้าพระยานคร (น้อย) ปกครองเมืองนครศรีธรรมราชหัวเมืองแหลมมาลายูต้องตกอยู่ในอำนาจของตระกูล ณ นคร ทางราชธานีแต่งตั้งให้พระเสน่หามนตรี (น้อยใหญ่) บุตรชายคนโตของเจ้าพระยานคร (น้อย) มาเป็นเจ้าเมืองพัทลุงแทนตระกูล ณ พัทลุง (พระยาพัทลุงเผือก) ในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๙ - ๒๓๘๒(๔๑)ขณะเดียวกันตระกูล ณ สงขลา ก็พยายามสร้างอิทธิพลในเมืองพัทลุง โดยพระยาสงขลาเถี้ยนเส้งและบุญสังข์ต่างก็แต่งงานกับคนในตระกูล ณ พัทลุงทั้งคู่(๔๒)
ศาสตราจารย์เวลาอดีตผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำมหาวิทยาลัยฮาวายตั้งข้อสังเกตว่า การถึงอสัญกรรมของเจ้าพระยานคร (น้อย) ใน พ.ศ. ๒๓๘๒ ทำให้ราชธานีได้โอกาสจำกัดอำนาจของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชลงบ้าง(๔๓) เช่น เรียกตัวพระยาไทรบุรี (แสง) และพระเสนานุชิต (นุด) ปลัดเมืองไทรบุรีบุตรของเจ้าพระยานคร (น้อย) กลับสนับสนุนให้ตระกูล ณ ระนอง ซึ่งเพิ่งรุ่งเรืองจากการทำเหมืองแร่ดีบุกและค้าฝิ่นทางฝั่งทะเลตะวันตก (ทะเลหน้านอก) ของแหลมมลายูขยายอำนาจเข้ามาทางฝั่งตะวันออกในเขตเมืองชุมพรและไชยา(๔๔) สำหรับที่เมืองพัทลุงนั้น ทางราชธานีเรียกตัวพระเสน่หามนตรี (น้อยใหญ่) กลับแล้วแต่งตั้งพระปลัด (จุ้ย จันทโรจวงศ์) เป็นพระยาอภัยบริรักษ์ จักรวิชิตพิพิธภักดีพิริยพาหะเจ้าเมืองพัทลุงแทน และให้ตระกูลจันทโรจวงศ์และตระกูล ณ พัทลุงเป็นกรมการเมือง เพราะพระยาอภัยบริรักษ์ฯ (จุ้ย) ผู้นี้นอกจากจะมีความดีความชอบในการปราบกบฏเมืองไทรบุรี ใน พ.ศ. ๒๓๗๓ และ พ.ศ ๒๓๘๑ อย่างแข็งขันแล้ว ประการสำคัญคือยังเกี่ยวดองกับขุนนางตระกูลบุนนาคที่มีอำนาจสูงยิ่งในขณะนั้นและบังคับบัญชาหัวเมืองแหลมมาลายูในตำแหน่งพระกลาโหมมาเป็นเวลายาวนานด้วย แต่ในที่สุดตระกูลจันทโรจวงศ์กับตระกูล ณ พัทลุงกลายเป็นเหมือนตระกูลเดียวกัน และสามารถปกครองเมืองพัทลุงสืบต่อไปตลอดสมัยระบบกินเมือง คงเป็นเพราะพระยาอภัยบริรักษ์ฯ (จุ้ย) ไม่มีบุตร จึงรับนายน้อยหลานมาเป็นบุตรบุญธรรมแล้วสร้างความสัมพันธ์กับตระกูล ณ พัทลุงโดยใช้การแต่งงาน(๔๕)
การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตระกูลจันทโรจวงศ์กับตระกูล ณ พัทลุง โดยใช้การแต่งงานนั้นทำให้อำนาจของกลุ่มผู้ปกครองเมืองพัทลุงกระชับยิ่งขึ้น มีการแบ่งผลประโยชน์กันอย่างจริงจัง จนราชธานีแทบจะแทรกมือเข้าไปไม่ถึง โดยเฉพาะในตอนปลายสมัยระบบกินเมือง เช่น ในสมัยพระยาอภัยบริรักษ์ฯ (เนตร จันทโรจวงศ์) เป็นเจ้าเมือง ใน พ.ศ. ๒๔๓๗ พระสฤษดิ์พจนกรณ์ข้าราชการชั้น  ผู้ใหญ่ของกระทรวงมหาดไทยออกไปตรวจราชการแล้วมีความเห็นว่า เมืองพัทลุงเป็นเมืองเล็ก แต่กรมการเมืองมีอำนาจมากเกินผลประโยชน์และมีอำนาจชนิด….“ที่ไม่มีกำหนดว่าเพียงใดชัด แต่เป็นอำนาจที่มีเหนือราษฏรอย่างสูงเจียนจะว่าได้ว่าทำอย่างใดกับราษฎรก็แทบจะทำได้….”(๔๖)ส่วนด้านผลประโยชน์เจ้าเมืองและกรมการแบ่งกันเองเป็น ๓ ตอน คือ
ตอนที่ ๑ พระยาวรวุฒิไวยวัฒลุงควิไสยอิศรศักดิพิทักษ์ราชกิจนริศศรภักดีพิริยะพาหะ (น้อย) จางวาง ซึ่งทำหน้าที่กำกับเมืองพัทลุง และพระยาอภัยบริรักษ์ฯ (เนตร) เจ้าเมืองสองคนพ่อลูกตระกูลจันทโรจวงศ์ได้ผลประโยชน์จากส่วยรายเฉลี่ย
ตอนที่ ๒ ยกกระบัตรในตระกูล ณ พัทลุง ได้ผลประโยชน์จากภาษีอากร
   ตอนที่ ๓ กรมการผู้น้อย เป็นกรมการของผู้ใดก็จะได้แบ่งปันผลประโยชน์จากทางนั้น
ผลประโยชน์หลักคือ การทำนา เพราะเจ้าเมืองและกรมการมีที่นากว้างใหญ่ทุกคนขายข้าวได้ทีละ
มากๆ โดยไม่ต้องเสียค่านา
นอกจากนั้นยังมีการแบ่งปันผลประโยชน์จากคุกตะรางอีก เพราะผู้ใดเป็นตุลาการชำระคดี ผู้นั้นจะมีคุกตะรางสำหรับขังนักโทษในศาลของตน จึงมีคุกตะรางถึง ๖ แห่ง โดยแบ่งเป็น ๒ ขนาด คือ ขนาดใหญ่ ๓ แห่ง เป็นของเจ้าเมือง หลวงเมือง หลวงจ่ามหาดไทย และขนาดเล็ก อีก ๓ แห่ง เจ้าเมืองจะเป็นผู้อนุญาตให้คนที่ชอบพอและไว้วางใจได้มีผลประโชยน์ที่จะได้จากการมีคุกตะรางของตัวเองคือ ได้ค่าธรรมเนียม แรงงาน และมีอำนาจในการพิจารณาคดี นักโทษของคุกตะรางใดเป็นดังเช่นทาส    ในเรือนนั้นทำให้กรมการเมืองอยากจะมีคุกตะรางเป็นอย่างยิ่ง ผู้ใดไม่มีคุกตะรางก็จะถูกมองว่าไม่เป็น ผู้ดี เป็นคนชั้นต่ำ
สำหรับราษฎร นอกจากต้องเสียค่านาแล้ว ยังถูกเกณฑ์แรงงานและสิ่งของทั้งของกินและของใช้อีก โดยเฉลี่ยจะถูกเกณฑ์ไม่ต่ำกว่า ๕ ครั้งต่อปี ราษฎรมักต้องยอมเพราะเกรงกลัวเจ้าเมืองและขุนนางมาก โจรผู้ร้ายก็ชุกชุม(๔๗)
สภาพดังกล่าวเป็นปัญหาที่ทางราชธานีเมืองหนักใจมาก(๔๘)ทั้งยังมีปัญหากับเมืองข้างเคียง คือ กับเมืองสงขลาและนครศรีธรรมราชด้วย เพราะกลุ่มผู้ปกครองของเมืองเหล่านี้มุ่งแต่จะรักษาผลประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว จึงมักพบว่าเมื่อโจรผู้ร้ายทำโจรกรรมในเมืองสงขลาแล้วหลบหนีไปเมืองพัทลุง เจ้าเมืองสงขลาขอให้เจ้าเมืองพัทลุงส่งตัวให้ผู้ร้ายไปให้ แต่เจ้าเมืองพัทลุงมักจะเพิกเฉยส่วนโจรผู้ร้ายที่ทำโจรกรรมในแขวงเมืองพัทลุงแล้วหนีเข้าอยู่ในแขวงเมืองสงขลา เจ้าเมืองพัทลุงขอให้เจ้าเมืองสงขลาส่งตัวผู้ร้ายไปให้ เจ้าเมืองสงขลาก็มักจะเพิกเฉยเช่นกัน(๔๙)หรือกับทางเมืองนครศรีธรรมราชก็เป็นทำนองเดียวกันกับทางเมืองสงขลา (๕๐)
พอจะกล่าวได้ว่าตลอดสมัยระบบกินเมือง แม้ว่าราชธานีพยายามควบคุมเมืองพัทลุงแต่ก็ควบคุมได้แต่เพียงในนามเท่านั้น เพราะความห่างไกลจากราชธานีทำให้ราชธานีดูแลไม่ทั่วถึงและไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับกิจการภายในของเมืองพัทลุงด้วยผลประโยชน์ของราชธานีจึงรั่วไหลไปมาก ประกอบกับในตอนกลางรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ ไม่ว่ามองไปทางทิศไหน เห็นอังกฤษและฝรั่งเศสพร้อมที่จะฉวยโอกาสรุกรานเข้ามา โดยเฉพาะทางหัวเมืองแหลมมาลายู อังกฤษถือโอกาสแทรกแชงเข้ามาในหัวเมืองประเทศราชมลายูของไทยและคุกคามหัวเมืองฝั่งตะวันตก ส่วนบริเวณคอคอดกระตอนเหนือของแหลมมาลายูทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสคุกคามเข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้าและขยายอิทธิพลทางการเมือง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวิตกเป็นอย่างยิ่ง หลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลกลางเข้มแข็งขึ้นแล้ว ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๓๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเร่งรัดให้กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเสนาบดี กระทรวงมหาดไทยรีดจัดการปกครองหัวเมืองในแหลมมลายูเสียใหม่(๕๑)เพื่อดึงอำนาจเข้าสู่พระราชวงศ์จักรี   ทำให้เมืองพัทลุงถูกรวมการปกครองเข้ากับมณฑลนครศรีธรรมราชในพ.ศ. ๒๔๓๙ เนื่องจากกรมหมื่นดำรงราชานุภาพทรงเห็นว่า เมืองพัทลุง “เป็นหัวเมืองบังคับยาก”(๕๒)เช่นเดียวกับเมืองนครศรีธรรมราช สงขลา และหัวเมืองประเทศราชมลายู จึงทรงรวมหัวเมืองเหล่านี้เข้าเป็นมณฑลนครศรีธรรมราช ให้ตั้งศูนย์การปกครองที่เมืองสงขลา โดยทรงมอบหมายให้พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาล

สมัยระบบเทศาภิบาล
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๙ - ๒๔๗๖ ช่วงนี้เมืองพัทลุงรวมอยู่ในการปกครองของมณฑล
นครศรีธรรมราช สังกัดกระทรวงมหาดไทย รัฐบาลพยายามทำลายอำนาจและอิทธิพลของตระกูลจัน-ทโรจวงศ์ และตระกูล ณ พัทลุง เพื่อดึงอำนาจเข้าสู่พระราชวงศ์จักรี
การดึงอำนาจการปกครองหัวเมืองเข้าสู่พระราชวงศ์จักรีในกลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ มีหลักการปกครองอยู่ว่า อำนาจจะต้องเข้ามารวมอยู่ที่จุดเดียวกันหมดรัฐบาลกลางจะไม่ให้การบังคับบัญชาหัวเมืองขึ้นอยู่กันเพียง ๓ กระทรวงคือ กรมมหาดไทย กรมกลาโหม และกรมท่า  และจะไม่ยอมให้เจ้าเมืองต่างๆ  มีอำนาจอย่างที่เคยมีมาในสมัยระบบกินเมืองระบบการปกครองแบบใหม่นี้เรียกว่า ระบบเทศาภิบาล
หลักต่างๆ ของการปกครองตามระบบเทศาภิบาลที่ระบุไว้ในประกาศจัดปันหน้าที่ระหว่างกระทรวงกลาโหมและมหาดไทย ร.ศ. ๑๑๓ (พ.ศ. ๒๔๓๗) ซึ่งรวมหัวเมืองทั้งหมดไว้ใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย ในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๖ (พ.ศ.๒๔๔๐) และในข้อบังคับลักษณะปกครองหัวเมือง ร.ศ. ๑๑๗ (พ.ศ. ๒๔๔๑) ตามกฎหมายเหล่านี้ประเทศไทยเริ่มจัดส่วนราชการบริหารตามแบบใหม่ มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามลำดับของสายการบังคับบัญชาจากต่ำสุดไปจนถึงขั้นสูงสุดดังนี้
ชั้นที่ ๑  การปกครองหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านปกครอง
ชั้นที่ ๒  การปกครองตำบล มีกำนันปกครอง
ชั้นที่ ๓  การปกครองอำเภอ มีนายอำเภอปกครอง
ชั้นที่ ๔  การปกครองเมือง มีผู้ว่าราชการเมืองปกครอง
ชั้นที่ ๕  การปกครองมณฑล มีข้าหลวงเทศาภิบาลปกครอง
การวางสายการปกครองเป็นลำดับชั้นกล่าวนับเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมเก่าใน  หัวเมืองไปเป็นอีกรูปหนึ่ง ราษฎรซึ่งไม่เคยมีสิทธิ์มีเสียง เคยเป็นเพียงบ่าวไพร่ก็ได้มีโอกาสเลือก        ผู้ใหญ่บ้าน กำนันขึ้นเป็นหัวหน้า ซึ่งเท่ากับได้มีโอกาสเสนอความต้องการของตนเองให้นายอำเภอและผู้ว่าราชการเมืองทราบ ผู้ว่าราชการเมืองและกรมการเมืองหรือพวกพ้องที่เคยทำอะไรตามใจชอบก็กระทำไม่ได้เสียแล้ว เพราะมีข้าหลวงเทศาภิบาลมาคอยดูแลเป็นหูเป็นตาแทนรัฐบาล การกินเมือง   ซึ่งเคย “กิน” จากภาษีทุกอย่างต้องกลับกลายเป็นเพียง “กิน” เฉพาะเงินเดือนพระราชทานในฐานะ     ข้าราชการ เพราะรัฐบาลเริ่มเก็บภาษีเองและเมื่อนายอำเภอ ผู้ว่าราชการเมือง และกรมการเมืองมีฐานะเป็นข้าราชการ ก็ต้องถูกย้ายไปตามที่ต่างๆ ตามคำสั่งของรัฐบาล ไม่ผักพันเป็นเจ้าเมืองเจ้าของชีวิตของชาวชนบทอยู่เพียงแห่งเดียวตามระบบเดิม กำนันผู้ใหญ่จะได้ค่าธรรมเนียมต่างๆ ได้ส่วนลดจากการเก็บค่านา ค่าน้ำ ค่าราชการ (๕๓)
อนึ่งการปกครองในระบบเทศาภิบาล รัฐบาลยังต้องการให้ราษฎรมีความผูกพันกับรัฐบาล
และมีความรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติ รัฐบาลใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือ โดยมอบหมายให้จัดเป็นสถานศึกษา เพราะจัดเป็นองค์กรที่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ทั่วพระราชอาณาจักรโดยไม่ต้องเปลืองเงินทองของรัฐในการก่อสร้าง และเป็นแหล่งจูงใจให้ราษฎรเข้ามาเรียนหนังสือได้(๕๔)และมอบหมายให้กรมหมื่นวชิรญานวโรรสพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นพระราชาคณะธรรมยุติกนิกายรับผิดชอบร่วมกับกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เพราะรัฐบาลถือว่าธรรม-ยุติกนิกายเป็นตัวแทนของรัฐฝ่ายสงฆ์ส่วนตัวแทนฝ่ายฆราวาสคือกระทรวงมหาดไทย หรือกรมหมื่นดำรงราชานุภาพทั้งสองพระองค์จึงทรงกำหนดแบบแผนเดียวกันทั่วพระราชอาณาจักร คือ ใช้หนังสือแบบเรียนเร็วเป็นตำราเรียน และมีผู้อำนวยการสงฆ์เป็นผู้ตรวจตราและจัดการภายใต้การบังคับบัญชาของข้าหลวงเทศาภิบาล (๕๕)
ที่เมืองพัทลุง พระยาสุขุมนัยวินิตข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชจัดการปก
ครองตามแบบแผนทุกระดับ ที่สำคัญคือ ให้สร้างที่ว่าราชการเมืองขึ้น เพื่อให้ผู้ช่วยราชการเมืองและกรมการไปปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่ราชการให้เป็นสัดส่วน ไม่ปะปนกับงานส่วนตัวเหมือนอย่างในสมัยระบบกินเมือง(๕๖)แต่การคัดเลือกบุคคลเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ นั้น รัฐบาลใช้ปะปนกันทั้งคนเก่าและคนใหม่ตลาดสมัยระบบเทศาภิบาล พอจะแบ่งได้เป็น ๒ ระยะ คือ                                                                                               
   ระยะแรก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๔๕๒  รัฐบาลใช้วิธีประนีประนอม กล่าวคือ  ในระยะ    ๕-๖ ปีแรก ยอมให้เชื้อสายตระกูลจันทโรจวงศ์และตระกูล ณ พัทลุง ข้าราชการในระบบเก่ารับตำแหน่งใหม่ ๆ ได้ผลประโยชน์ตามแบบเก่าบ้าง เช่น ให้พระยาอภัยบริรักษ์ฯ (เนตร) เจ้าเมืองเปลี่ยนฐานะเป็นผู้ช่วยราชการเมือง แต่ก็ให้พระพิศาลสงคราม(สอน) ผู้ช่วยราชการเมืองสิงห์บุรีเป็นผู้ช่วยราชการเมือง (๕๗)รับผิดชอบแผนกสรรพากรหรือดูแลการเก็บเงินผลประโยชน์ของแผ่นดิน เมื่อพระพิศาลถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ก็จัดให้พระอาณาจักร์บริบาล (อ้น ณ ถลาง) เครือญาติของตระกูลจันทโรจวงศ์มาแทน  (๕๘)คงเป็นเพราะรัฐบาลยังไม่มีเงินเดือนสำหรับข้าราชการประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง พระยา-สุขุมนัยวินิตจำต้องถนอมน้ำใจกลุ่มผู้ปกครองเดิม เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมาก และมีเงินมาก(๕๙)แต่ใน พ.ศ. ๒๔๔๖ เมื่อพระยาวรวุฒิไวยฯ (น้อย) จางวางซึ่งเป็นคนหัวเก่า(๖๐)ถึงอนิจกรรมรัฐบาลก็ปลดพระยาอภัยบริรักษ์ฯ (เนตร) ผู้ว่าราชการเมืองลงเป็นจางวาง หลังจากนี้รัฐบาลพยายามแต่งตั้งเชื้อสายและพวกพ้องของตระกูลเจ้าเมืองในแหลมมลายูในสมัยระบบกินเมืองมาเป็นผู้ว่าราชการเมืองพัทลุงแทนตระกูลจันทโรจวงศ์และตระกูล ณ พัทลุง ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ว่าราชการเมืองบ่อยครั้งในระยะตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๖ -๒๔๔๙ โดยผลัดเปลี่ยนเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง ถึง ๔ คน(๖๑) คือ พระสุรฤทธิ์ภักดี (คอยู่ตี่ ณ ระนอง) บุตรชายพระยารัตนเศรษฐี (คอชิมก๊อง) อดีตข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลชุมพรและหลานพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมปี๊) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต พระศิริธรรมบริรักษ์ (เย็น สุวรรณปัทมะ)บุตรเขยของพระยาวิเชียรศรี (ชม ณ สงขลา) พระแก้วโกรพ (หมี ณ ถลาง) และพระกาญจนดิฐบดี (อวบ ณ สงขลา) ตามลำดับ จนในที่สุดใน พ.ศ. ๒๔๕๒ พระกาญจนดิฐบดี (อวบ ณ สงขลา) เป็นผู้ว่าราชการเมือง โจรผู้ร้ายลักโคกระบือทั่วเขตเมืองพัทลุงจนทางราชการระงับไม่อยู่ ทั้งๆ ที่เป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่ขณะทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จประพาสเมืองพัทลุง พระกาญจนดิฐบดีถูกปลดออกจากราชการในปีนั้นเอง(๖๒)
   ระยะหลัง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๒– ๒๔๗๖ ดูเหมือนว่าเป็นระยะที่รัฐบาลใช้มาตรการค่อนข้างเด็ดขาดเพื่อลดอิทธิพลของตระกูลจันทโรจวงศ์และตระกูล ณ พัทลุง ที่ยังหลงเหลืออยู่อีก โดยจัดส่งข้าราชการจากส่วนกลางมาเป็นผู้ว่าราชการเมือง(๖๓)เช่น หม่อมเจ้าประสบประสงค์พระโอรสองค์ใหญ่ในกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระวุฒิภาคภักดี (ช้าง ช้างเผือก) เนติบัณฑิต หลวงวิชิตเสนี (หงวน   ศตะรัตน์) เนติบัณฑิต ทำให้โจรผู้ร้ายกำเริบหนักจนดูราวกับว่าเมืองพัทลุงกลายเป็นอาณาจักรโจร โดยเฉพาะในปี พ.ศ. ๒๔๖๖(๖๔)สมัยพระคณาศัยสุนทร (สา สุวรรณสาร) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด (๖๕) มีขุนโจรหลายคนที่สำคัญ อาทิ นายรุ่ง ดอนทราย เป็นหัวหน้าโจรได้รับฉายาว่า ขุนพัฒน์หรือขุนพัทลุง นายดำหัวแพร เป็นรองหัวหน้า ได้รับฉายาว่า เจ้าฟ้าร่มเขียวหรือขุนอัสดงคต ทางมณฑลต้องส่งนายพันตำรว
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #147 เมื่อ: 10 พฤศจิกายน 2010 09:07:27 »

พัทลุง ๓
โทพระวิชัยประชาบาล (บุญโกย เอโกบล) และคณะมาตั้งกองปราบปรามอยู่ตลอดปี ทำให้การปล้นฆ่าสงบลงอีกวาระหนึ่ง แต่ปีถัดมารัฐบาลสั่งให้ย้ายศูนย์ปกครอง(๖๖)จากตำบลลำปำมาตั้งที่บ้าน  วังเนียง ตำบลคูหาสวรรค์(๖๗) อาจเป็นเพราะทางราชการเกิดความระแวงว่าตระกูลจันทโรจวงศ์ และตระกูล ณ พัทลุง มีส่วนร่วมกับพวกโจรจึงต้องการทำลายอิทธิพลของสองตระกูลนั้นในเขตตำบลลำปำ และสร้างศูนย์การปกครองแห่งใหม่ให้เป็นเขตของรัฐบาลอย่างแท้จริง ประกอบกับในขณะนั้นรัฐบาลได้สร้างทางรถไฟสายใต้ผ่านตำบลคูหาสวรรค์แล้วการคมนาคมระหว่างจังหวัดพัทลุงกับส่วนกลางและจังหวัดใกล้เคียงจึงสะดวกกว่าที่ตั้งเมืองที่ตำบลลำปำ ประชาชนก็อพยพมาตั้งบ้านเรือนทำมาค้าขายมากขึ้น(๖๘)

สมัยระบบประชาธิปไตย (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๖-ปัจจุบัน)
   เมื่อมีการปฎิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบบประชาธิปไตยอันมีพระ
มหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญใน พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว รัฐบาลใหม่ประกาศใช้พระราชบัญญัติ
ว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ ๒๔๗๖ ทำให้ระบบเทศาภิบาลถูกยกเลิกไป   
ส่วนภูมิภาคมีอำนาจมากขึ้น จังหวัดพัทลุงมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งในอาณาจักรไทย
   ตามระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม  พ.ศ. ๒๔๗๖ จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหาร
ราชการแผ่นดิน มีผู้บริหารเป็นคณะเรียกว่า คณะกรมการจังหวัด ประกอบด้วยข้าหลวงประจำจังหวัด ปลัดจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการฝ่ายพลเรือนต่างๆ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำจังหวัดโดยข้าหลวงประจำจังหวัดทำหน้าที่เป็นประธาน แต่คณะกรมการจังหวัดจะต้องรับผิดชอบในราชการทั่วไปร่วมกัน และกรมการแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบในหน้าที่ของตนต่อกระทรวงทบวงกรมที่ตนสังกัด(๖๙) สำหรับอำเภอก็มีคณะบริหาร เรียกว่าคณะกรมการอำเภอ ประกอบด้วย นายอำเภอปลัดอำเภอ และหัวหน้าส่วนราชการฝ่ายพลเรือนต่างๆ เป็นเจ้าหน้าที่ประจำอำเภอ โดยมีนายอำเภอเป็นประธาน แต่คณะกรมการอำเภอจะต้องรับผิดชอบในราชการทั่วไปร่วมกัน และกรมการแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบในหน้าที่ของตนต่อกระทรวง ทบวง กรม ที่ตนสังกัด (๗๐)
   ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินโดยให้จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล เนื่องจากจังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ ไม่เป็นนิติบุคคล นอกจากนั้นอำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะกรมการจังหวัด ได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัดเพียงบุคคลเดียวและฐานะของกรมการจังหวัดก็เช่นเดียวกัน เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหาราชการแผ่นดินในจังหวัดก็ได้แก้ไขเป็นเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
   จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ตามนัยประกาศของคณะปฏิบัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัด และอำเภอ จังหวัดนั้น ได้รวมท้องที่หลายๆ อำเภอ ขึ้นเป็นจังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้ง ยุบ และการเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติและให้มีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินใน
จังหวัด ซึ่งกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฉบับดังกล่าวนี้ได้บังคับใช้จนถึงปัจจุบันนี้

๖๙) ศีรี วิชิตตะกุล, การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค (พระนคร : โรงเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,๒๔๙๘),หน้า ๒๗.
(๗๐) เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๘-๒๙.


ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดพัทลุง.พัทลุง : โรงพิมพ์พัทลุง , ๒๕๒๗.

บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #148 เมื่อ: 10 พฤศจิกายน 2010 09:08:03 »

นครศรีธรรมราช
นครศรีธรรมราชเป็นเมืองโบราณที่มีความสำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง  การปกครอง และศาสนามากที่สุดเมืองหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมืองนี้มีชื่อเสียงเป็นที่  รู้จักกันอย่างกว้างขวางมาไม่น้อยกว่า ๑,๘๐๐ ปีมาแล้ว หลักฐานทางโบราณคดีและหลักฐานทางเอกสารที่ปรากฏในขณะนี้ยืนยันได้ว่านครศรีธรรมราชมีกำเนิดมาแล้วตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๗ เป็นอย่างน้อย๑
ชื่อของเมืองนครศรีธรรมราช
จากประวัติศาสตร์อันยาวนานแห่งนครศรีธรรมราช สามารถประมวลได้ว่า “นครศรี-    ธรรมราช" ได้ปรากฏชื่อในที่ต่างๆ หลายชื่อ ตามความรู้ความเข้าใจที่สืบทอดกันมาและสำเนียงภาษาของชนชาติต่าง ๆ ที่เคยเดินทางผ่านมาในระยะเวลาที่ต่างกัน  เช่น
“ตมฺพลิงฺคมฺ” หรือ “ตามฺพลิงฺคมฺ” (Tambalingam) หรือ “กมลี” หรือ “ตมลี” หรือ “กะมะลิง” หรือ “ตะมะลิง”
    เป็นภาษาบาลีที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์มหานิเทศ (คัมภีร์บาลี ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทศ) ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ คัมภีร์นี้เป็นวรรณคดีอินเดียโบราณกล่าวถึงการเดินทางของ     นักเผชิญโชค เพื่อแสวงหาโชคลาภและความร่ำรวยยังดินแดนต่าง ๆ อันห่างไกลจากอินเดีย คือบริเวณ  เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ระบุเมืองท่าต่างๆ ในบริเวณนี้ไว้และในจำนวนนี้ได้มีชื่อเมืองท่าข้างต้น   อยู่ด้วย ดังความตอนหนึ่งดังนี้
. . เมื่อแสวงหาโภคทรัพย์  ย่อมแล่นเรือไปในมหาสมุทร  ไปคุมพะ  (หรือติคุมพะ)  ไปตักโกละ  ไปตักกสิลา  ไปกาลมุข  ไปมรณปาร  ไปเวสุงคะ  ไปเวราบถ  ไปชวา  ไปกะมะลิง  (ตะมะลิง)  ไปวังกะ  (หรือวังคะ)  ไปเอฬวัททนะ  (หรือเวฬุพันธนะ)  ไปสุวัณณกูฏ  ไปสุวัณณภูมิ  ไปตัมพปัณณิ  ไปสุปปาระ  ไปภรุกะ  (หรือภารุกัจฉะ)  ไปสุรัทธะ  (หรือสุรัฏฐะ)  ไปอังคเณกะ  (หรือภังคโลก)  ไปคังคณะ  (หรือภังคณะ)  ไป ปรมคังคณะ  (หรือสรมตังคณะ)  ไปโยนะ  ไปปินะ  (หรือปรมโยนะ)  ไปอัลลสันทะ  (หรือวินกะ)  ไปมูลบท  ไปมรุกันดาร  ไปชัณณุบท  ไปอชบถ  ไปเมณฑบท  ไปสัง     กุบท  ไปฉัตตบท  ไปวังสบท  ไปสกุณบท  ไปมุสิกบท  ไปทริบถ  ไปเวตตาจาร . . .๒
ศาสตราจารย์ยอร์ช  เซเดส์  (Gorge Coedes)  นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสได้กล่าวไว้ว่า  นักปราชญ์ทางโบราณคดีลงความเห็นว่าชื่อเมืองท่า  “กะมะลิง”  หรือ  “ตะมะลิง”  ข้างต้นนี้ตรงกับชื่อที่บันทึกหรือจดหมายเหตุจีนเรียกว่า  “ตั้ง-มา-หลิ่ง”  และในศิลาจารึกเรียกว่า  “ตามพรลิงค์”  คือ  นครศรีธรรมราช๓
นอกจากนี้ในคัมภีร์มิลินทปัญหา  ซึ่งพระปิฎกจุฬาภัยได้รจนาขึ้นเป็นภาษาบาลีซึ่งบางท่านมีความเห็นว่ารจนาเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ แต่บางท่านมีความเห็นว่ารจนาเมื่อราว พ.ศ. ๕๐๐ ก็ได้กล่าวถึงดินแดนนี้ไว้ในถ้อยคำของพระมหานาคเสน  ยกมาเป็นข้ออุปมาถวายพระเจ้ามิลินท์  (หรือเมนันเดอร์ พ.ศ. ๓๙๒-๔๑๓)๔ ดังความตอนหนึ่งว่าดังนี้
. . . เหมือนอย่างเจ้าของเรือผู้มีทรัพย์  ได้ค่าระวางเรือในเมืองท่าต่างๆ แล้วได้ชำระภาษีที่ท่าเรือเรียบร้อยแล้ว  ก็สามารถจะแล่นเรือเดินทางไปในทะเลหลวง  ไปถึงแคว้นวังคะ     ตักโกละ  เมืองจีน  (หรือจีนะ)  โสวีระ  สุรัฏฐ์  อลสันทะ  โกลปัฏฏนะ-โกละ  (หรือท่าโกละ)  อเล็กซานเดรีย  หรือฝั่งโกโรมันเดล  หรือ สุวัณณภูมิ๕  หรือที่ใดที่หนึ่งซึ่งนาวาไปได้  (หรือสถานที่ชุมนุมการเดินเรือแห่งอื่นๆ ). . .๖
ศาสตราจารย์ซิลแวง  เลวี  (Sylvain  levy)  นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสมีความเห็นว่า คำว่า  “ตมะลี” (Tamali) ที่ปรากฏในคัมภีร์มหานิทเทศนั้นเป็นคำเดียวกับคำว่า “ตามพรลิงค์” ตามที่    ปรากฏในที่อื่นๆ๗ส่วนศาสตราจารย์ ดร. ปรนะวิธานะ (Senarat  Paranavitana)  นักปราชญ์ชาวศรี-ลังกา (ลังกา) มีความเห็นว่า  คำว่า “ตมะลี” (Tamali) บวกกับ “คมฺ” (gam) หรือ “คมุ” (gamu-ซึ่งภาษาสันสกฤตใช้ว่า “ครฺมะ”  (grama)  จึงอาจจะเป็น  “ตมะลิงคมฺ”  (Tamalingam)  หรือ  “ตมะลิงคมุ”  (Tamalingamu)ในภาษาสิงหล  และคำนี้เมื่อแปลเป็นภาษาบาลีก็เป็นคำว่า  “ตมฺพลิงคะ”  (Tambalinga)  และเป็น  “ตามพรลิงคะ”(Tambralinga)  ในภาษาสันสกฤต๘
“ตัน-มา-ลิง” (Tan-Ma-ling) หรือ ตั้ง-มา-หลิ่ง” 
เป็นชื่อที่เฉาจูกัว  (Chao-Ju-Kua)  และวังตาหยวน  (Wang-Ta-Yuan)  นักจดหมายเหตุจีนได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อ  เตา-อี-ชี-เลี้ยว  (Tao-i Chih-lioh)  เมื่อ  พ.ศ. ๑๗๖๙  ความจริงชื่อตามพรลิงค์นี้นักจดหมายเหตุจีนรุ่นก่อน ๆ ก็ได้เคยบันทึกไว้แล้วดังเช่นที่ปรากฏอยู่ในหนังสือสุงชี  (Sung-Shih)  ซึ่งบันทึกไว้ว่าเมืองตามพรลิงค์ได้ส่งฑูตไปติดต่อทำไมตรีกับจีน เมื่อ พ.ศ. ๑๕๔๔ โดยจีนเรียกว่า “ต้น-เหมย-หลิว”  (Tan-mei-leou)  ศาสตราจารย์พอล  วิทลีย์  (Paul  Wheatley)  นักปราชญ์ชาวอังกฤษได้กล่าวไว้ว่า  Tan-mei-leou”  นั้นต่อมานักปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญภาษาจีนชาวฝรั่งเศสและอังกฤษได้ลงความเห็นคำนี้ที่ถูกควรจะออกเสียงว่า  “Tan-mi-liu”  หรือ  “Tan-mei-liu”๙
“มัทมาลิงคัม”  (Madamalingam)
เป็นภาษาทมิฬปรากฏอยู่ในศิลาจารึกที่พระเจ้าราเชนทรโจฬะที่ ๑ ในอินเดียภาคใต้โปรดให้สลักขึ้นไว้ที่เมืองตันชอร์  (Tanjore)  ในอินเดียภาคใต้ระหว่าง พ.ศ. ๑๕๗๓-๑๕๗๔  ภายหลังที่พระองค์ได้ทรงส่งกองทัพเรืออันเกรียงไกรมาปราบเมืองต่าง ๆ บนคาบสมุทรมลายูจนได้รับชัยชนะหมดแล้ว  ในบัญชีรายชื่อเมืองท่าต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงตีได้และสลักไว้ในศิลาจารึกดังกล่าวนั้นมีเมืองตามพรลิงค์อยู่ด้วย  แต่ได้เรียกชื่อเพี้ยนไปเป็นชื่อ  “มัทมาลิงคัม”๑๐
“ตามพฺรลิงค์” (Tambralinga)
เป็นภาษาสันสกฤต คือเป็นชื่อที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ ซึ่งพบที่วัดหัวเวียง (ปัจจุบันเรียกว่าวัดเวียง) ตำบลตลาด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี สลักด้วยอักษรอินเดียกลาย ภาษาสันสกฤต เมื่อ พ.ศ. ๑๗๗๓
ศิลาจารึกหลักนี้พันตรี de Lajonauiere Virasaivas ได้กล่าวไว้ว่าสลักอยู่บนหลืบประตูสมัยโบราณมีขนาดสูง ๑.๗๗ เมตร (ไม่รวมเดือยสำหรับฝังเข้าไปในธรณีประตูด้านล่างและทับหลังด้านบน) กว้าง ๔๕ เซนติเมตร หนา ๑๓ เซนติเมตร ศิลาจารึกหลักนี้มีข้อความ ๑๖ บรรทัด ในปัจจุบันนี้ศิลาจารึกหลักนี้เก็บรักษาไว้ที่หอวชิรญาณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพมหานคร ศาสตราจารย์ ยอร์ช  เซเดส์  ได้อ่านและแปลศิลาจารึกหลักนี้ไว้ดังนี้๑๑
คำอ่าน
๑. สฺวสฺติ  ศฺรีมตฺศฺรีฆนสาสนาคฺรสุภทํ  ยสฺ  ตามฺพฺรลิงฺ
๒. เคศฺวระ  ส - - นิว  ปตฺมวํสชนตำ  วํศปฺรทีโปตฺภวะ  สํรู   
๓. เปน  หิ  จนฺทฺรภานุมทนะ  ศฺรีธรฺมฺมราชา  ส  ยะ  ธรฺมฺมสาโสกสมานนี   
๔. ตินิปุนะ  ปญฺจาณฺฑวํสาธิปะสฺวสฺติ  ศฺรี  กมลกุลสมุตฺภฤ  (ตฺ)  ตามฺ   
๕. พฺรลิงฺเคศฺวรภุชพลภิมเสนาขฺยายนสฺ  สกลมนุสฺยปุณฺยา   
๖. นุภาเวน  พภุว  จนฺทฺรสูรฺยฺยานุภาวมิห  ลโกปฺรสิทฺธิกีรฺตฺติ   
๗. ธรจนฺทฺรภานุ-ติ  ศฺรีธรฺมฺมราชา  กลิยุคพรฺษาณิ  ทฺวตริงศาธิกสฺ  ตฺรีณิ   
๘. สตาธิกจตฺวารสหสฺรานฺยติกฺรานฺเต  เศลาเลขมิว  ภกฺตฺยามฺฤตวรทมฺ - - -               
    ต่อนั้นไปอีก ๗ หรือ ๘ บรรทัด  อ่านไม่ใคร่ออก  สังเกตเห็นได้แต่เพียง
๙. - - - - นฺยาทิ  ทฺรพฺยานิ - - - - - - มาตฺฤปิตฺฤ
            ๑๐  - - - - - - - - - - สปริโภคฺยา - - - - - - - -
        ๑๑.-๑๒  - - - - - โพธิวฺฤกฺษ
คำแปล
สวสฺติ
พระเจ้าผู้ปกครองเมืองตามพรลิงค์  ทรงประพฤติประโยชน์เกื้อกูลแก่พระพุทธศาสนา  พระองค์สืบพระวงศ์มาจากพระวงศ์อันรุ่งเรือง  คือ  ปทุมวงศ  มีรูปร่างงามเหมือนพระกามะ  อันมีรูปงามราวกับพระจันทร์  ทรงฉลาดในนิติศาสตร์เสมอด้วยพระเจ้าธรรมาโศกราช  เป็นหัวหน้าของพระราชวงศ์……………ทรงพระนาม  ศรีธรรมราช
ศรีสวสฺติ
พระเจ้าผู้ปกครองเมืองตามพรลิงค์  เป็นผู้อุปถัมภ์ตระกูลปทุมวงศ  พระหัตถ์ของพระองค์มีฤทธิมีอำนาจ……………ด้วยอานุภาพแห่งบุญกุศลซึ่งพระองค์ได้ทำต่อมนุษย์ทั้งปวง  ทรงเดชานุภาพประดุจพระอาทิตย์  พระจันทร์  และมีพระเกียรติอันเลื่องลือในโลกทรงพระนาม  จันทรภานุ  ศรีธรรมราช  เมื่อกลียุค ๔๓๓๒ - - - -
คำว่า “ตามพรลิงค์” นี้  ศาสตราจารย์ ร.ต.ท.แสง มนวิทูร แปลว่า “ลิงค์ทองแดง” (แผ่นดินผู้ที่นับถือศิวลึงค์),๑๒ นายธรรมทาส พานิช แปลว่า “ไข่แดง” (ความหมายตามภาษาพื้นเมืองปักษ์ใต้),๑๓ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียกเพี้ยนเป็น  “ตามรลิงค์”  (Tamralinga) สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงประทานความเห็นว่า “ตามพรลิงค์” แปลว่า “นิมิตทองแดง” จะหมายเอาอันใดที่ในนครศรีธรรมราชน่าสงสัยมาก พบในหนังสือพระมาลัยคำหลวง เรียกเมืองลังกาว่า “ตามพปณยทวีป” แปลว่า “เกาะแผ่นทองแดง” เห็นคล้ายกับชื่อนครศรีธรรมราชที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียกว่า “ตามพรลิงค์” จะหมายความว่าสืบมาแต่ลังกาก็ได้กระมัง,๑๔ ไมตรี ไรพระศก  ได้แสดงความเห็นว่า  “ตามพรลิงค์”  น่าจะหมายความว่า “ตระกูลดำแดง”  คือ  หมายถึงผิวของคนปักษ์ใต้ซึ่งมีสีดำแดงและอาจจะหมายถึงชนชาติมิใช่ชื่อเมือง๑๕  และศาสตราจารย์โอ,  คอนเนอร์  (Stanley  J. O,  Connor)  มีความเห็นว่าชื่อ  “ตามพรลิงค์”  นี้ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าสืบเนื่องมาจากศาสนาพราหมณ์  เพราะศาสนาพราหมณ์เจริญสูงสุดในนครศรีธรรมราช  จึงได้ค้นพบโบราณวัตถุสถานมากกว่าที่ใดในประเทศไทย  และหลักฐานทางโบราณวัตถุในลัทธิไศวนิกาย  (Virasaivas)  ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือแพร่หลายในอินเดียภาคใต้ก็พบเป็นจำนวนมากในเขตนครศรีธรรมราชก็รองรับอยู่แล้ว๑๖
“ตมะลิงคาม” (Tamalingam) หรือ “ตมะลิงโคมุ” (Tamalingomu)
เป็นภาษสิงหล  ปรากฏอยู่ในคัมภีร์อักษรสิงหลชื่อ  Elu-Attanagalu  vam-sa  ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๕๑๗
นอกจากนี้ในเอกสารโบราณประเภทหนังสือของลังกายังมีเรียกแตกต่างกันออกไปอีกหลายชื่อ  เช่น  “ตมะลิงคมุ”  (Tamalingamu)  ปราฏอยู่ในคัมภีร์ชื่อ  ปูชาวลี  (Pujavali), “ตมฺพลิงคะ” (Tambalinga) ปราฏอยู่ในหนังสือเรื่องวินยะ-สนฺนะ (Vinay-Sanna)๑๘ และในตำนานจุลวงศ์๑๙ (Cujavamsa)  ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า  “. . . พระเจ้าจันทภานุบังอาจยกทัพจาก  “ตมฺพลิงควิสัย” (Tambalinga – Visaya)  ไปตีลังกา . . .”  เป็นต้น  ชื่อเหล่านี้นักปราชญ์โดยทั่วไปเข้าใจกันว่าเป็นชื่อเดียวกันกับชื่อ “ตามพรลิงค์” ที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ ของไทย
“กรุงศรีธรรมาโศก”
ปรากฏในจารึกหลักที่ ๓๕ คือศิลาจารึกดงแม่นางเมือง พบที่แหล่งโบราณคดีดงแม่นางเมือง  ตำบลบางตาหงาย  อำเภอบรรพตพิสัย  จังหวัดนครสวรรค์  จารึกขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๗๑๐
ศิลาจารึกหลักนี้เป็นหินชนวนสีเขียว  สูง ๑.๗๕  เมตร  กว้าง  ๓๗  เซนติเมตร  หนา  ๒๒  เซนติเมตร  จารึกด้วยอักษรอินเดียกลายทั้งสองด้าน  ด้านหน้าเป็นภาษามคธ  มี ๑๐ บรรทัด  ตั้งแต่บรรทัดที่ ๖ ถึงบรรทัดที่ ๑๐ ชำรุดอ่านไม่ได้ ด้านหลังเป็นภาษาขอม มี ๓๓ บรรทัด ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอวชิรญาณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพมหานคร
                ศาสตราจารย์ฉ่ำ  ทองคำวรรณ  ได้อ่านและแปลศิลาจารึกหลักที่ ๓๕  ดังนี้๒๐
ด้านที่ ๑
คำจารึกภาษามคธ                             คำแปลภาษามคธ
๑. ๐  อโสโก  มหาราชา  ธมฺเตชพสี              ๐  อโศกมหาราช  ทรงธรรม  เดชะ
๒. วีรอสโม  สุนตฺตํ  สาสนำ  อโว-      อำนาจ  และมีความกล้าหาผู้เสมอมิได้  มีรับสั่ง
๓. จ  ธาตุปูชเขตฺตํ  ททาหิ  ตฺวํ  ๐      มายังพระเจ้าสุนัตต์ว่า  ท่านจงให้ที่นาบูชา
๔. สุนตฺโต  นาม  ราชา  สาสนํ  สญฺชา-      พระธาตุ ฯ  พระเจ้าสุนัตต์จึงประกาศกระแส
๕. เปตฺวา……..(ต่อไปนี้ชำรุด)……..      พระราชโองการให้ประชาชนทราบ ฯ ……..
๖. ……………………………………      ………………………………………………
๗. ……………………………………      ……………………… (ชำรุด) …………….
๘. ……………………………………      ………………………………………………
๙. ……………………………………
๑๐. ………………………………….
ด้านที่ ๒
   คำจารึกภาษาขอม             คำแปลภาษาขอม
๑. ๐  พฺระชํนฺวนมหาราชาธิราชดพฺระ            สิ่งสักการที่มหาราชาธิราชผู้มีพระนามว่า
๒. นามกุรุงศฺรีธรฺมฺมาโศก  ๐  ด      กรุงศรีธรรมาโศก(๑)  ถวายแด่พระสรีร
๓. พฺระศรีรธาตุ  ๐  ดพฺระนามกมฺรเต      ธาตุ(๒)  ซึ่งมีพระนามว่ากมรเตงชดตศรี-
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #149 เมื่อ: 10 พฤศจิกายน 2010 09:08:27 »

นครศรีธรรมราช ๒
๔. งชคตศฺรีธรฺมฺมาโศก  ๐  นาวิษย      ธรรมาโศก(๓)  ณ  ตำบลธานยปุระ  เช่นใน
๕. ธานฺยปุร  ๐  เราะดบาญชียเนะ  ๐  บาท   บัญชีนี้  ข้าบาทมูล(๔)  ผู้มีวรรณทุกเหล่า(๕)
๖. มูลอฺนกพรฺณฺณสบภาคสฺลิกปฺรำ      ๒๐๑๒,  พาน ๒๒,  ถ้วยเงิน ๒๒,  ช้าง ๑๐๐,
๗. ดบพฺยร  ๐  พานภยพฺยร  ๐  เพงปฺรา   ม้า ๑๐๐,  นาค ๑๐,  สีวิกา(๖)  สอง  เป็น
๘. กภยพฺยร  ๐  ตมฺรฺย  สตมฺวย      พระบูชา,  วันหนึ่งข้าวสาร ๔๐ ลิ ฯ(๗) 
๙. ๐  เอฺสะสตมฺวย  ๐  นาคสตมฺว            มหาเสนาบดีผู้หนึ่งชื่อศรีภูวนาทิตย์
๑๐. ย  ๐  ศีวิกาพฺยร  พฺระบูชา  ๐      อิศวรทวีป  นำกระแสพระราชโองการราชา
๑๑. มวยทินองกรลิบวนดบ  ๐      ธิราช(๘)  มายังกรุงสุนัต(๙)  ผู้ครอบครอง
๑๒. มหาเสนาบดีมวยเชมาะ      ณ  ธานยปุระ  บัณฑูรใช้ให้ถวายที่นาซึ่ง
๑๓. ศรีภูพนาทิตยอิศวรทวีป  ๐  นำศาสนรา   ได้กำหนดเขตไว้แล้ว  เป็นพระบูชากมรเตง
๑๔. ชาธิราชโมกดกุรุงสุนต  ด  ปรภู      ชคต(๑๐)  ใน  (มหา)  ศักราช(๑๑)  ๑๐๘๙  ขึ้น ๑๕
๑๕. ตรนาธานยปร  ๐  บนทวลเปรชวนภูมิ   ค่ำเดือนสาม  วันอาทิตย์  บูรพาษาฒ(๑๒)
๑๖. เสรนิพนธพระบูชากมรเตงช      ฤกษ์  เพลา  ๑  นาฬิกา ฯ
๑๗. คต  ๐  ดนวอศฏศุนยเอกศกบู            อนึ่ง  ความสวัสดีจงมี,  เวลาเที่ยง ฯ
๑๘. รณณมีเกตมาฆอาทิตยพารบู      กรุงสุนัตทำบูชากมรเตงชคต  ถวายที่นา
๑๙. รพพาสาธมวย  อนดวงทิกมวย      ซึ่งได้กำหนดเขตไว้แล้ว  เช่นในบัญชีนี้นา
๒๐. ๐  ศรีจมทยาหน  ๐  กุรุงสุนต      ……..บูรพาจดฉทิง  (=คลอง)  ปัศจิมจด
๒๑. เถวบูชากมรเต  (ง)  ชคตชวนภูมิ      ภูเขา……..ทักษิณจดบางฉวา……..อุดร
๒๒. เสรนิพนธเราะดบาญชียเนะเสร      จดฉทิงชรูกเขวะ  (=คลองหมูแขวะ)  นา
๒๓. …………………………………      โสรงขยำ  นาตรโลม  นาทรกง  บูรพาจด
๒๔. . . . ๐  บูรพพตรบฉทิง  ๐  บศจิมตรบพนํ   คลองเปร  ปัศจิมจดศรก  ทักษิณจดบึงสดก
๒๕. . . . ๐  ทกษิณตรบบางฉวา      อุดรจดคลองนาพระชคต  บูรพาจดกํติง
๒๖. . . . ๐  อุตตรตรบฉทิงชรูกเขวะ      อาคเนย์จด……..อุดรจดศรุก……..ผสมนา
๒๗. เสรโสรงขยำเสรตรโลมเสร      ซึ่งได้กำหนดเขตไว้แล้วเป็นห้าอเลอ ฯ(๑๓) 
๒๘. ทรกงบูรพพตรบฉทิงเปรบศจิม
๒๙. ตรบศรก  ๐  ทกษิณตรบบิงสดก
๓๐. อุตตรตรบฉทิงเสรพระชคต  ๐  บูรพพ
๓๑. ตรบกํติง  ๐  อเคนยตรบ.
๓๒. . . . ๐  อุตตรตรบศรุก . . .
๓๓. . . . ๐  ผสํเสรนิพนธอนเลปราม
อธิบายคำโดยผู้อ่านและแปล
(๑) กรุงศรีธรรมาศก, คำว่า “กรุง” ในภาษขอม เป็นกริยา แปลว่า ครอบ, รักษา,     ป้องกัน เป็นนามแปลว่านคร, ราชธานี, บุรี ในภาษาหนังสือหรือในวรรณคดีใช้แทนคำว่าพญา หรือราชา ก็มี เช่น กรุงศรีธรรมาโศก ในศิลาจารึกนี้คือพญาศรีธรรมาโศกหรือพระเจ้าศรีธรรมาโศกนั่นเอง
เรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าศรีธรรมาโศกทั้งสองพระองค์ปรากฏอยู่ในหนังสือเอกสารประวัติศาสตร์เมืองพัทลุง ซึ่งแต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๒ สมัยกรุงศรีอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระภูมินทรราชา (ขุนหลวงท้ายสระ) เล่าเรื่อง “นางเลือดขาว” มีใจความตอนหนึ่งเกี่ยวกับพระเจ้าศรีธรรมาโศกทั้งสองพระองค์ว่า
“นางและเจ้าพญา (คือนางเลือดขาว และกุมารผู้เป็นสามี) กรีธาพลกลับหลังมายังสทัง  บางแก้วเล่าแล กุมารก็เลียบดินดูจะสร้างเมือง ก็มาถึงแขวงเมืองนครศรีธรรมราชและก็สร้างพระพุทธรูปเป็นหลายตำบล จะตั้งเมืองบมิได้ เหตุน้ำนั้นเข้า หาพันธุ์สักบมิได้ ก็ให้มาตั้ง ณ เมืองนครศรีธรรมราช แลญังพระศพธาตุแลเจ้าพระญา (แลเจ้าพระญา = คือเจ้าพระญา) ศรีธรรมาโศก ลูกเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราชนั้น” สำหรับข้อความที่ขีดเส้นใต้นั้นหมายความว่า “ซึ่งมีพระบรมอัฐิของพระเจ้าพระญาศรีธรรมาโศกราช ผู้เป็นพระราชโอรสของเจ้าพระญาศรีธรรมาโศกราชประดิษฐานอยู่ในที่นั้น” ตามข้อความที่ยกมานี้พอจะทราบได้ว่า เมืองนครศรีธรรมราชในสมัยนั้นมีพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงพระนามว่าพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชอยู่สองพระองค์ คือ พระชนกกับพระราชโอรส แต่กระนั้นก็ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า ข้อความที่กล่าวมานี้จะตรงกับข้อความในศิลาจารึกหลักนี้หรือไม่ ขอให้นักประวัติศาสตร์ช่วยกันพิจารณาต่อไป
(๒) พระสรีรธาตุในที่นี้ หมายเอาพระบรมอัฐิของพระเจ้าศรีธรรมโศกในพระบรมโกศ
(๓) กมรเตงชคตศรีธรรมาโศก, คำว่า “กมรเตง” เป็นภาษาขอมแปลว่า “เป็นเจ้า” โดยปริยายหมายว่าเป็นที่เคารพนับถือเช่นพระเจ้าแผ่นดินและครูบาอาจารย์เป็นต้น ส่วนคำว่า “ชคต” นั้นเป็นภาษาสันสกฤตแปลว่า “สัตวโลกหรือปวงชน” กมรเตงชคต แปลว่า เป็นเจ้าแห่งสัตวโลกหรือเป็นเจ้าแห่งปวงชน เพระฉะนั้นคำว่า “กมรเตงชคตศรีธรรมาโศก” จึงอาจแปลได้ว่าพระเจ้าศรีธรรมาโศก เป็นเจ้าแห่งสัตวโลกหรือเป็นที่เคารพนับถือของปวงชน อนึ่ง พึงสังเกตว่า คำว่า “กมรเตง” นั้น ใช้สำหรับนำหน้านามของบุคคลซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ ทั้งที่ยังดำรงชีวิตอยู่หรือสิ้นชีวิตไปแล้วก็ได้ แต่   คำว่า “ชคต” เช่นในศิลาจารึกนี้ ใช้เฉพาะผู้ที่สิ้นชีวิตไปแล้ว, ความหมายของคำว่า “ชคต” นอกจากนี้โปรดดูในพจนานุกรมสันสกฤต
(๔) ข้าบาทมูล = ข้าราชการในพระราชสำนัก
(๕) วรรณทุกเหล่า = วรรณทั้ง ๔ คือ กษัตริย์, พราหมณ์, แพศย์, ศูทร
(๖) สีวิกา = วอ, เสลี่ยง, คานหาม
(๗) ลิ = เป็นมาตราชั่งตวงของขอมในสมัยโบราณ
(๘) ราชาธิราชในที่นี้ = กรุงศรีธรรมาโศกหรือพระเจ้าศรีธรรมาโศกในบรรทัดแรก
(๙) กรุงสุนัต = พระเจ้าสุนัต
(๑๐) กมรเตงชคต, คำว่า “กมรเตงชคต” ในศิลาจารึกนี้ เป็นคำเรียกแทนพระนาม พระเจ้าศรีธรรมาโศกในพระบรมโกศ
(๑๑) (มหา) ศักราช ๑๐๘๙ = พ.ศ. ๑๗๑๐
(๑๒) บูรพาษาฒ ชื่อฤกษ์ที่ ๒๐ ได้แก่ ดาวแรดตัวผู้ หรือดาวช้างพลาย
(๑๓) อเลอ = แปลง, ห้าอเลอ = ห้าแปลง.
จากศิลาจารึกหลักนี้จะเห็นได้ว่ามีความตอนหนึ่งกล่าวถึงพระราชาจากกรุงศรีธรรมาโศกถวายที่ดิน หรือกัลปนาอุทิศให้ผู้ซึ่งเป็นที่เคารพ ดังความตอนหนึ่งว่า “. . . สิ่งสักการที่มหาราชาธิราช ผู้มีพระนามว่ากรุงศรีธรรมาโศก ถวายแด่พระสรีรธาตุซึ่งมีพระนามว่ากมรเตงชคตศรีธรรมาโศก . . . มหาเสนาบดีผู้หนึ่งชื่อ ศรีภูวนาทิตย์อิศวรทวีปนำกระแสพระราชโองการราชาธิราชมา . . .” แม้ศิลาจารึกหลักนี้จะไม่ได้ระบุที่ตั้งของกรุงศรีธรรมาโศกไว้อย่างชัดเจน แต่คำว่า “ศรีธรรมาโศก” ในศิลาจารึกนี้สัมพันธ์กับเรื่องราวของนครศรีธรรมราช ซึ่งพบหลักฐานเอกสารสนับสนุนในสมัยหลังอย่างไม่มีปัญหา๒๑ เช่น ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช และตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช อันเป็นเอกสารโบราณของไทยเป็นต้น
ส่วนเอกสารโบราณของต่างชาติก็ได้พบชื่อนี้เช่นเดียวกัน อย่างในเอกสารโบราณของลังกาที่เป็นรายงานของข้าราชการสิงหลที่เข้ามาในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ บังเอิญในตอนกลับจากกรุงศรีอยุธยาเรือเสียไปติดอยู่ที่ตลิ่งหน้าเมืองนครศรีธรรมราช ข้าราชการผู้นั้นชื่อ วิลพาเค (Lilbage) ได้กล่าวถึงเมืองนครศรีธรรมราชในขณะนั้นไว้อย่างน่าสนใจหลายประการ ตอนหนึ่งได้เขียนไว้ เมื่อว้นอังคารที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๒๙๔ ว่าดังนี้๒๒
“. . . ในใจกลางของเมืองนี้มีพระสถูปเจดีย์องค์หนึ่งใหญ่ทัดเทียมกับพระสถูปเจดีย์รุวันแวลิ (Ruvanvali) แห่งเมืองโปโลพนารุวะ (Polonnaruva) ในลังกา พระสถูปเจดีย์องค์นี้กษัตริย์ศรีธรรมาโศก (King Sri Dharmasoka) เป็นผู้ทรงสร้างโดยทรงประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายในพระสถูปเจดีย์องค์นี้ด้วย . . .”
“ศรีธรรมราช”
เป็นชื่อที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ ซึ่งพบที่วัดหัวเวียง (วัดเวียง) อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดังกล่าวมาแล้ว ศิลาจารึกภาษาสันสกฤตหลักนี้สลักขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๗๗๓ และได้กล่าวไว้ว่าสลักขึ้นในรัชสมัยของเจ้าผู้ครองแผ่นดินทรงมีอิสริยยศว่า “ศรีธรรมราช” ผู้เป็นเจ้าของ “ตามพรลิงค์ (ตามพรลิงคศวร)”
ต่อมาชื่อ “ศรีธรรมราช” นี้ได้ปรากฏอีกในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งกรุงสุโขทัย ซึ่งสลักด้วยอักษรไทยและภาษาไทย เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๕ ดังความบางตอนในศิลาจารึกหลักนี้  เช่น๒๓
       “. . . เบื้องตะวันตกเมืองสุโขทัยนี้มีอรัญญิก พ่อขุนรามคำแหงกระทำโอยทานแก่ มหาเถรสังฆราชปราชญ์เรียนจบปิฎกไตรย หลวกกว่าปู่ครูในเมืองนี้ทุกคนลุกแต่เมืองนครศรีธรรมราชมา . . .” และ “. . . มีเมืองกว้างช้างหลายปราบเบื้องตะวันออกรอดสระหลวง สองแคว ลุมบาจาย สคา เท้าฝั่งของเถีงเวียงจันทน์เวียงคำเป็นที่แล้ว เบื้องหัวนอน รอดคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว เบื้องตะวันตก รอดเมืองฉอด เมือง . . .น หงสาวดี สมุทรหาเป็นแดน เบื้องตีนนอน รอดเมืองแพร่ เมืองม่าน เมืองน . . .เมืองพลัว พ้นฝั่งของ เมืองชวาเป็นที่แล้ว . . .” เป็นต้น
“สิริธรรมนคร” หรือ “สิริธัมมนคร”
ชื่อนี้พบว่าใช้ในกรณีที่เป็นชื่อของสถานที่ (คือเมืองหรือนคร) เช่นเดียวกับชื่ออื่นๆ ที่กล่าวมาแต่หากเป็นชื่อของกษัตริย์มักจะเรียกว่า “พระเจ้าสิริธรรม” หรือ “พระเจ้าสิริธรรมนคร” หรือ “พระเจ้าสิริธรรมราช”
ชื่อ “สิริธรรมนคร” ปรากฏในหนังสือบาลีเรื่องจามเทวีวงศ์ ซึ่งพระโพธิรังสีพระเถระชาวเชียงใหม่เป็นผู้แต่งขึ้นในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ นอกจากนี้ยังปรากฏอยู่ในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ ซึ่งพระรัตนปัญญา พระเถระชาวเชียงใหม่เป็นผู้แต่งขึ้นเป็นภาษาบาลีเมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๐ และเมื่อมีผู้อื่นแต่งต่ออีก จนแต่งเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๐๗๑๒๔
ส่วนในหนังสือสิหิงคนิทานซึ่งพระโพธิรังสีพระเถระชาวเชียงใหม่ได้แต่งขึ้นเป็นภาษาบาลีเมื่อราว พ.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๘๕ (ในรัชกาลพระเจ้าสามฝั่งแกนหรือพระเจ้าวิไชยดิสครองราชย์ในนครเชียงใหม่ แห่งลานนาไทย) เรียกว่า “พระเจ้าศรีธรรมราช”๒๕
โลแค็ก”  หรือ  “โลกัก”  (Locae, Loehae)
เป็นชื่อที่มาร์โคโปโลเรียกระหว่างเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๕ โดยออกเดินทางจากเมืองท่าจินเจาของจีน แล่นเรือผ่านจากปลายแหลมญวนตัดตรงมายังตอนกลางของแหลมมลายู แล้วกล่าวพรรณนาถึงดินแดนในแถบนี้แห่งหนึ่ง ชื่อ “โลแค็ก” ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะเป็นลิกอร์หรือนครศรีธรรมราช๒๖
“ปาฏลีบุตร”  (Pataliputra)
เป็นชื่อที่ปรากฏในเอกสารโบราณของลังกาที่เป็นรายงานของข้าราชการสิงหลที่เข้ามาในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งได้กล่าวถึงเมืองนี้ไว้ในตอนเที่ยวกลับเพราะเรือเสียที่ตลื่งหน้าเมืองนี้ โดยเรียกคู่กันในเอกสารชิ้นนี้ว่า “เมืองปาฏลีบุตร” ในบางตอน และ “เมืองละคอน” (Muan  Lakon)๒๗ ในบางตอน  เช่น
“. . . ในวันอังคารที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๒๙๔ ในขณะที่เขากำลังมาถึงเมือง      ละคอน (Muan Lakon) ซึ่งเป็นแคว้นหนึ่งของสยาม เรือก็อับปางลงแต่ไม่มีผู้ใดได้รับอันตรายและทุกคนได้ขึ้นฝั่งยังดินแดนที่เรียกกันว่าเมืองละคอน ในดินแดนนี้มีเมือง (City) ใหญ่เมืองหนึ่งเรียกกันว่า “ปาฏลีบุตร” (Pataliputra) ซึ่งมีกำแพงล้อมรอบ  ทุกด้าน . . .”๒๘
   ในโครงยอพระเกียรติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีของนายสวนมหาดเล็กก็เรียกตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราชว่า “ปาตลีบุตร” เช่นกัน ดังที่ปรากฏในโคลงบางบทว่าดังนี้๒๙
 (๓๗) ปางปาตลีบุตรเจ้า      นัครา
แจ้งพระยศเดชา      ปิ่นเกล้า
ทรนงศักดิ์อหังกา      เกกเก่ง  อยู่แฮ
ยังไม่ประนตเข้า      สู่เงื้อมบทมาลย์ ฯ
“ลึงกอร์”
เป็นชื่อที่ชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ๓ จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสใช้เรียกชื่อเมืองตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช  นอกจากนี้ชื่อลึงกอร์นี้ชาวมาเลย์ในรัฐกลันตันและเมืองใกล้เคียงใช้เช่นเดียวกัน เป็นที่น่าสังเกตว่าชาวไทยมุสลิมในบริเวณดังกล่าวนี้ไม่เคยเรียกชื่อตามพร-ลิงค์ว่า “นครศรีธรรมราช” เลยมาแต่สมัยโบราณยิ่งกว่านั้นแม้แต่คำว่า “นคร” เขาก็ไม่ใช้ เพราะเขามีคำว่า “เนการี” หรือ “เนกรี” (Nigri) อันหมายถึงเมืองใหญ่หรือนครใช้อยู่แล้ว ปัจจุบันนี้ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง ๓ จังหวัดยังคงเรียกตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราชว่า
“ลึงกอร์” อยู่บ้างด้วยเหตุนี้ชื่อ “ลิกอร์” ที่ชาวโปรตุเกส ฮอลันดา และยุโรปชาติอื่นๆ ใช้เรียกชื่อตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช อาจจะเรียกตามที่ชาวมาเลย์และชาวพื้นเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยทั้ง ๓ จังหวัดใช้ก็ได้ เพราะชาวยุโรปคงจะอาศัยชาวมาเลย์เป็นคนนำทางหรือเป็นล่ามในการแล่นเรือเข้ามาค้าขายกับเมืองท่าต่างๆ บนแหลมมลายูตอนเหนือหรือคาบสมุทรไทย๓๐
“ลิกอร์”  (Ligor)
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #150 เมื่อ: 10 พฤศจิกายน 2010 09:08:49 »

นครศรีธรรมราช ๓
เป็นชื่อที่พ่อค้าชาวโปรตุเกสซึ่งเข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น คือในสมัยรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง หรือเมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๑ อันเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่ได้เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยใช้เรียกตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช และพบว่าที่ได้เรียกแตกต่างกันออกไปเป็น “ละกอร์” (Lagor) ก็มี
นักปราชญ์สันนิษฐานว่า คำว่า “ลิกอร์” นี้ชาวโปรตุเกสคงจะเรียกเพี้ยนไปจากคำว่า “นคร” อันเป็นคำเรียกชื่อย่อของ “เมืองนครศรีธรรรมราช” ทั้งนี้เพราะชาวโปรตุเกสไม่ถนัดในการออกเสียงตัว “น” (N) จึงออกเสียงตัวนี้เป็น “ล” (L) ดังนั้นจึงได้เรียกเพี้ยนไปดังกล่าว แลัวในที่สุดชื่อ “ลิกอร์” นี้กลายเป็นชื่อที่ชาวตะวันตกรู้จักกันดี๓๑
ในจดหมายเหตุของวันวลิต (Jeremais  Van  Vliet) พ่อค้าชาวดัทช์ซึ่งเป็นผู้จัดการห้างฮอลันดา และเข้ามาประเทศไทยในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองก็ได้เรียกเมืองนครศรีธรรมราชว่า “ลิกูร์” (Lijgoor  Lygoot)๓๒
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์    จอห์น ครอวฟอร์ด (John  Crawfurd) ฑูตชาวอังกฤษที่เป็นตัวแทนของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษเข้ามาเจรจากับรัฐบาลไทยก็เรียกนครศรีธรรมราชว่า “ลิกอร์”๓๓
แม้แต่ในปัจจุบันนี้ชาวตะวันตกก็ยังใช้ชื่อนี้กันอยู่ อย่างชื่อศิลาจารึกหลักที่ ๒๓ ที่พบ ณ วัดเสมาชัย (คู่แฝดกับวัดเสมาเมือง ต่อมารวมกับบางส่วนเป็นวัดเสมาเมือง) อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช นั้น ชาวตะวันตกและเอเชียรู้จักกันในนาม “จารึกแห่งลิกอร์” (Ligor  Inscription) นอกจากนี้ยังเรียกด้านที่ ๑ ของศิลาจารึกหลักนี้ว่า “Ligor A” และเรียกด้านที่ ๒ ว่า Ligor B “๓๔  ดังนั้นนอกจาก “ตามพรลิงค์” แล้ว ชื่อเก่าของนครศรีธรรมราชอีกชื่อหนึ่งที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในระยะหลัง คือ “ลิกอร์”๓๕
“ละคร” หรือ “ลคร” หรือ “ละคอน”
คงจะเป็นชื่อที่เพี้ยนไปจากชื่อ “นคร” อันอาจจะเกิดขึ้นเพราะชาวมาเลย์และชาวตะวันตกเรียกเพี้ยนไป แล้วคนไทยก็กลับไปเอาชื่อที่เพี้ยนนั้นมาใช้ เช่นเดียวกันกับที่เคยมีผู้เรียกนครลำปางว่า “เมืองลคร” หรือ “เมืองละกอน” เป็นต้น และคงเป็นชื่อที่ใช้เรียกกันในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ดังหลักฐานที่ปรากฏในเอกสารโบราณของฑูตสิงหลที่รายงานไปยังลังกา เมื่อ พ.ศ. ๒๒๖๔ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในชื่อ “ปาฏลีบุตร” ข้างต้นนั้น
นักปราชญ์บางท่านให้ความเห็นว่าที่ได้เรียกเช่นนี้เพราะว่าเมืองนครเคยมีชื่อเสียงทางการละครมาแต่โบราณ แม้แต่สมัยกรุงธนบุรีเมื่อเมืองหลวงต้องการฟื้นฟูศิลปะการละครยังต้องเอาแบบอย่างไปจากเมืองนครศรีธรรมราช๓๖
“นครศรีธรรมราช”
เป็นชื่อที่อาจารย์ตรี  อมาตยกุล และศาสตราจารย์ยอร์ช  เซเดส์ (George  Coedes)    นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสมีความเห็นว่า คนไทยฝ่ายเหนือเรียกขานนามราชธานีของกษัตริย์ “ศรีธรรม-ราช” ตามอิสริยยศของกษัตริย์ผู้ครองนครนี้ ซึ่งถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมาทุกพระองค์ จนเป็นที่รู้จักกันดีโดยทั่วไปและเป็นเหตุให้มีการขนานนามตามชื่ออิสริยยศของกษัตริย์ผู้ครองนครนี้ ซึ่งได้ใช้เรียกขานกันมาแต่สมัยสุโขทัยเป็นอย่างน้อยตราบจนปัจจุบันนี้๓๗
ด้วยวิวัฒนาการอันยาวนานแห่งนครศรีธรรมราช ดินแดนที่มีอดีตอันไกลโพ้นแห่งนี้ ชื่อที่ได้รับการจารึกไว้ในบันทึกแห่งมนุษยชาติ ณ ที่ต่างๆ กันทั่วทุกมุมโลก และทุกช่วงสมัยแห่งกาลเวลาที่นำมาแสดงเพียงบางส่วนเหล่านี้ย่อมชี้ให้เห็นพัฒนาการและอดีตอันรุ่งโรจน์ของนครศรีธรรมราชได้เป็นอย่างดี ยิ่งเมื่อหวนกลับไปสัมผัสกับหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบในนครศรีธรรมราชเข้าผสมผสานด้วยแล้ว ทำให้ภาพแห่งอดีตของนครศรีธรรมราชท้าทายต่อการทำความรู้จักกับ “นครศรีธรรมราช”   ดินแดนที่ร่ำรวยไปด้วยมรดกทางอารยธรรมและศิลปวัฒนธรรมแห่งนี้อย่างลึกซึ้งและจริงจังยิ่งขึ้น
วิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของนครศรีธรรมราช
การศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของนครศรีธรรมราชได้ดำเนินการมานานแล้ว อดีตอันรุ่งเรืองของนครศรีธรรมราชจึงได้รับการเผยแพร่ครั้งแล้วครั้งเล่าในรูปแบบและภาษาต่างๆ ข้อมูลที่นำมาใช้ในการศึกษาตีความทั้งจากศิลาจารึกรุ่นเก่าที่ค้นพบเป็นจำนวนมากในนครศรีธรรมราช ประติมากรรม และโบราณวัตถุสถานอื่นๆ ตลอดจนเอกสารโบราณที่ค้นพบในเมืองนี้เป็นจำนวนมากได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ เช่น ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช และตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช เป็นต้น ผลจากการศึกษาค้นคว้าเหล่านั้นล้วนยังประโยชน์ต่อการศึกษากับอารยธรรมของนครศรีธรรมราชในระยะต่อมาอย่างใหญ่หลวง
ครั้น พ.ศ. ๒๕๒๑ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, จังหวัดนครศรีธรรมราช, หน่วยงาน และเอกชนอีกเป็นจำนวนมากต่างก็ตระหนักและเล็งเห็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในอันที่จะศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดีของนครศรีธรรมราชอย่างมีระบบ จึงได้ร่วมกันจัดให้มี “โครงการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง ประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช พ.ศ. ๒๕๒๑-๒๕๓๐ ขึ้น โดยจะจัดสัมมนาทางวิชาการดังกล่าวในเนื้อหาต่างๆ ดังนี้๓๘
              ๑. ลักษณะพื้นฐานทางประวัติศาสตร์
๒. ลักษณะทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ
๓. ลักษณะทางประวัติศาสตร์สังคม
๔. ลักษณะทางภาษาและวรรณกรรม
๕. ลักษณะทางศิลปกรรม
๖. ประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราชที่สัมพันธ์กับดินแดนอื่น
การสัมมนาทางวิชาการประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราชตามโครงการนี้ ในระยะแรกมีจำนวน ๕ ครั้ง โดยได้กำหนดช่วงเวลาและหัวเรื่องไว้อย่างกว้างๆ ดังนี้
 ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๒๑ เรื่อง ประวัติศาสตร์พื้นฐานของนครศรีธรรมราช
 ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๒๔ เรื่อง ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมของนครศรีธรรมราช
 ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๒๖ เรื่อง ประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราชจากภาษาและวรรณกรรม
 ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๒๘ เรื่อง ประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราชจากศิลปกรรม
 ครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๓๐ เรื่อง การตีความใหม่เกี่ยวกับศรีวิชัย
ขณะนี้ (พ.ศ. ๒๕๒๗) การสัมมนาทางวิชาการดังกล่าวซึ่งจัดขึ้น ณ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราชได้ผ่านไปแล้ว ๓ ครั้ง คือ ครั้งที่ ๑ ในระหว่างวันที่ ๒๕-๒๘ มกราคม ๒๕๒๑, ครั้งที่ ๒ ในระหว่างวันที่ ๒๕-๒๗ มกราคม ๒๕๒๕ และครั้งที่ ๓ ในระหว่างวันที่ ๑๔-๑๘ สิงหาคม ๒๕๒๖     ผลจากการสัมมนาทางวิชาการดังกล่าวได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีของนครศรีธรรมราชอย่างกว้างขวาง๓๙
   ในที่นี้จะกล่าวถึงวิวัฒนาการทางด้านอารยธรรมของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีของนครศรีธรรมราชโดยสังเขป ดังนี้ คือ
ยุคหินกลาง
จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ได้จากการสำรวจภาคสนามทางโบราณคดีของกรมศิลปากรใน พ.ศ. ๒๔๕๒ ได้พบเครื่องมือหินเก่าแก่ (จากการเปรียบเทียบโดยถือตามลักษณะเครื่องมือ) จัดเป็นเครื่องยุคหินไพลสโตซีนตอนปลายที่ถ้ำตาหมื่นยม ตำบลช้างกลาง อำเภอฉวาง เครื่องมือหินดังกล่าวนี้มีลักษณะกะเทาะหน้าเดียว รูปไข่ คมรอบ ปลายแหลม ด้านบนคล้ายรอยโดยตัด คล้ายกับลักษณะของขวานกำปั้นที่พบ ณ ไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี และจัดว่าเป็นเครื่องมือหินยุคหินกลาง (อายุราว ๑๑,๐๐๐-๘,๓๕๐ ปี มาแล้ว) หรือมีลักษณะเหมือนเครื่องมือหินวัฒนธรรมโฮบิบเนียน  ดังนั้น จึงอาจจะกล่าวได้ว่าในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้มีมนุษย์เข้ามาอยู่อาศัยอยู่ตั้งแต่ยุคหินกลางเป็นอย่างน้อย  เป็นต้นมา๔๐
ยุคหินใหม่ 
ครั้นในยุคหินใหม่ (อายุราว ๓,๗๖๖-๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว) ได้พบเครื่องมือเครื่องใช้ และภาชนะดินเผาในยุคนี้กระจัดกระจายโดยทั่วไปทั้งที่บริเวณถ้ำและที่ราบของจังหวัดนครศรีธรรมราช เช่น พบเครื่องหินที่มีป่า ตัวขวานยาวใหญ่ (บางท่านเรียกว่า “ระนาดหิน”) ที่อำเภอท่าศาลา นอกจากนี้ได้พบขวานหินแบบ จงอยปากนก, มีดหิน, สิ่วหิน, และหม้อสามขา เป็นต้น ในหลายบริเวณของจังหวัดนี้๔๑
แสดงว่าในยุคนี้ได้เกิดมีชุมชนขึ้นแล้ว และชุมชนกระจัดกระจายโดยทั่วไป อันอาจจะตีความได้ว่าชุมชนในยุคนี้เองที่ได้พัฒนามาเป็นเมืองและมีอารยธรรมที่สูงส่งในระยะต่อมา
ยุคโลหะ
      ในยุคโลหะ (อายุราว ๒,๕๐๐-๒,๒๐๐ ปีมาแล้ว) ได้พบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญของยุคนนี้ คือ กลองมโหระทึกสำริดในนครศรีธรรมราชถึง ๒ ใบ คือ ที่บ้านเกตุกาย ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง ใบหนึ่ง และที่คลองคุดด้วน อำเภอฉวาง อีกใบหนึ่ง กลองมโหรทึกดังกล่าวนี้จัดอยู่ในวัฒนธรรมดองซอน
ดังนั้น ย่อมเป็นการยืนยันได้ว่ายุคนี้ชุมชนในนครศรีธรรมราชได้มีการติดต่อหรือแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชุมชนอื่นแล้ว การติดต่อดังกล่าวอาจจะโดยการเดินเรือ แสดงให้เห็นว่าสังคมหรือชุมชนในนครศรีธรรมราชเริ่มย่างเข้าสู่สังคมเมืองในยุคประวัติศาสตร์แล้ว ซึ่งระยะที่กล่าวนี้อาจจะเป็นระยะต้นคริสตศักราชหรือพุทธศตวรรษที่ ๕
พุทธศตวรรษที่ ๗-๘
ในคัมภีร์มหานิทเทศซึ่งแต่งขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ ได้กล่าวถึงเมืองท่าที่สำคัญในอินเดีย ลังกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายเมือง ในจำนวนเมืองเหล่านี้ตอนหนึ่งได้กล่าวถึงเมืองนครศรีธรรมราชไว้ด้วย ดังความตอนหนึ่งที่ว่า “. . . ไปชวาไปกะมะลิง (ตะมะลิง) ไปวังกะ (หรือวังคะ)  . . .”๔๒ นอกจากนี้ยังปรากฏในคัมภีร์มิลินทปัญหาซึ่งแต่งขึ้นในระยะเดียวกันกับคัมภีร์มหานิทเทศด้วย๔๓  คำว่า “กะมะลิง” หรือ “ตะมะลิง” หรือ “กะมะลี” หรือ “ตมะลี” จีนเรียกว่า “ตั้งมาหลิ่ง” เจาชูกัวเรียก “ตัน-มา-ลิง” ในศิลาจารึกเรียก “ตามพรลิงค์” หรือ “ตามรลิงค์” คือ เมืองนครศรีธรรมราชโบราณ๔๔
แสดงว่าในระยะนี้ เมืองนครศรีธรรมราชโบราณเป็นเมืองที่มีความเจริญทางด้านการค้า หรือเป็นตลาดการค้าที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักเดินเรือและ  พ่อค้าชาวอินเดีย อาหรับ และจีน
พุทธศตวรรษที่ ๙–๑๐
นอกจากเอกสารของต่างชาติจะกล่าวถึงนครศรีธรรมราชในระยะนี้แล้วได้มีการค้นพบ พระวิษณุศิลาอันเป็นเทวรูปกลุ่มที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน ๓ องค์ในภาคใต้ พระวิษณุในกลุ่มนี้จำนวน ๒ องค์ ค้นพบในจังหวัดนครศรีธรรมราช คือ องค์แรกค้นพบที่หอพระนารายณ์ อำเภอเมือง ต่อมาย้ายไปประดิษฐาน ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราชตามลำดับองค์ที่สองค้นพบที่วัดพระเพรง ตำบลนาสาร อำเภอเมือง และปัจจุบันนี้จัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช เทวรูปกลุ่มนี้มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๙–๑๐ เพราะเหตุว่าแสดงให้เห็นถึงอิทธิของศิลปะอินเดียสมัยมถุราและอมราวดีตอนปลาย (พุทธศตวรรษที่ ๘-๙) ปรากฎอยู่๔๕
พุทธศตวรรษที่ ๑๑–๑๒
ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๑ หลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาก็ได้ปรากฏขึ้นในนครศรีธรรมราช คือ เศียรพระพุทธรูปศิลาขนาดเล็กซึ่งพบที่อำเภอสิชล (สูง ๘.๙๐ เซนติเมตร) ปัจจุบันนี้จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช เศียรพระพุทธรูปดังกล่าวนี้มีต้นแบบมาจากศิลปะลุ่มแม่น้ำกฤษณาทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย และศิลปะแบบนี้ได้ส่งอิทธิพลต่อศิลปะรุ่นหลังมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๓๔๖
นอกจากนี้ในชุมชนโบราณสิชล๔๗ ซึ่งตั้งอยู่บนแนวสันทรายที่ทอดตัวในแนวเหนือ-ใต้ โดยเป็นแนวตั้งแต่เขตอำเภอขนอมผ่านลงมายังอำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งยาวประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร และอยู่ห่างจากชายฝั่งอ่าวไทยประมาณ ๕–๑๐ กิโลเมตร ได้ค้นพบโบราณวัตถุและโบราณสถานที่ได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์มากมาย๔๘
ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาทางอารยธรรมและการตั้งถิ่นฐานของมนุษยชาติ เพราะมีที่ราบชายฝั่งทะเลกว้างใหญ่ไพศาลเหมาะแก่การกสิกรรม มีอ่าวและแม่น้ำหลายสายที่เหมาะแก่การจอดเรือและคมนาคม มีแหล่งน้ำสำหรับการบริโภค และตั้งอยู่ในทำเลที่เป็นชายฝั่งทะเลเปิดอันเหมาะแก่การเป็นสถานีการค้า และแวะพักสินค้ามาแต่โบราณทำให้ชุมชนโบราณแห่งนี้มีพัฒนาการสูงส่งมาแต่อดีตเหมือนกับชุมชนอื่นๆ บนคาบสมุทรไทยอันเป็นศูนย์กลางหรือจุดนัดพบระหว่างอารยธรรมและการค้าของพ่อค้าวานิชในทะเลจีนใต้แห่งมหาสมุทรแปซิฟิกกับพ่อค้าวานิชในทะเลอันดามันแห่งมหาสมุทรอินเดีย หรืออีกนัยหนึ่งคือ “จุดนัดพบระหว่างตะวันออกกับตะวันตก”๔๙ หากแต่เพราะสภาพภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมว่าทำให้ชุมชนโบราณสิชลพัฒนาการได้อย่างรวดเร็วและกว้างใหญ่ไพศาลมาก ทั้งนี้เพราะสภาพภูมิศาสตร์โบราณคดีที่เอื้ออำนวยต่อการตั้งถิ่นฐานเช่นนี้ ย่อมเหมาะสำหรับการพัฒนาอารยธรรมของมนุษย์โบราณในแหล่งโบราณคดีชายฝั่งทะเลมาก โดยเฉพาะในยุคกึ่งก่อนประวัติศาสตร์และยุคเริ่มต้นประวัติศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบในภาคใต้ ปรากฏว่าลักษณะภูมิศาสตร์โบราณคดีมีอิทธิพลต่อการตั้งหลักแหล่งมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ แล้วได้วิวัฒนาการมาตามลำดับ ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนในการตั้งหลักแหล่งชุมชนที่เป็นบ้านเมืองของประชาชนในภาคใต้มาตั้งแต่โบราณ กล่าวว่า บริเวณที่มีความเจริญสูงขึ้นเป็นสังคมเมืองอยู่ทางฝั่งตะวันออกเป็นส่วนใหญ่ ส่วนทางฝั่งตะวันตกประชาชนที่ตั้งหลักแหล่งมี ๒ พวกซึ่งมีวัฒนธรรมแตกต่างกัน คือ พวกแรกได้แก่คนพื้นเมืองที่มีความเป็นอยู่ล้าหลัง มีอาชีพประมงหรือล่าสัตว์และทำไร่เลื่อนลอย อยู่กันเป็นชุมชนเล็ก ไม่สามารถขยายตัวเป็นเมืองใหญ่ได้ ส่วนพวกที่สองเจริญสูงกว่า แต่มักจะเป็นชาวต่างชาติ เช่น พ่อค้าหรือนักแสวงโชคที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งพักสินค้าหรือขุดแร่ธาตุเป็นสินค้า ชุมชนพวกหลังนี้อาจจะขยายตัวเป็นเมืองได้๕๐
จากการศึกษาทางโบราณคดีที่ผ่านมา กล่าวได้ว่าได้ค้นพบชุมชนโบราณที่เก่าแก่ในคาบสมุทรไทยในช่วงต่อเนื่องของยุคสำริดกับยุคเริ่มแรกของการเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ของประเทศไทยในแหล่งโบราณคดีชายฝั่งทะเลหลายแห่งด้วยกัน แหล่งโบราณคดีเหล่านั้นได้พัฒนาอารยธรรมสืบเนื่องกันต่อมาด้วยเวลาอันยาวนาน และมีจำนวนไม่น้อยที่ได้พัฒนามาตามลำดับตราบจนปัจจุบันนี้ แหล่งโบราณคดีที่สำคัญและเป็นที่รู้จักกันดีมีอยู่มาก๕๑ เช่น แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร แหล่งโบราณคดีในเขตอำเภอท่าชนะ แหล่งโบราณคดีพุมเรียงและชุมชนโบราณไชยา  อำเภอ  แหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แหล่งโบราณคดีในเขตอำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา และอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช แหล่งโบราณคดีสทิงพระ จังหวัดสงขลา แหล่งโบราณคดีในอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี แหล่งโบราณคดีเกาะคอเขา  และอื่นๆ ในเขตอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และแหล่งโบราณคดีควนลูกปัด อำเภอครองท่อม จังหวัดกระบี่ เป็นต้น
แหล่งโบราณคดีที่กล่าวมานี้มีอยู่ไม่น้อยที่สังเกตได้อย่างชัดเจนว่าเป็นแหล่งโบราณคดีที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ อันหมายถึงศาสนาดั้งเดิมตั้งแต่สมัยพระเวท (เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ ๑,๐๐๐ ปีก่อนพุทธกาล) ซึ่งมีลักษณะเป็นพหุทวนิยม แล้วเปลี่ยนแปลงไปทีละขั้น จนถึงขั้นเทพองค์เดียวที่เป็นนามธรรม (Monism) ในที่สุดก็ได้วิวัฒนาการมาเป็นศาสนาฮินดู มีพระเจ้าสูงสุดสามองค์ คือ พระพรหม พระวิษณุ (นารายณ์) และพระศิวะ (อิศวร) เรียกว่า “ตรีมูรติ” ในที่นี้ไม่ได้ใช้คำว่า “ศาสนาฮินดู” เพราะว่าหากใช้คำนี้ย่อมเน้นเฉพาะศาสนาของชาวอินเดียในปัจจุบันซึ่งมีลักษณะเป็นชาตินิยมหรือพลังทางสังคม บางช่วงรวมเอาศาสนาพุทธเข้าไปด้วยเมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้ภาพพจน์ทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี และวิวัฒนาการของวัฒนธรรมไม่ชัดเจน เพราะไม่ได้เน้นสายธารทางศาสนาจากอินเดียที่ได้หลั่งไหลเข้ามาสู่ภาคใต้ของประเทศไทยแล้วกลายเป็นตัวกำหนดวัฒนธรรมทางศาสนาที่สำคัญ๕๒
ก่อนที่ชุมชนในภาคใต้ของประเทศไทยจะรับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์นั้นได้กล่าวมาแล้วว่าดินแดนในบริเวณนี้มีพัฒนาการทางอารยธรรมสูงส่งมาก่อนแล้ว ดังนั้นจึงย่อมมีคติความเชื่ออันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองมาก่อนแล้วเช่นเดียวกันและเมื่อรับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์เข้ามาในระยะหลังคงจะได้มีการผสมผสานเอาความเชื่อดั้งเดิมที่มีอยู่เดิมที่มีอยู่เดิมกับศาสนาพราหมณ์เข้าผสมกลมกลืนกันได้อย่างเหมาะสม จากนั้นจึงพัฒนาให้ศาสนาพราหมณ์ที่ผสมกลมกลืนกับความเชื่อดั้งเดิมแล้วนั้นวิวัฒนาการกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นไปและมีความรุ่งเรืองสืบมาตราบจนปัจจุบันนี้
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #151 เมื่อ: 10 พฤศจิกายน 2010 09:09:15 »

นครศรีธรรมราช ๔
อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ที่เราค้นพบ ณ ชุมชนโบราณสิชลจึงเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งแห่งลักษณาการของวัฒนาการอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองบนคาบสมุทรไทยดังกล่าวมา
ในด้านศิลปวัฒนธรรมกล่าวได้ว่าในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๑–๑๔ ดินแดนต่างๆ บนแหลมมลายูตอนเหนือ โดยเฉพาะนครศรีธรรมราชได้รับอิทธิพลแบบอย่างทางศิลปวัฒนธรรมจากอินเดียอย่างมากมาย อาจจะเรียกได้ว่าชาวอินเดียได้เดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายและเผยแพร่อารยธรรมฝังรากฐานมั่นคงครั้งสำคัญ๕๓ โดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์เจริญรุ่งเรืองสูงสุด จึงได้ค้นพบโบราณวัตถุสถานมากกว่าที่ใดในประเทศไทย แม้แต่ชื่อเมือง “ตามพรลิงค์” ก็ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสืบเนื่องมาจากศาสนาพราหมณ์นั่นเองและหลักฐานทางโบราณวัตถุในลัทธิไศวะนิกายซึ่งเป็นที่เคารพนับถือแพร่หลายในอินเดีย ภาคใต้ก็พบเป็นจำนวนมากมายในเขตนครศรีธรรมราชรองรับอยู่แล้ว๕๔
แม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีในชุมชนโบราณสิชล แต่ได้ค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีในชุมชนโบราณแห่งนี้เป็นจำนวนมากทั้งโบราณวัตถุโบราณสถาน ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม สระน้ำโบราณ และเศษศิลาจารึก หลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้ ส่วนใหญ่เนื่องในศาสนาพราหมณ์ทั้งสิ้น
โบราณวัตถุโดยเฉพาะประติมากรรมรูปเคารพเนื่องในศาสนาพราหมณ์ที่ค้นพบ ณ ชุมชนโบราณสิชลแห่งนี้ล้วนทำด้วยศิลา เช่น ศิวลึงค์, โยนิ, พระวิษณุ และพระพิฆเนศวร (พระคเณศ) เป็นต้น จากการกำหนดอายุเบื้องต้นโดยอาศัยรูปแบบทางศิลปกรรมเป็นเครื่องกำหนดอาจจะกล่าวได้ว่าโบราณสถานวัตถุเหล่านี้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑–๑๔ เป็นส่วนใหญ่
ส่วนโบราณสถานนั้นอาจจะกล่าวได้ว่าในชุมชนโบราณแห่งนี้มีโบราณสถานที่เนื่องในศาสนาพราหมณ์เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เพราะได้ค้นพบโบราณวัตถุหรือรูปเคารพที่เนื่องในศาสนาพราหมณ์ปรากฎอยู่ควบคู่กับโบราณสถานเหล่านี้ เช่น ศิวะลึงค์ เทวรูปพระวิษณุ เทวรูปพระพิฆเนศวร และโยนิ เป็นต้น
จากการสำรวจภาคสนามทางโบราณคดีในขณะนี้ปรากฎว่าได้พบโบราณสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์ในชุมชนโบราณแห่งนี้ไม่น้อยกว่า ๕๐ แห่ง โบราณสถานส่วนใหญ่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ (คลอง) ในอำเภอสิชล เช่น คลองท่าทน คลองท่าควาย คลองท่าเรือรี และคลองเทพราช เป็นต้น
จากการกำหนดอายุเบื้องต้นของโบราณสถานเหล่านี้ โดยอาศัยรูปแบบทางศิลปกรรมของโบราณวัตถุที่พบร่วมกับโบราณสถานและอักษรปัลลวะบางตัวที่สลักอยู่ในชิ้นส่วนของอาคารโบราณสถานบางแห่ง อาจจะกล่าวได้ว่าโบราณสถานเหล่านี้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑–๑๔๕๕อันเป็นโบราณสถานรุ่นแรกๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังหลงเหลืออยู่
โบราณสถานในชุมชนโบราณแห่งนี้จำนวนไม่น้อยที่ถูกรื้อ จนโบราณวัตถุหรือรูปเคารพ และชิ้นส่วนของอาคารซึ่งทำด้วยหินและอิฐกระจัดกระจายโดยทั่วไปชิ้นส่วนที่ทำด้วยหิน ได้แก่ ฐานเสา ธรณี ประตู กรอบประตู และเสา เป็นต้น และยังมีโบราณสถานอีกไม่น้อยที่ยังคงอยู่ภายใต้เนินดิน ซึ่งคงจะหมายถึงว่ายังไม่ถูกขุดคุ้ยทำลาย
รอบโบราณสถานที่อยู่ห่างจากลำน้ำ มักจะมีสระน้ำโบราณปรากฏอยู่โดยทั่วไปสระน้ำโบราณเหล่านี้คงจะขุดขึ้นเนื่องในความเชื่อหรือพิธีกรรมทางศาสนาและการบริโภคของชุมชน แต่โบราณสถานบางแห่งแม้จะอยู่ใกล้ลำน้ำ แต่ก็ปรากฏสระน้ำโบราณเช่นกัน โดยสระน้ำโบราณมักจะอยู่ในด้านอื่นๆ ที่ตรงข้ามกับด้านที่ติดลำคลอง
บรรดาโบราณสถานเหล่านี้ โบราณสถานบนเขาคานับว่าน่าสนใจมาก เพราะได้ค้นพบโบราณวัตถุ (รูปเคารพ) ของไวษณพนิกาย และไศวะนิกายที่มีอายุอยู่ในช่วงเดียวกันอยู่ด้วยกันหลายชิ้น นอกจากนี้ยังได้พบโยนิ (หรืออาจจะเป็นฐานรูปเคารพ) ขนาดใหญ่ ลำรางน้ำมนต์ และชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมที่ส่วนใหญ่ทำด้วยหินปูนและอิฐเช่นเดียวกับแหล่งโบราณคดีอื่นๆ กระจายอยู่ทั่วไปทั้ง  ภูเขาลูกนี้แต่สิ่งเหล่านี้พบในปริมาณมากและขนาดใหญ่กว่าในแหล่งโบราณคดือื่นๆ คงจะเป็นเพราะมีโบราณสถานหลายหลังหรือไม่ก็มีโบราณสถานขนาดใหญ่อยู่บนภูเขาลูกนี้จนนักโบราณคดีบางท่านตั้งข้อสังเกตว่าโบราณสถานแห่งนี้อาจจะเป็นศูนย์กลางของชุมชนโบราณแหล่งนี้ และศูนย์กลางของโบราณสถานทั้งหลายในบริเวณนี้ก็ได้เพราะรอบๆ โบราณสถานแห่งนี้โดยเฉพาะทางด้านเหนือห่างออกไปรัศมีราว ๕๐๐-๑,๐๐๐ เมตร ได้พบโบราณสถานที่ชาวบ้านพบรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์ทั้งไศวะนิกายและะไวษณพนิกายกระจายอยู่อย่างหนาแน่นเป็นพิเศษ
บริเวณที่พบโบราณสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์หนาแน่นเป็นพิเศษในชุมชนโบราณ  สิชล ได้แก่ ตำบลสิชล ตำบลเทพราช ตำบลเสาเภา ตำบลฉลอง และตำบลทุ่งปรัง ในอำเภอสิชล ตำบลกลาย ในอำเภอท่าศาลา และในเขตเมืองโบราณนครศรีธรรมราช
จากที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่าชุมชนโบราณสิชลคงจะเป็นพัฒนาการของชุมชนยุคแรกๆ ของการเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนี้ต่อเนื่องมาจนถึงยุครุ่งเรืองยุคหนึ่งของ “ตามพรลิงค์” ก็เป็นได้
ยิ่งกว่านั้น เมื่อได้ดำเนินการทางโบราณคดีในชุมชนโบราณแห่งนี้อย่างจริงจังและถูกหลักวิชาแล้ว คงจะได้ข้อมูลที่มีค่ายิ่งเกี่ยวกับอารยธรรมอิทธิพลศาสนาพราหมณ์ในภูมิภาคนี้เป็นอย่างมาก เพราะหลักฐานเหล่านี้อาจจะรองรับเอกสารจีนที่กล่าวว่าในราวพุทธศตวรรษที่ ๘-๙ ในบริเวณเมือง Tun-sun ซึ่งเป็นรัฐทางชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกมีความเจริญทางการค้ามากจึงมีชนชาติเป็นจำนวนมากอยู่ในชุมชนนี้ ดังปรากฏว่ามีพวกฮู (Hu) ตั้งหลักแหล่งอยู่ทีนี่ถึง ๕๐๐ ครอบครัว และพวกพราหมณ์ชาวอินเดียกว่าพันคน ซึ่งจำนวนหนึ่งได้แต่งงานกับสตรีชาวพื้นเมืองก็เป็นได้๕๖
นอกจากจะพบหลักฐานทางโบราณคดีทั้งที่เกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะในประเทศอินเดียโดยตรงอย่างมากมายในนครศรีธรรมราชในระยะนี้แล้ว เรายังค้นพบศิลาจารึกรุ่นแรกของประเทศไทยในนครศรีธรรมราชอีกหลายหลักในระยะนี้๕๗ เช่น ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย ซึ่งค้นพบเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ ณ หุบเขาช่องคอย บ้านคลองท้อน หมู่ที่ ๙ ตำบลควนเกย อำเภอร่อนพิบูลย์ โดยจารึกด้วยอักษรปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐–๑๑ (นายชูศักดิ์ ทิพย์เกษร นักภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร มีความเห็นว่าเมื่อพิจารณาโดยอาศัยวิวัฒนาการของรูปแบบอักษรเป็นเกณฑ์แล้ว จะปรากฏว่าศิลาจารึกหลักนี้มีรูปอักษรเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้)๕๘ ศิลาจารึกหลักนี้ใช้ภาษาสันสกฤต ข้อความที่จารึกบางท่านกล่าวว่าเป็นการบูชาพระศิวะ, ความนอบน้อมต่อพระศิวะ, เหตุที่บุคคลผู้นับถือพระศิวะเข้าไปหาพระศิวะ และคติชีวิตที่ว่าคนดีอยู่ในบ้านของผู้ใด ความสุขและผลดีย่อมมีแก่ผู้นั้น๕๙ แต่บางท่านมีความเห็นว่าเป็นจารึกเกี่ยวกับการสรรเสริญและสดุดีพระเกียรติคุณของกษัตริย์ศรีวิชัย๖๐ และศิลาจารึกวัดมเหยงคณ์ อำเมือง (จารึกหลักที่ ๒๗ ในหนังสือประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๒) ซึ่งจารึกด้วยอักษรปัลลวะคล้ายกับตัวอักษรที่พบในดินแดนเขมรโบราณ ภาษาสันสกฤต อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ กล่าวถึงเรื่องราวทางศาสนา เรื่องของสงฆ์ พราหมณ์ และจริยวัตรอันเป็นส่วนประกอบทางศาสนา๖๑ เป็นต้น
จากหลักฐานที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นว่านครศรีธรรมราชได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอินเดียทั้งในด้านอักษร ภาษา ความเชื่อ ศาสนา ประเพณี กฎหมาย และระบบการปกครอง อันเป็นรากฐานที่สำคัญทางวัฒนธรรมของนครศรีธรรมราชและของไทยในปัจจุบันนี้
พุทธศตวรรษที่ ๑๓–๑๙
นักปราชญ์บางท่านมีความเห็นว่าในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ จดหมายเหตุจีนในสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. ๑๑๖๑–๑๔๙๙) เรียกนครศรีธรรมราชว่า “ชิหลีโฟชี” หรือ “ชิ-ลิ-โฟ-ชิ” หรือ “ชิหลีโฟเช” ต่อมาถึงสมัยราชวงศ์ซ้อง (พ.ศ. ๑๕๐๓–๑๘๒๒) เปลี่ยนเป็นเรียกว่า “สันโฟซี” หรือ “ซันโฟซี” ตำนานและพงศาวดารลังกาเรียกว่า “ชวกะ” ส่วนจดหมายเหตุพ่อค้าชาวอาหรับเรียกว่า “ซาบัก” หรือ “ซาบากะ” ศาสตราจารย์ยอร์ช  เซเดส์  เรียกว่า “ศรีวิชัย” อันเป็นชื่อที่ได้มาจากศิลาจารึกหลักที่ ๒๓ (วัดเสมาเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช) เพราะในคำแปลศิลาจารึกหลักที่ ๒๓ ซึ่งสลักเมื่อ พ.ศ. ๑๓๑๘ นี้ ท่านเรียกกษัตริย์ว่า “พระเจ้ากรุงศรีวิชัย” และท่านยืนยันว่าชื่อที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นชื่อเดียวกัน เพียงแต่ท่านไปมีมติว่าศูนย์กลางหรือราชธานีของอาณาจักรศรีวิชัยควรอยู่ที่เมืองปาเล็มบัง ในเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย แต่ต่อมาศาสตราจารย์มาชุมดาร์มีความเห็นขัดแย้งว่า ราชธานีควรจะอยู่ ณ ที่ที่พบศิลาจารึกหลักที่ ๒๓ คือ นครศรีธรรมราช๖๒
นอกจากชื่อพวกชวกะแล้ว ตำนาน พงศาวดารลังกา และจดหมายเหตุ เช่น คัมภีร์มหานิทเทศ ยังเรียกชื่อดินแดนปลายแหลมทองอีกหลายชื่อ เช่น สุวรรณทวีป, สุวรรณปุระ, และตามพรลิงค์ เป็นต้น๖๓
คำ “ตามพรลิงค์” นั้น ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ (วัดหัวเวียง  ไชยา) ด้วย ทำให้นักโบราณคดียอมรับว่าหมายถึงนครศรีธรรมราช เพราะฉะนั้นนักปราชญ์บางท่านจึงมีความเห็นว่ารัฐศรีวิชัยกับนครศรีธรรมราชก็คือแผ่นดินเดียวกัน ขอบเขตของรัฐนี้จะกว้างขวางแค่ไหนก็เป็นไปตามระยะแห่งความเจริญความเสื่อม ที่ตั้งของราชธานีจะโยกย้ายไปตั้งที่เมืองใดบ้างก็ย่อมแล้วแต่พระราชอัธยาศัย และอานุภาพของกษัตริย์ผู้ปกครองรัฐในแต่ละช่วงสมัย๖๔ แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่เป็นที่ยุติ คงจะต้อง
ศึกษาค้นคว้ากันต่อไปอีกไม่น้อย๖๕   
พุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๕ ๖๖
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งเริ่มต้นในสมัยพระรามาธิบดี ๑ (ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๙๓-๑๙๑๒) เป็นต้น แคว้นนครศรีธรรมราชคงจะเข้ารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแคว้นศรีอยุธยา และแคว้นอื่น ๆ ด้วย เช่น ล้านนา สุโขทัย และละโว้ เป็นต้น เมื่อรัฐอิสระเหล่านี้รวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วจึงเรียกว่า "ราชอาณาจักรสยาม" โดยให้มีศูนย์กลางหรือราชธานีที่กรุงศรีอยุธยา ส่วนแคว้นอื่นๆ มีฐานะเป็นประเทศราช
ในราว พ.ศ. ๑๙๒๘ พระราเมศวร (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๙๓๑-๑๙๓๘) ได้เสด็จยกกองทัพขึ้นไปตีเชียงใหม่และได้กวาดต้อนชาวเชียงใหม่มาไว้ที่เมืองนครศรีธรรมราช นับเป็นวิธีลดอำนาจหัวเมืองล้านนาไทย และเพิ่มประชากรให้เมืองนครศรีธรรมราช
ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๙๙๑-๒๐๓๑) ได้ทรงเปลี่ยนฐานะเมืองนครศรีธรรมราชเมือง "พระยามหานคร" มาเป็น "หัวเมืองเอก" ใน พ.ศ. ๑๙๙๘ และให้เจ้าเมืองได้รับบรรดาศักดิ์เป็น "เจ้าพระยาศรีธรรมราช"
ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๑๗๓-๒๑๙๘) นับเป็นครั้งแรกที่นครศรีธรรมราชเป็นกบฏ โดยมีสาเหตุจากความแตกแยกของข้าราชการในกรุงศรีอยุธยาและการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน ใน พ.ศ. ๒๑๗๒ ซึ่งตรงกับสมัยพระอาทิตยวงศ์
ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาเมื่อทราบสาเหตุ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ซึ่งต้องการเป็นกษัตริย์ปกครองกรุงศรีอยุธยาแทนพระอาทิตย์วงศ์กษัตริย์ผู้เยาว์ ก็ได้เริ่มวางแผนที่จะกำจัดออกญาเสนาภิมุข (ยามาดา) เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่นผู้มีอำนาจมากในกรุงศรีอยุธยาเวลานั้นให้ออกไปเสียจากกรุงศรีอยุธยา เพื่อจะได้ไม่ขัดขวางการปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ของตน โดยส่งให้ออกญาเสนาภิมุขไปปราบกบฏที่นครศรีธรรมราชสำเร็จ ออกญาเสนาภิมุขได้ประหารชีวิตข้าราชการผู้ใหญ่ของเมืองที่ไม่ยอมอ่อนน้อมหลายคน พร้อมทั้งริบที่ดินจากชาวเมืองแบ่งปันให้ชาวญี่ปุ่นที่ติดตาม เมื่อเสร็จศึกเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว ออกญาเสนาภิมุขได้ยกทัพไปปราบกบฏที่ปัตตานี แต่เสียทีถูกอาวุธบาดแผลสาหัสกลับมารักษาตัวที่เมืองนครศรีธรรมราชจนเกือบหาย แต่กลับถูกพระยามะริดซึ่งออกไปช่วยราชการอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชใช้ผ้าพันแผลอาบยาพิษปิดให้ จึงถึงแก่กรรมเพราะยาพิษใน พ.ศ. ๒๑๗๓
ฝ่ายนครศรีธรรมราชเมื่อสิ้นออกญาเสนาภิมุขแล้ว ก็คิดตั้งตนเป็นอิสระไม่ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาอีก เพราะไม่เห็นด้วยกับการปราบดาภิเษกของพระเจ้าปราสาททอง การตั้งตนเป็นอิสระเช่นนี้ทางกรุงศรีอยุธยาถือว่าเป็นกบฏ จึงได้ส่งกองทัพไปปราบปรามโดยให้ออกพระศักดาพลฤทธิ์ และออกญาท้ายน้ำเป็นแม่ทัพ ผลปรากฏว่าตีเมืองนครศรีธรรมราชได้โดยง่าย
เวลาล่วงมาอีกประมาณ ๒๕ ปี เมืองนครศรีธรรมราชก็เป็นกบฏต่อกรุงศรีอยุธยาครั้งหนึ่ง คือเป็นกบฏในสมัยพระเพทราชา (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๒๓๑-๒๒๔๕) ใน พ.ศ. ๒๒๒๗ โดยสาเหตุจากเมืองนครศรีธรรมราชไม่ยอมรับพระเพทราชาให้สืบสันตติวงศ์ต่อจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทางกรุงศรีอยุธยาก็ยกกองทัพไปปราบอีกโดยให้พระสีหราชเดโชเป็นทัพหน้า พระยาราชบุรีเป็นทัพหลัง และให้พระยาราชวังสัน (แขก) เป็นแม่ทัพเรือ ใช้เวลาอยู่ถึง ๓ ปีจึงตีแตก ผลการเกิดกบฏครั้งนี้ ทำให้กรุงศรีอยุธยาไม่สู้ไว้วางใจเมืองนครศรีธรรมราชมากนัก จึงได้มีการย้ายสังกัดจากสมุหพระกลาโหมและสมุหนายกไปขึ้นกับสมุหพระยากลาโหมแต่ฝ่ายเดียว
ภายหลังที่เมืองนครศรีธรรมราชเป็นกบฏในรัชสมัยพระเพทราชาแล้ว เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชก็ถูกลดฐานะลงเป็นเพียง "ผู้รั้งเมือง" อยู่ระยะเมือง ครั้นถึงสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๒๗๕-๒๓๐๑) ได้มีการยกฐานะเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และยกฐานะเมืองเป็น "เมืองพระยามหานคร" เพราะเห็นว่าเมืองนครศรีธรรมราชเป็นหัวเมืองเอกอยู่ทางภาคใต้เพียงเมืองเดียว มีหน้าที่ในการควบคุมหัวเมืองประเทศราชในหัวเมืองมลายู และเป็นผู้รักษาอาณาเขตทางด้านนี้ด้วย
ครั้นสิ้นสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ กรุงศรีอยุธยาระส่ำระสายมาก พม่าก็ยกกองทัพใหญ่มาประชิดเมือง และในที่สุดเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. ๒๓๑๐ เมืองนครศรีธรรมราชก็ได้ตั้งตนเป็นใหญ่ขึ้นนาม "ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช" โดยมีพระปลัด (หนู) ผู้รั้งเมืองเป็นหัวหน้าควบคุม
เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้กู้อิสรภาพได้เรียบร้อยแล้ว ได้ยกทัพไปปราบปรามชุมนุมเจ้าพิมาย เสร็จแล้วจึงยกทัพลงมาปราบปรามชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช ผลของการรบในระยะแรกทัพหน้าของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสียที เป็นผลให้พระยาเพชรบุรีและพระศรีพิพัฒน์ตายในที่รบ ครั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทราบผลศึกว่าเพลี่ยงพล้ำจึงโปรดเกล้าฯให้ยกทัพหลวงไปทันที ครั้งนี้ทัพเมืองนครศรีธรรมราชได้โดยง่าย พระยาปัตตานีเกรงพระบรมเดชานุภาพจึงจับเจ้านคร (หนู) และครอบครัวส่งมาถวายแต่โดยดี คณะลูกขุนได้ปรึกษาโทษให้สำเร็จโทษเสีย แต่สมเด็จพระเจ้าธนบุรีทรงเห็นว่า เจ้านคร (หนู) มิได้เป็นกบฏประทุษร้ายต่อราชอาณาจักร เป็นแต่ตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้นในเวลาที่บ้านเมืองเป็นจลาจลและสูญเสียอิสระภาพแก่พม่า จึงเห็นสมควรพระราชทานอภัยโทษ และได้รับพระราชทานน้ำพิพัฒน์สัตยาเป็นข้าราชการในกรุงธนบุรี แต่ให้มียศเพียงพระยา พระราชทานบ้านเรือนให้อาศัยเป็นอย่างดี
เมื่อเสร็จศึกเมืองนครศรีธรรมราชในครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๑๐-๒๓๒๕) โปรดเกล้าฯ ให้ราชบัณฑิตอัญเชิญพระไตรปิฎกจากเมืองนครศรีธรรมราชลงเรือไปยังกรุงธนบุรีให้ครบทุกคัมภีร์ เพื่อคัดลอกเป็นฉบับจำลองไว้ ณ กรุงธนบุรี ทั้งนี้เนื่องจากพระไตรปิฎกในกรุงศรีอยุธยาได้ถูกพม่าเผยทำลายเสียหายมาก ส่วนตำแหน่งผู้รั้งเมืองนครศรีธรรมราชคนใหม่ โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าหลานเธอ เจ้านราสุริยวงศ์ ครองตำแหน่งและยกฐานะเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นเป็น   "ประเทศราช" อีกครั้งหนึ่ง โดยมีเจ้านราสุริยวงศ์เป็นเจ้าประเทศราช
เจ้านราสุริยวงศ์ครองเมืองนครศีรธรรมราชได้ราว ๖ ปี ก็ถึงแก่พิราลัยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๙ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงแต่งตั้งให้เจ้านคร (หนู) ซึ่งเข้ารับราชการในกรุงธนบุรีให้กลับคืนไปครองเมืองนครศรีธรรมราชอีกครั้ง โดยได้สุพรรณบัฏเป็น "พระเจ้าขัตติยราชนิคม สมมติมไหศวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช เจ้าขัณฑสีมา" เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๙
พระเจ้านครศรีธรรมราชได้รับเฉลิมพระยศเสมอด้วยเจ้าประเทศราช มีอำนาจแต่งตั้งพระยาอัครมหาเสนาและจตุสดมภ์สำหรับเมืองนครศรีธรรมราชได้ คล้ายกรุงธนบุรี พระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาจนกระทั่งสิ้นรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี
ครั้นถึงสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๕๒) คือ ในพ.ศ. ๒๓๒๗ จึงถูกถอดจากพระยศ "พระเจ้านครศรีธรรมราช" ลงเป็น "พระยานครศรีธรรมราช" และในรัชกาลเดียวกันได้แต่งตั้งอุปราช (พัฒน์) บุตรเขยของพระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) ขึ้นเป็น      "เจ้าพระยานครศรีธรรมราช" เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) รับราชการมาจนถึงปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๒ จึงได้กราบทูลลาออกจากตำแหน่งด้วยเห็นว่าตนชราภาพมากแล้ว
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิสหล้านภาลัย (ครองราชย์ ๒๓๒๕-๒๓๖๗) จึงได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระบริรักษ์ภูเบศรผู้ช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช มีนามในตราตั้งว่า "พระยาศรีธรรมโศกราช ชาติเดโชไชยมไหสุริยาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ พระยาศรีธรรมราช" ต่อมากระทำความดีความชอบในราชการจนได้รับการแต่งตั้งเป็น "เจ้าพระยานครศรีธรรมราช" คนทั่วไปรู้จักในนาม "เจ้าพระยานครน้อย"
เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ตามหลักฐานทางราชการกล่าวว่าเป็นบุตร เจ้าพระยานคร (พัฒน์) แต่คนทั่วไปทราบว่าเป็นโอรสของพระเจ้ากรุงธนบุรี
เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชผู้นี้มีความสามารถมากได้ทำการปราบปรามหัวเมืองมลายูได้สงบราบคาบ เป็นนักการทูตที่สำคัญคนหนึ่งของประเทศ โดยเฉพาะการเจรจากับอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ ๒-๓ ได้ทำให้เมืองนครศรีธรรมราชมีอิทธิพลต่อหัวเมืองมลายู และเป็นที่นับถือยำเกรงแก่บริษัทอังกฤษ ซึ่งกำลังแผ่อิทธิพลทางการค้าขายและทางการเมืองในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ยังเป็นผู้มีฝีมือในทางช่าง เช่น ฝีมือในทางการต่อเรือจนได้รับสมญาว่าเป็น "นาวีสถาปนิก" และในสมัยรัชกาลที่ ๔ (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๔๑๑) เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ก็ได้ถวายพระแท่นถมตะทองและพระราชยานถมอีกด้วย
ภายหลังที่เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ถึงแก่อสัญกรรม เจ้าเมืองนครศรีธรรมราขคนถัดมาคือ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อยกลาง) ผู้บุตร ไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร เป็นเหตุให้หัวเมืองมลายูกระด้างกระเดื่อง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๕๓) ได้ทรงแก้ไขจัดการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้ โดยให้มีการปกครองเป็นมณฑล นครศรีธรรมราชจึงเป็นมณฑลของประเทศไทยโดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชใน พ.ศ. ๒๔๓๙
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๔๕๓-๒๕๖๘) ได้มีการเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการแผ่นดินด้านการปกครองหัวเมืองอีกครั้งหนึ่ง ในรัชกาลนี้ได้   โปรดฯ ให้มีการแต่งตั้งตำแหน่งอุปราชปักษ์ใต้ขึ้นเพื่อปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้ทั้งหมด ในการนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ดำรงตำแหน่งอุปราชปักษ์ใต้
จนกระทั่งได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงได้ยุบมณฑลนครศรีธรรมราชลงเป็นจังหวัดหนึ่งของราชอุปราชอาณาจักรไทยและดำรงฐานะดังกล่าวเรื่อยมาจนปัจจุบัน
ด้วยเหตุที่นครศรีธรรมราชมีประวัติอันยาวนานมาก่อนกรุงสุโขทัยซึ่งถือว่าเป็นราชธานีแรกของไทย มีความเจริญรุ่งเรืองทางพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์มาก่อนศิลปวัฒนธรรม เช่น ประติมากรรม สถาปัตยกรรม จิตรกรรม ช่างฝีมือพื้นบ้าน การละเล่น และขนบธรรมเนียมประเพณีอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมจึงมีมาก ซึ่งชาวเมืองยังยึดถือปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน นครศรีธรรมราชจึงมีอารยธรรมและศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติบ้านเมืองมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #152 เมื่อ: 10 พฤศจิกายน 2010 09:09:41 »

นครศรีธรรมราช ๕
เชิงอรรถ

๑ ดู ธิดา สาระยา,  “พัฒนาการของรัฐบาลบนคาบสมุทรไทย เน้นตามพรลิงค์ (คริสตศตวรรษที่ ๖-๑๓,” ในประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราช ชุดที่ ๓ (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ๒๕๒๖), หน้า       ๙๔-๑๑๘.
   ดู ปรีชา นุ่นสุข, “การศึกษาเกี่ยวกับชื่อสถานที่สำคัญบนคาบสมุทรไทย : ตะกั่วป่า ไชยา และนครศรีธรรมราช, “ใน     ประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราช ชุดที่ ๓ (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช , ๒๕๒๖), หน้า ๑๔๘-๑๔๙.
๒  พระไตรปิฎก  ฉบับสยามรัฐ  เล่มที่ ๒๙  หน้า ๑๘๘-๑๘๙.
๓  ยอร์ช  เซเดส์,  ประชุมศิลาจารึกสยาม  ภาคที่ ๒  (พระนคร : หอพระสมุดสำหรับพระนคร, ๒๔๗๒),  หน้า ๑๒.
๔  มานิต  วัลลิโภดม,  “สภาพของอาณาจักรต่าง ๆ  ในภาคใต้ของประเทศไทยก่อนศรีวิชัยมีอำนาจ,”  ในรายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์และโบราณคดีศรีวิชัย  (กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร, ๒๕๒๕),  หน้า ๖๘.
๕  สุวัณณภูมิ  หรือสุวรรณภูมิ  (แปลว่า  ดินแดนทอง  - Golden  Land)  คงจะหมายถึงดินแดนแหลมอินโดจีนทั้งหมด  คือ  บริเวณพม่า  ไทย  กัมพูชา  และแหลมมลายู  ตรงตามที่  Childers,  Pali  Dictionary  กล่าวไว้  มิได้หมายถึงเฉพาะพม่าตอนล่าง  (Lower  Burma)  หรือพม่าตอนใต้เท่านั้น  หากแต่ตลอดตามแนวชายฝั่งตั้งแต่ย่างกุ้ง  (ร่างกุ้ง)  ลงไปถึงสิงคโปร์.
๖  มิลินทปัญหา  ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย หน้า ๔๖๔.
๗  Paul  Wheatley,  The  Golden  Khersonese.  (Kuala  Lumper : University  of  Malaya   Press, ๑๙๖๖),     p. ๑๘๓.
๘ Senarat  Paranavitana,  Ceylon  and  Malaysia.  (Colombo : Lake  House  Investments  Limited  Publishers, ๑๙๖๖), p. ๙๙.
๙  Paul  Wheatley,  op.  Cit., pp  ๖๖-๖๗,  ๗๗.
๑๐  ดู  Nihar  Ranjore  Ray,  Sanskrit  Buddhism  in  Burma. (Amsterdam, ๑๙๘๖),  PP. ๗๘-๗๙.
ดู  Paul  Wheatly,  op. cit.,  pp.๑๙๙-๒๐๐.
๑๑  ยอร์ช  เซเดส์,  ประชุมศิลาจารึก  ภาคที่ ๒  จารึกทวาราวดี  ศรีวิชัย  ละโว้  พิมพ์ครั้งที่ ๒  แก้ไขใหม่  (กรุงเทพ ฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๐๔),  หน้า ๓๐-๓๑ และรูปที่ ๑๐.
๑๒  ประทุม  ชุ่มเพ็งพันธุ์,  “ตามพรลิงค์”  วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต  มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๓),  หน้า ๙๓.
๑๓  ธรรมทาส  พานิช,  “กรุงตามพรลิงค์ที่เมืองนครศรีธรรมราช,”  พุทธศาสนาปีที่  ๔๙  เล่มที่ ๑-๒  (กุมภาพันธ์-พฤษภาคม, ๒๕๒๔),  หน้า ๓.
๑๔  ดู  สาส์นสมเด็จ  ฉบับวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๔๗๘,  ฉบับปลายเดือนพฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๔๗๘  และต้นเดือนธันวาคม  พ.ศ. ๒๔๗๘.
๑๕  ไมตรี  ไรพระศก,  “ปฏิกิริยาศิลปวัฒนธรรม,”  ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๔ (๒๕๒๓), หน้า ๖๗-๖๘
๑๖  Stanley  J.  O,  Connor,  Si  Chon : An  Early  Settlement  in  Penninsular  Thailand,”  Journal  of  the  Siam  Society,  Vol. LVJ, Pt. I  (January, ๑๙๘๖),  p. ๔.,  and  “Tambralinga  and  the  Khmer  Empire,”  Journal  of  the  Siam  Society,  Vol. ๖๓ pt.  I (January, ๑๙๗๕), pp. ๑๖๑-๑๗๕
๑๗  Senarat  paranavitana,  op. cit.,  pp. ๗๘-๗๙
๑๘  Ibid.
๑๙  Culavamsa,  Culavamsa,  being  the  more  recent  part  of  the  Mahavamsa,  Part  I,  translated  by  W.  Geiger,  Pali  Texi  Society,  Translation  Series,  No. ๑๘,  London, ๑๙๒๙.
๒๐  คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์  วัฒนธรรม  และโบราณคดี  สำนักนายกรัฐมนตรี,  ประชุมศิลา   จารึก  ภาคที่ ๓  (พระนคร : โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี,  ๒๕๐๘),  หน้า ๑๒-๑๘.
๒๑ ธิดา  สาระยา, เรื่องเดิม, หน้า ๑๐๙.
๒๒  P.E.E. Fernando, “An Account  of  the  Kandyan  Mission  Sent  to  Siam  in  ๑๗๕๐,”  The  Ceylon  Journal  of  Historical  and  Social  Studies,  Vol. ๒,  No. ๑ (January, ๑๙๕๙), pp. ๖๗-๘๒.
๒๓  คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์  สำนักนายกรัฐมนตรี  ประชุมศิลาจารึก  ภาคที่ ๑  (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, ๒๕๒๑),  หน้า ๑๕-๓๒.
๒๔  พระรัตนปัญญา,  ชินกาลมาลีปกรณ์  (พระนคร  :  กรมศิลปากร, ๒๕๑๗),  หน้า ๑๐๙.
๒๕  พระโพธิรังสี,  สิหิงคนิทาน  (พระนคร  :  กรมศิลปากร, ๒๕๐๖),  หน้า ๔๑.
๒๖  Colone  Sir  Henry  Jule,  (translated  and  edited),  The  Book  of  Ser  Marco  Polo : The  Venetian  Concerning  the  Kingdoms  and  Marvels  of  the  East  (London : John  Murray,  ๑๙๐๓),  p. ๒๗๖.
๒๗ ไมเคิล  ไรท์  ได้ตั้งข้อสังเกตว่าชาวสิงหลฟังคำที่มี  “ง”  สะกดเป็น  “น”  สะกดเสมอ  ดังนั้นคำว่า  “เมือง”  (Muang)  จึงจดเป็น  “มุอัน”  (Muan)
๒๘  P.E.E.  Fernando  op. cit.,  pp. ๖๗-๖๘.
๒๙ ประเสริฐ  ณ  นคร,  “จารึกที่พบในนครศรีธรรมราช”  ใน  รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช  (นครศรีธรรมราช  :  วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช,  ๒๕๒๑),  หน้า ๔๕๒.
๓๐  ประทุม  ชุ่มเพ็งพันธุ์,  เรื่องเดิม,  หน้า ๙๕-๙๖.
๓๑  Joaquim  de  Campos,  “Early  Portuguese  Accounts  of  Thailand,”  Journal  of  the  Siam  Society,  Selected   Articles  from  the  Siam  Society  Journal,  Vol.  VII,  Relationship  with  Portugal,  Holland,  and  the  Vatican,  (Bangkok,  ๑๙๕๙),  p. ๒๒๕.
๓๒  Jeremias  Van  Vliet,  The  Short  History  of  the  King  of  Siam,  translated  by  Leonard  Andaya,  (Bangkok : The  Siam  Society,  ๑๙๗๕),  p. ๑๖.
๓๓  John  Crawfurd,  Journal  of  an  Embassy  to  the  Courts  of  Siam  and  Cochin  China,  (Kuala  Lumpur : Oxford  University  Press,  ๑๙๖๗),  p. ๔๔๓.
๓๔  ดู F.D.K. Bosch, " De inscriptie van Ligor," TBG., LXXXI, ๑๙๔๑, pp. ๒๖-๓๘.
    ดู Boechari, 'On the Date of the Inscripion of Ligor B," SPAFA (SEAMEO Project in Archaeology and Fine Arts) Final Report Consultative Workshop on Archaeological and Environmental Studies on Srivijaya (I-W2A), Indonesia, August 31-September 12, 1982. (Jakarta : Southeast Asian Ministers of Education Organization, 1982), Appendix 4a.
๓๕   จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมแสดงให้เห็นว่า บริเวณของ "ลิกอร์" คงจะกว้างใหญ่มาก คือ อย่างน้อยก็กินบริเวณตั้งแต่เขตอำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถึงเขตตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช นักวิชาการบางท่านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า "Ligor area" ดู ธิดา  สารยะ, เรื่องเดิม หน้า ๑๑๐., นอกจากนี้นักวิชาการบางท่านยังพบว่า จากการตรวจสอบแผนที่ที่เขียนในสมัยโบราณเห็นได้ชัดเจนว่าบริเวณสทิงพระยังมิได้มีลักษณะเป็นแหลมอย่างที่ปรากฏในปัจจุบันนี้หากแต่พื้นดินแถบสทิงพระยังคงเป็นเกาะ ในคริสศตวรรษที่ ๑๗ เรียกบริเวณนั้นว่า "Coete Inficos" ครั้นต้นคริสตศตวรรษที่ ๑๘ มีชื่อว่า "Ile Papier" หรือ "de Ligor" ดู Guy Trebuil, สมยศ ทุ่งหว้า และอิงอร  เทรบุยล์, "ความเป็นมาและแนวโน้มวิวัฒนาการของเกษตรกรรมการบริเวณสทิงพระ," เอกสารประกอบการอภิปรายในการสัมมนา เรื่อง ประวัติศาสตร์และโบราณคดีบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ จัดโดย สถาบันทักษิณคดีศึกษาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ วันที่     ๘-๑๑ สิงหาคม ๒๕๒๖ ณ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา, หน้า๔.
๓๖  ประทุม  ชุ่มเพ็งพันธุ์, เรื่องเดิม, หน้า ๙๗.
๓๗  ตรี  อมาตยกุล, รวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช (พระนคร : กรมศิลปากร, ๒๕๐๕), หน้า ๑๑.
๓๘  วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช,  “แผนงานหลัก  โครงการสัมมนาทางวิชาการประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช  พุทธ-ศักราช ๒๕๒๑-๒๕๓๐”  ใน ประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราช  ชุดที่ ๓  (กรุงเทพมหานคร :    โรงพิมพ์กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๒๖),  หน้า ๒๓๙-๒๔๙.
๓๙  ดู  วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช,  ประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราช  ชุดที่ ๑  (กรุงเทพมหานคร :    โรงพิมพ์กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๒๑)                                                                                                   ดู  วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช,  รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช   (กรุงเทพมหานคร :       โรงพิมพ์กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๒๑)                            ดู  วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช,  ประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราช  ชุดที่ ๒   (กรุงเทพมหานคร :    โรงพิมพ์กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๒๕)                            ดู  วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช,  รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช  ครั้งที่ ๒  :  ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมของนครศรีธรรมราช   (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๒๖)                   ดู  วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช,  ประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราช  ชุดที่ ๓  (กรุงเทพมหานคร :     โรงพิมพ์กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๒๖)
๔๐  ธราพงศ์  ศรีสุชาติ  และอมรา  ขันติสิทธิ์,  “แนวความคิดและข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับก่อนประวัติศาสตร์ภาคใต้,”  ๒๕๒๔,  (เอกสารอัดสำเนา),  หน้า ๒.
๔๑  ธราพงศ์  ศรีสุชาติ  และอมรา  ขันติสิทธิ์,  เรื่องเดิม,  หน้า ๒-๕.
๔๒  พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ  เล่มที่ ๒๙  หน้า ๑๘๘.
๔๓  ซิลแวง  เลวี  กล่าว  คัมภีร์มิลินทปัญหารวบรวมขึ้นระยะเดียวกันกับคัมภีร์มหานิทเทศ  คือ   ราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘  และศาสตราจารย์นิลกันตะ  ศาสตรี  (Nilakanta  Sastri)  กล่าวว่า  คัมภีร์มิลินทปัญหาแต่งเมื่อราว ค.ศ. ๔๐๐  ดู  Sylvain  Levy  Ptoteme  le  Niddesa  et  la  Brhatkatha,”  Etudes  Asiatiques  II,  ๑๙๕๒.  และศาสตราจารย์ปรนะวิธาน  (Paranavitana)  มีความเห็นว่า  คำว่า  Tamali  บวกกับ  gam  หรือ  gamu  ซึ่งสันสกฤตใช้ว่า grama  จึงอาจจะเป็น  Tamlingam  หรือ  Tamalingamu  ในภาษาสิงหล  และคำนี้เมื่อแปลเป็นภาษาบาลีก็เป็น  Tambalin. Ga และเป็น  Tambralin. Ga  ในภาษาสันสกฤต  ดู  Senarat  Paranavitana,  Ceylon  and  Malaysia  (Columbo : Lake  House  Investments  Limited  Publishers, 1966),  p. 99.
๔๔  Paul  Wheatley,  The  Golden  Khersonese  (Kuala  Lumpur : University  of  Malaya  Press, 1961),  pp. 66, 76-77 183, 201-202.
๔๕  หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ  ดิศกุล,  ศิลปะในประเทศไทย  พิมพ์ครั้งที่ ๖  (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์อมรินทร์            การพิมพ์, 2522),  หน้า ๑๓.
๔๖  พิริยะ  ไกรฤกษ์,  ศิลปะทักษิณก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙  (กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร. ๒๕๓๒),  หน้า ๒๕.
๔๗ พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนโบราณสิชล  อยู่ในเขตอำเภอสิชล  จังหวัดนครศรีธรรมราช  อำเภอนี้ตั้งอยู่ในเขตที่ราบชายฝั่งทะเลตะวันออกของภาคใต้  (ชายฝั่งอ่าวไทย)  สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบชายทะเล  ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย  มีแม่น้ำสายสำคัญอันเป็นที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีหลายสาย  เช่น  คลองท่าเชี่ยว  คลองเทพ-ราช  คลองท่าเรือรี  คลองท่าควาย  และคลองท่าทน  เป็นต้น  คลองเหล่านี้ล้วนไหลลงสู่อ่าวไทยทั้งสิ้นและบางสายตื้นเขินไปมากแล้ว  ชื่อ  “สิชล”  นั้นน่าจะตรงกับที่ปรากฏใน  “ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช”  ว่า  “ตระชน”  และ  “ศรีชน”  ขณะนี้ชาวบ้านที่มีอายุเรียกกันโดยทั่วไปว่า  “สุชล”
๔๘  ดู  สุจิตต์  วงษ์เทศ,  “โบราณคดีพเนจร,”  ชาวกรุง  ปีที่ ๑๖  ฉบับที่ ๒  (พฤศจิกายน ๒๕๐๙),  หน้า ๗๘–๙๐.           ดู  Stanley  J. O’ Connor,  “Si  Chon : An  Early  Settlement  in  Peninsular  Thailand” ,  Journal  of  the  Siam  Society,  LVI,  pt, I. (January  ๑๙๖๘)  pp. ๑–๑๘.                                                                ดู  ศรีศักร  วัลลิโภดม, “จากท่าชนะถึงสงขลา”,  เมืองโบราณ  ปีที่ ๒  ฉบับที่ ๒  (มกราคม-มีนาคม ๒๕๑๙),  หน้า ๖๕–๗๗.                                                                                                                        ดู  ศรีศักร  วัลลิโภดม,  “ชุมชนโบราณในภาคใต้”  ใน  รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช  (นครศรีธรรมราช,  วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช ๒๕๒๑),  หน้า ๒๒–๘๐.                                                 ดู  ปรีชา  นุ่นสุข,  “สิชล : ชุมชนโบราณของพราหมณ์บนคาบสมุทรมลายู”,  ศิลปวัฒนธรรม  ปีที่ ๔  ฉบับที่ ๔ (กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖),  หน้า ๑๔–๒๔.                                                                                             ดู  Preecha  Noonsuk,  “Si  Chon : An  Ancient  Brahmanical  Settement  on  the  Malay  Peninsular,  “SPAFA  (SEAMEO  Project  in  Arehaeology  and  Fine  Arts)  Final  Report  Consultative  Workshop  on  Arehaeological  and  Environmental  Studies  on  Srivijaya  (T-W๓),  Bangkok  and  South  Thailand,  March  ๒๙–April  ๑๑,  ๑๙๘๓,  (Bangkok : Southeast  Asian  Ministers  of  Education  Oganization, ๑๙๘๓),  pp. ๑๔๕–๑๕๑.                                                                                         ดู  ปรีชา  นุ่นสุข,  “สิชล : อู่อารยธรรมอิทธิพลศาสนาพราหมณ์,”  เมืองโบราณ ปีที่ ๑๐  ฉบับที่ ๑  (มกราคม-มีนาคม ๒๕๒๗),  หน้า ๓๓–๔๑.
๔๙  Paul  Wheatley,  op. cit.,  pp. ๑๖–๑๗.
๕๐  ปรีชา  นุ่นสุข,  หลักฐานทางโบราณคดีในภาคใต้ของประเทศไทยที่เกี่ยวกับอาณาจักรศรีวิชัย  (นครศรีธรรมราช : ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้  วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช ๒๕๒๕),  หน้า ๕–๗๕.
๕๑  ดูรายละเอียดใน  ธิดา  สาระยา,  “พัฒนาการของรัฐบนคาบสมุทรไทย เน้นตามพรลิงค์  (คริสตศวรรษที่ ๖–๑๓),”  ใน  ประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราช  ชุดที่ ๓  (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช  ๒๕๒๖),  หน้า ๙๔–๑๑๘.  และปรีชา  นุ่นสุข  “การศึกษาเกี่ยวกับชื่อสถานที่สำคัญบนคาบสมุทรไทย : ตะกั่วป่า  ไชยา  และนครศรีธรรมราช”,  ใน  ประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราช  ชุดที่ ๓  หน้า ๑๑๙–๑๖๕.
๕๒  สุวิทย์  ทองศรีเกตุ,  “การศึกษาวิเคระห์อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ที่มีต่อพฤติกรรมทางศาสนาของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช,”  วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต  สาขาศาสนาเปรียบเทียบ  บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยมหิดล, ๒๕๒๔, (อัดสำเนา)  หน้า ๘
๕๓  Stanley  J.  O’ Connor,  Hindu  Gods  of  Peninsular  Siam. (Ascona : Artibus  Asiae   Publishers,  ๑๙๗๒),  pp. ๑๑–๑๗.
๕๔  Stanley  J.  Connor,  “Si  Chon : An  Early  Settlement  in  Peninsular”  Journal  of  the  Siam  Society,  Vol. LVI,  pt.  I  (January, ๑๙๖๘),  p. ๑๔.
๕๕  ปรีชา  นุ่นสุข ,  “สิชล : ชุมชนโบราณของพราหมณ์บนคาบสมุทรมลายู,”  ศิลปวัฒนธรรม  ปีที่ ๔  (กุมภาพันธ์  ๒๕๒๖),  หน้า  ๑๔–๒๓.
๕๖  ปรีชา  นุ่นสุข,  “สิชล : อู่อารยธรรมอิทธิพลศาสนาพราหมณ์,”  เมืองโบราณ ปีที่ ๑๐  ฉบับที่ ๑ (มกราคม-มีนาคม ๒๕๒๗),  หน้า ๔๐–๔๑.
๕๗  ยอร์ช  เซเดส์,  เรื่องเดิม,  หน้า  ๒๑–๔๐.
๕๘  ชูศักดิ์  ทิพย์เกษร,  “คำบรรยายวิชาวิธีใช้เอกสารโบราณประกอบวิชาโบราณคดี.”  บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัย ศิลปากร  ภาคการศึกษาที่  ๒  ปีการศึกษา  ๒๕๒๓  โดย  นายปรีชา  นุ่นสุข  เป็นผู้บันทึก.
๕๙  ชูศักดิ์  ทิพย์เกษร  และชะเอม  แก้วคล้าย,  “ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย,”  ศิลปากร  ปีที่ ๒๔  ฉบับที่ ๔  (กันยายน ๒๕๒๓),  หน้า, ๘๙–๙๓.
๖๐  ดู  ปรีชา  นุ่นสุข,  “จารึกหุบเขาช่องคอย : หน้าใหม่ของประวัติศาสตร์ภาคใต้,”  ศิลปวัฒนธรรม,  ปีที่ ๑  ฉบับที่ ๗  (พฤษภาคม ๒๕๒๓),  หน้า ๔๘–๕๙.                                                                                        ดู  M.C. Chand  Chirayu  Rajani,  “Scientific  Evidence  in  the  Sri  Vijaya  Stoty, ๑๙๘๑,  (Type-written),  pp. ๑๒–๑๕.                                                                                                                           ดู  ปรีชา  นุ่นสุข,  หลักฐานทางโบราณคดีในภาคใต้ของประเทศไทยที่เกี่ยวกับอาณาจักรศรีวิชัย  หน้า ๑๑๓–๑๑๙                                   ดู  ไมเคิล  ไรท์,  “ศิลาจารึกหลักที่พบใหม่  (ช่องคอย)  กับประวัติศาสตร์ศรีวิชัย,”  ศิลปวัฒนธรรม, ปี่ที่ ๓  ฉบับที่ ๙  (กรกฎาคม ๒๕๒๓),  หน้า ๑๘–๑๙.
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #153 เมื่อ: 10 พฤศจิกายน 2010 09:09:59 »

นครศรีธรรมราช ๖
๖๑  ยอร์ช  เซเดส์,  เรื่องเดิม,  หน้า ๓๖–๓๗.
๖๒  ดู  มานิต  วัลลิโภดม,  “ศรีธรรมาโศกมหาราช,”  อนุสาร  อ.ส.ท.,  ปีที่ ๑๘  ฉบับที่ ๙  (เมษายน  ๒๕๒๑),  หน้า ๑๖–๑๘.
๖๓  มานิต  วัลลิโภดม,  เรื่องเดิม, หน้า, ๑๘.
๖๔   มานิต  วัลลิโภดม,  เรื่องเดิม, หน้า, ๑๘.
๖๕  ดู  หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ  ดิศกุล,  “อาณาจักรศรีชัย,”  ใน  รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช  ครั้งที่ ๒ : ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมของนครศรีธรรมราช  (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช,  ๒๕๒๖),  หน้า  ๕๕–๗๑.
    ดู  มานิต  วัลลิโภดม,  “สภาพของอาณาจักรต่างๆ  ในภาคใต้ของประเทศไทยก่อนศรีวิชัยมีอำนาจ,”  ใน  รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์และโบราณคดีศรีวิชัย  (กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร,  ๒๕๒๕),  หน้า  ๖๕–๙๑.    ดู  สืบแสง  พรหมบุญ,  “การบันทึกหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับศรีวิชัย,”  ใน  รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์และโบราณคดีศรีวิชัย  (กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร,  ๒๕๒๕),  หน้า ๙๒–๙๕.                                  ดู  ธิดา  สาระยา,  เรื่องเดิม,  หน้า ๙๔–๑๑๘.                            ดู  ศรีศักร  วัลลิโภดม,  “พัฒนาการของบ้านเมืองในภาคใต้ของประเทศไทยในสมัยศรีวิชัย,”  ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์และโบราณคดีศรีวิชัย  (กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร, ๒๕๒๕),  หน้า ๑๓๔–๑๔๒.       ดู  สุเนตร  ชุตินธรานนท์,  “สภาพการเมืองของศรีวิชัย,”  ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์และโบราณคดีศรีวิชัย  (กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร, ๒๕๒๕),  หน้า ๑๔๓–๑๔๘.    
    ดู  ประเสริฐ  ณ  นคร,  “อักษร  ภาษา  และจารึกสมัยศรีวิชัย,”  ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์และโบราณคดีศรีวิชัย  (กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร, ๒๕๒๕),  หน้า ๑๕๗–๑๗๐.                                               ดู  พิริยะ  ไกรฤกษ์,  ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแบบศิลปะในประเทศไทย : คัดเลือกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  สาขาส่วนภูมิภาค  (กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร, ๒๕๒๐),  หน้า ๑๗–๑๘.                     ดู  Stanley  J. O, Connor,  "Tambralinga  and  the  Khmer  Empire,"  JSS  Journal  of  the  Siam  Society,  Vel. ๖๓,  pt.l  (January ๑๙๗๕),  pp. ๑๖๑-๑๖๕.                                         ดู  M.C.  Subhadradis  Diskul,  The  Art  of  Srivijaya   (Kuala  Lumpur : Oxford  University  Press,  ๑๙๘๐)                                  ดู  M.C.  Subhadradis  Diskul,  "A  Short  History  of  the  Srivijaya  Kingdom  and  Its  Art  in  Southern  Thailand."  SPAFA  (SEAMEO  Project  in  Archaeology  and  Fine  Arts)  Final  Report  Workshop  on  Research  on  Srivijaya,  Jakarta,  March ๑๒-๑๗,  ๑๙๗๙,  (Jakarta : SEAMEO, ๑๙๘๙),  Appendix ๓ d.  ดู  ประทุม  ชุ่มเพ็งพันธุ์  “ตามพรลิงค์,”  วิทยานิพนธ์ปริญญาโท  บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๓,  (อัดสำเนา)                                ดู  หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ  รัชนี,  “นครศรีธรรมราชในสมัยศรีวิชัย,”  ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช  (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ๒๕๒๑),  หน้า ๘๑–๘๘.                           ดู  ธรรมทาส  พานิช  ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาสมัยศรีวิชัย  (กรุงเทพ ฯ : แพร่พิทยา, ๒๕๒๑),  หน้า ๑–๒๘๗. ดู  ธรรมทาส  พานิช,  พนม  ทวาราวดี  ศรีวิชัย  (นครหลวงกรุงเทพธนบุรี : แพร่พิทยา, ๒๕๑๕),  หน้า ๑–๓๒๙. ดู  พระครูอินทรปัญญาจารย์  (พุทธทาส  อินฺทปญฺโญ),  แนวสังเขปของโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน  (สุราษฎร์-ธานี : คณะกรรมการจังหวัดสุราษฎร์ธานี  และคณะกรรมการอำเภอไชยา, ๒๔๙๘),  หน้า ๑–๘๐.                    ดู  Boechari,  “Report  on  Research  on  Srivijaya”  SPAFA  Final  Report  Workshop  on  Research  on  Srivijaya, Jakara, March  ๑๒–๑๗, ๑๙๗๙, (Jakarta : SEAMEO, ๑๙๗๙),  Appendix ๓a.                                      ดู  Janice  Stargardt,  “The  Satingpra  Civilization  and  Itrs  Relevance  to  Srivijayan  Studies,”  SPAFA  Final  Report  Consultative  Workshop  on  Archeological  and  Environmental  Studies  on  Srivijaya  (I-w๒A),  Indonesia,  August  ๓๑ - September ๑๒, ๑๙๘๒, (Jakarta : SEAMEO, ๑๙๘๒),  Appendix  ๔b.ดู  Phasook  Indrawooth,  “A  Study  on  local  Ceramics  of  Southem  Thailand  and  Their  Relations  to  Dvaravati  and  Srivijayan  Culture,”  SPAFA  Final  Report  Consultative  Workshop  on  Archeological  and  Environmental  Studies  on  Srivijaya  (I-w๒A),  Indonesia,  August  ๓๑ - September ๑๒,  ๑๙๘๒,  (Jakarta : Seameo, ๑๙๘๒),  Appendix  ๓ e.             
     ดู  Janics  Stargardt, “Kendi  Production  at  Kok  Moh,  Songkhla  Province,  and  Srivijayan  Trade  in  the  ๑๑  th  Century,  “SPAFA  Final  Report  Consultative  Workshop  on  Archeological  and  Environmental  on  Srivijaya  (T-W๓).  Bangkok  and  South  Thailand,  March  ๒๙–April ๑๑  ๑๙๘๓,  (Bangkok : SEAMEO,  ๑๙๘๓).  Pp.  ๑๘๑–๑๘๙.                             ดู  Tatsure  Yamamoto,  “Reexamination  of  Historical  Texts  Concerning  Srivijaya,”  SPAFA  Final  Report  Consultative  Workshop  on  Archeological  and Environmental  Studies  on  Srivijaya  (T-W๓),  Bangkok  and South  Thailand,  March ๒๙ - April ๑๑, ๑๙๘๓,  (Bangkok : SEAMEO, ๑๙๘๓), pp. ๑๗๑-๑๗๙.                       
    ดู  John N,  Miksic,  “Srivijaya : Political,  Economic,  and  Artistic  Framework  for  Analysis,”  SPAFA  Final  Report  Consultative  Workshop  on  Archeological  and  Environmental  Studies  on  Srivijaya  (T-W๓),  Bangkok  and  South  Thailand,  March ๒๙ - April ๑๑,  ๑๙๘๓,  (Bangkok : SEAMEO, ๑๙๘๓),  pp.  ๑๙๕–๒๐๖.                                             ดู  Satyawati  Suleiman,  “The  Role  of  the  Sailendras  in  Srivijaya,  SPAFA  Final  Report  Consultative  Workshop  on  Archeological  and  Environmental  Studies  on  Srivijaya  (T-W๓),  Bangkok  and  South  Thailand,  March ๒๙ - April ๑๑,  ๑๙๘๓,  (Bangkok : SEAMEO, ๑๙๘๓),  pp.  ๖๑–๖๕.                                                                     ดู  เขมชาติ  เทพไทย,  “หลักฐานใหม่เกี่ยวกับการเดินเรือสมัยศรีวิชัยที่แหลมโพธิ์”  ใน  ประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราช  ชุดที่ ๒  (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช,  ๒๕๒๕),  หน้า  ๒๕๔–๒๖๖.                        
๖๖   ดู ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, รายงานการสำรวจช่างฝีมือในจังหวัดนครศรีธรรมราช (กรุงเทพมหานคร : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, ๒๕๒๔), หน้า ๑๔-๑๘.
    ดู พลโทดำเนิน เลขะกุล, "นครศรีธรรมราชสมัยสุโขทัย (พ.ศ. ๑๗๐๐-๒๐๐๐," ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ๒๕๒๑), หน้า ๑๔๑-๑๖๑.
    ดู ตรี  อมาตยกุล, "นครศรีธรรมราชสมัยกรุงศรีอยุธยา" ใน รายการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ๒๕๒๑), หน้า ๑๘๗-๒๐๒.
     ดู น้อม  อุปรมัย, "นครศรีธรรมราชสมัยกรุงศรีอยุธยา," ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ๒๕๒๑), หน้า ๑๗๔-๑๘๖.
     ดู เฉลิม  อยู่เวียงชัย, "นครศรีธรรมราชสมัยกรุงธนบุรี. "ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ๒๕๒๑), หน้า ๒๑๘-๒๖๘.
     ดู สงบ  ส่งเมือง และทวีศักดิ์  ล้อมลิ้ม, "ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงธนบุรีกับหัวเมืองนครศรีธรรมราช," ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูศรีธรรมราช, ๒๕๒๖), หน้า ๒๖๙-๒๘๙.
     ดู  ณัฐวุฒิ  สุทธิสงคราม, "นครศรีธรรมราชสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น" ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ๒๕๒๑), หน้า ๒๙๐-๒๙๕).
     ดู  ประสิทธิ์  รุ่งเรืองรัตนกุล, "สภาพเศรษฐกิจของนครศรีธรรมราชสมัยสุโขทัยถึงรัตนโกสินทร์," ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครฯ ครั้งที่ ๒ : ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมของนครศรีธรรมราช (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ๒๕๒๖), หน้า ๒๕๖-๒๗๔.


ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดนครศรีธรรมราช. กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๒๗.
                      
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #154 เมื่อ: 10 พฤศจิกายน 2010 09:13:04 »

ครบแล้วนะครับ 77 จังหวัดของประเทศไทย หวังว่าพี่น้องคงจะได้รับความรู้นะครับ
 ซูม ซูม ซูม ซูม ซูม ซูม  ถ่ายรูป ถ่ายรูป ถ่ายรูป อ่านหนังสือ อ่านหนังสือ อ่านหนังสือ

ปล.สุดท้ายเคยจัดทำเอกสารข้อมูลอยู่พอดีรื้อเจอเลย เอามาลงให้อ่านกันเล่นๆ  แต่ต้องขออภัยเนื่องจากไม่สามารถอัฟโหลดรูปจำนวนมากลงได้
ข้อมูลทั้งหมด อยู่ที่ 7GB เลยเอามาให้อ่านกันแต่ Text นะครับ
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #155 เมื่อ: 25 พฤศจิกายน 2010 12:48:34 »

UP ซะหน่อย เด๋วพี่น้องไม่เห็น หุหุหุ
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
Baby smalltoy
มือเก่าหัดแข่ง
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 144

มี...อย่างเดียวไม่ได้ต้อง..ถึงจะเทพได้


ดูรายละเอียด
« ตอบ #156 เมื่อ: 25 พฤศจิกายน 2010 16:06:33 »

คอบคุณคับ
บันทึกการเข้า

ไม่ต้องผ่อนเลย.......ซ่อมอย่างเดียว!
addy_ae92
มือใหม่หัดขับ
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 6


เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม


ดูรายละเอียด
« ตอบ #157 เมื่อ: 26 พฤศจิกายน 2010 11:15:48 »

ยอดมากครับ ความรู้รอบตัวดีๆ คำนับ
บันทึกการเข้า

ae 92_GTI ใช่เลย
หน้า: [«5]  «  1 ... 6 7 [8]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006-2008, Simple Machines | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!