เอามาให้อ่านเล่นๆครับ
ผสมข้ามพันธุ์การเปลี่ยนเครื่องยนต์ในลักษณะผสมข้ามพันธุ์ รถยุโรปเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ญี่ปุ่นหรือรถญี่ปุ่นเปลี่ยนเครื่องข้ามพันธุ์กันเอง ล้วนจะต้องพบกับปัญหามากมาย จะทำอย่างไรเพื่อให้พบปัญหาในการดัดแปลงน้อยที่สุด
ทำไมต้องผสมข้ามพันธุ์
1. เครื่องยนต์เก่าหรือหาอะไหล่ยากและแพง ถ้าทนใช้ต่อไปจะต้องพบกับปัญหาในการใช้งานมากมาย ประเด็นนี้มักเกิดขึ้นกับรถรุ่นเก่า ๆ ที่นับวันจะขาดแคลนอะไหล่
2. เครื่องยนต์เก่าซ่อมแซมยาก ต้องใช้เทคนิคมาก หากช่างซ่อม(มือถึง)ยาก หรือหาอู่ซ่อมยาก อีกทั้งยังคิดว่า ค่าวิชาแพงอีกด้วย
3. เครื่องยนต์เก่าสมรรถนะต่ำ ปรับแต่งแล้วไม่คุ้มค่า ปรับแต่งยาก หรือขาดอุปกรณ์ในการปรับแต่ง
4. เครื่องยนต์เก่ามีอัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงสูงจนกระเป๋าฉีก
5. เครื่องยนต์เก่า มีเทคโนโลยีต่ำ ไม่ทันสมัย
แต่การผสมข้ามพันธุ์ มักจะมีกรอบในเรื่อง ?คุณค่าของตระกูลรถ? เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ?ต่างคนต่างจิตใจ ต่างความคิด บางคนคิดว่า การใช้เครื่องยนต์ต่างพันธุ์ จะทำให้รถยนต์ขาดคุณค่า พันธุ์ไส้กรอกเยอรมันแต่ใช้ขุมพลังปลาดิบ ดูอย่างไรก็ไม่เข้าท่า รถยนต์ที่ถูกผสมข้ามพันธุ์ส่วนใหญ่ จึงมีราคาต่ำกว่ารถยนต์ในรุ่นเดียวกันที่ใช้เครื่องยนต์เดิม การผสมข้ามพันธุ์ในรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ที่มีอายุการใช้งานเพียงไม่กี่ปี จึงไม่ได้รับความนิยม เพราะคำว่า ?เสียตระกูล? อีกทั้งเครื่องยนต์ก็ยังใหม่อยู่ มิได้มีปัญหาในการใช้งานปกติแต่อย่างใด การผสมข้ามพันธุ์ในรถรุ่นใหม่ ๅ ส่วนใหญ่มักจะมีเหตุผลเดียวกัน คือ อยากแรง
รถยุโรปผสมข้ามพันธุ์
รถยนต์ยุโรปที่ผลิตจำหน่ายในเมืองไทย ส่วนใหญ่จะใช้เครื่องยนต์รุ่นเล็ก ๆ และมีสมรรถนะต่ำ (เมื่อเทียบกับต่างประเทศ) พอที่จะฉุดลากไปได้ตามความคุ้นเคยของคนไทยเท่านั้นเอง ถ้าเจ้าของรถยนต์คันใดต้องการเพิ่มสมรรถนะเครื่องยนต์ ก็ต้องเสียค่าอุปกรณ์ปรับแต่งในราคาแพง ครั้นจะซื้อเครื่องยนต์เก่าจากตลาดเครื่องยนต์เก่าในสายพันธุ์เดียวกันมาใส่ ก็แพงจนจับไม่ลง หลายคนจึงต้องยอมเสียคุณค่าของรถ นำเครื่องยนต์ของรถญี่ปุ่นสมรรถนะสูงมาใส่เพื่อความสะใจ อย่าแปลกใจที่เห็นวอลโว่ ซีรีส์ 2 หรือ 7 ใส่เครื่องยนต์ 6 สูบ หรือบีเอ็มดับเบิลยูซีรีส์ 3 หรือ 5 ใส่เครื่องยนต์ 4 หรือ 6 สูบแรง ๆ ของรถญี่ปุ่น ทั้งนี้ เนื่องจากเชียงกง มีแต่เครื่องยนต์เก่าของรถญี่ปุ่น ให้เลือกซื้อในราคาที่คุ้มค่ากว่า เครื่องยนต์เก่าของรถยุโรปนั่นเอง การผสมข้ามพันธุ์กับการเสียคุณค่าในตัวรถ มีมุมมองที่ต่างไปจากเดิมแล้ว เพราะบางคน ไม่อายที่จะเปิดฝากระโปรงรถ เพื่อโชว์เครื่องยนต์ต่างสายพันธุ์กันอีกแล้ว ขอให้แรงและใช้ได้ดี ไม่มีปัญหาจุกจิกก็พอ
เทคนิคการเลือกเครื่องยนต์ ? ผสมข้ามพันธุ์ในรถขับเคลื่อนล้อหลัง
เป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมในการผสมข้ามพันธุ์มากที่สุด แต่มักพบปัญหามากมายในขั้นตอนการดัดแปลง บางครั้ง การเลือกซื้อเครื่องยนต์ตามที่ใจชอบ อาจทำให้การดัดแปลงมีปัญหามากมาย รถช้ำไปทั้งคัน เหนื่อยกันสุด ๆ กว่าจะเสร็จ อีกทั้งงบประมาณก็ยังบานปลายอีกด้วย
มิติและขนาดของเครื่องยนต์ - ถ้าเป็นเครื่องยนต์แบบเดียวกัน เช่น 4 สูบเรียงเหมือนกัน มักไม่เป็นปัญหาในด้านความยาว ถ้าติดหม้อน้ำก็สามารถถอดพัดลมเครื่องออก แล้วใช้พัดลมไฟฟ้าระบายความร้อนแทนได้
ความกว้างของเครื่องยนต์ ? เครื่องยนต์ไฮเทครุ่นใหม่ ๆ ที่ใช้ระบบหัวฉีดหรือเทอร์โบชาร์จ อาจมีท่อร่วมไอดีหรือท่อร่วมไอเสียเป็นปัญหาในด้านความกว้าง เพราะติดผนังห้องเครื่องยนต์ด้านข้าง ถ้าเครื่องยนต์กว้างเกินไป อาจต้องมองข้ามเครื่องยนต์ตัวนั้นไป เราไม่สามารถขยายผนังห้องเครื่องในด้านกว้างได้อย่างสะดวก เพราะรถทั่วไปมักใช้ช่วงล่างแบบแม็กเฟอร์สันสตรัต ซึ่งมีเป้าจุดยึดตายตัว ไม่สามารถเฉือนหรือตัดแต่งห้องเครื่องด้านกว้างเพื่อวางเครื่องยนต์ที่กว้างกว่าลงไปได้ ความกว้างของเครื่องยนต์ จึงเป็นจุดที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง
ระบบท่อร่วมไอดีและไอเสีย ? ควรเลือกเครื่องยนต์ที่มีท่อร่วมไอดี และท่อร่วมไอเสียอยู่ฝั่งเดียวกับเครื่องยนต์เดิม เพราะตัวถังหรือพื้นที่ส่วนใหญ่จะออกแบบเว้นว่างไว้สำหรับติดตั้งท่อไอเสียหรือท่อพักไว้โดยเฉพาะ การเดินท่อไอเสียใต้ท้องรถสลับข้างกัน อาจเกิดปัญหาในด้านเนื้อที่ ท่อร่วมไอดีที่สลับข้างจากเดิม ก็อาจสร้างปัญหาขึ้นได้ ให้ระวังเรื่องเนื้อที่ไว้ด้วย ถ้าเครื่องยนต์ตัวเดิม มีร่วมท่อไอดีและท่อไอเสียอยู่ฝั่งเดียวกัน แล้วเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์แบบครอสโฟล์ว (ไอดี-ไอเสีย คนละฝั่ง) ก็ควรเลือกเครื่องยนต์ที่มี ท่อไอเสียอยู่ฝั่งเดิม ทั้งนี้ ตำแหน่งของท่อไอดี-ไอเสีย อาจไม่เป็นปัญหามากนัก ถ้าห้องเครื่องมีความกว้างเหลือเฟือ
หม้อลมเบรก ? ควรประเมินให้ดีว่า จะมีส่วนใดของเครื่องยนต์ไปติดหม้อลมเบรกหรือเปล่า การย้ายหม้อลมเบรกแบบแม่ปั๊มในตัวไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าท่อร่วมไอเสียอยู่ชิดกับหม้อลมเบรกมากเกินไป ให้ระวังเรื่องความร้อน โดยอาจจะเสริมแผ่นกันความร้อนเพิ่ม
ขนาดของหัวหมูเกียร์ ? ประเมินดูคร่าว ๆ ว่า หัวหมูเกียร์ของเครื่องยนต์ตัวใหม่นั้นใหญ่กว่าเดิม จนต้องขยายตัวถังบริเวณห้องเกียร์หรือเปล่า อาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่ถ้าต้องขยายมาก ๆ ก็อาจจะเป็นปัญหาในด้านเนื้อที่
ตำแหน่งของคันเกียร์ ? ไม่ควรเลือกเครื่องยนต์ที่มีตำแหน่งของคันเกียร์ต่างจากเดิมมากนัก ถ้าคันเกียร์ถอยมาจากตำแหน่งเดิมมาก ก็อาจจะติดเบรกมือและเข้าเกียร์ได้ไม่ถนัด ถ้าอยู่เลยไปด้านหน้ามากเกินไป ก็อาจต้องเอื้อมมือเข้าเกียร์ ทั้งนี้ ถ้าตำแหน่งของคันเกียร์โผล่ขึ้นมาในห้องโดยสาร ต่างจากเดิมไม่เกิน 5-10 ซม. ก็ไม่เป็นปัญหาใด ๆ แค่แก้ไขคอนโซลเกียร์ ให้รับกับตำแหน่งของคันเกียร์ใหม่เท่านั้นเอง
อ่างน้ำมันเครื่อง ? ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะช่างไทยตัดต่ออ่างน้ำมันเครื่องได้สบายมาก แต่ให้ระวังตำแหน่งของก้านวัดระดับน้ำมันเครื่องที่จะต้องย้ายตามไปด้วย เครื่องยนต์บางรุ่นมีทั้งแบบอ่างน้ำมันเครื่องอยู่ด้านหน้าและด้านหลัง เลือกให้ดีจะได้ไม่ต้องแก้ไข
ระบบคลัตช์ ? ระบบคลัตช์มี 2 แบบคือ คลัตช์สาย และคลัตช์น้ำมัน เครื่องยนต์รุ่นใหม่ ๆ มักใช้ระบบคลัตช์น้ำมัน (ไฮดรอลิก) แต่รถรุ่นเก่า ๆ หรือรถใหม่บางรุ่น มักใช้คลัตช์สาย อย่าลืมดูที่ตัวรถว่า สามารถดัดแปลงเป็นคลัตช์น้ำมันได้หรือเปล่า เพราะบางครั้งการติดตั้งแม่ปั๊มคลัตช์อาจมีปัญหาเรื่องเนื้อที่ ตำแหน่งการยึดแม่ปั๊มคลัตช์ต้องระวังเรื่องความสูง-ต่ำกับแกนจุดหมุนของขาคลัตช์ เพราะจะมีผลต่อความแข็งตอนเหยียบคลัตช์ การใช้แม่ปั๊มคลัตช์บนเล็ก ขาคลัตช์จะเบา
เพลากลาง ? รถบางยี่ห้อมีปลอกสวมเพลากลางอีกทีหนึ่ง ทอร์คทิวบ์ ยึดติดกับปลายเสื้อเกียร์และเพลาท้าย ป้องกันการสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์ เช่น เปอโยต์ ถ้าจะเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ที่มีเกียร์และเพลากลางแบบทั่วไป จำเป็นต้องมีการดัดแปลงเชื่อมหน้าแปลนที่ยึดติดกับทอร์คทิวบ์ ด้วยแผ่นอลูมิเนียมหนา (อาจยุ่งยากบ้าง) เพื่อไม่ให้เกิดอาการสั่นสะท้าน เวลาออกตัวหรือรถแล่นเร็ว ๆ แต่รถที่ใช้เพลากลางแบบทั่วไป จะไม่เป็นปัญหาในจุดนี้
กากบาทเพลากลาง ? ให้ระวังความแข็งแรงของกากบาทเพลากลางตัวหลัง ส่วนกากบาทเพลากลางตัวหน้านั้นติดมากับชุดเกียร์ จึงไม่เป็นปัญหาเรื่องความแข็งแรงที่จะต้องรับแรงบิดหรือกำลังของเครื่องยนต์ เพราะเป็นชุดเดียวกันมาจากโรงงาน แต่กากบาทเพลากลางตัวหลังที่จำเป็นต้องใช้ของเดิม เพราะใช้เฟืองท้ายเดิมอาจไม่แข็งแกร่งพอ ถ้าเครื่องยนต์ตัวใหม่แรงกว่าเดิมมาก อาจทำให้กากบาทเพลากลางตัวหลังแตก จึงจำเป็นที่จะต้องระวังจุดนี้ให้มาก ๆ หน่อย บางครั้งอาจต้องเปลี่ยนเพลาหลังทั้งอัน เพื่อให้ได้กากบาทเพลากลาง และเฟืองท้ายที่แข็งแรงขึ้น เพื่อรองรับความแรงของเครื่องยนต์ตัวใหม่
แท่นเครื่อง แท่นเกียร์ ? ถ้าไม่มีปัญหาอื่น การดัดแปลงแท่นเครื่อง-แท่นเกียร์จะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ โดยมี 3 แนวทางในการปฏิบัติ คือ
1. แก้แท่นเครื่องที่ตัวรถ เพื่อมารับกับยางแท่นเครื่องของเครื่องยนต์ตัวใหม่ที่ยื่นออกมา จะต้องมีการตัดต่อและเชื่อมแท่นเครื่องที่ตัวรถ (แปลงกลับเป็นเครื่องเดิมยาก) รถจะค่อนข้างช้ำ แต่ช่างส่วนใหญ่นิยมใช้วิธีนี้
2. สร้างแท่นเครื่องใหม่ เป็นตัวเชื่อมระหว่างยางแท่นเครื่องใหม่กับแท่นเดิม บนตัวรถที่ถอดยางแท่นเครื่องเดิมออกไป โดยสร้างเป็นเหล็กหนาขันนอตติดกับแท่นเครื่องบนตัวรถ วิธีนี้ยาก ช่องว่างต้องมีมากพอ แต่ไม่เสียตัวรถ ช่างส่วนใหญ่ไม่ค่อยนิยมใช้
3. สร้างขายึดเครื่องใหม่ ขึ้นจากยางแท่นเครื่องตัวเดิมมาหาตัวเครื่องใหม่ โดยไม่ต้องแก้ไขที่ตัวรถ ยาก แต่ไม่ทำให้รถช้ำ ยางแท่นเครื่องตัวเก่าต้องแข็งแกร่งพอที่จะรับน้ำหนักและความแรงของเครื่องยนต์ตัวใหม่ได้
เทคนิคการดัดแปลงเครื่องยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า มาใช้กับรถขับเคลื่อนล้อหลัง
เป็นหนทางที่ได้รับความนิยมน้อย อาทิ เครื่อง3S-GTE ของโตโยต้า ดัดแปลงโดยนำมาประกอบกับเกียร์ขับหลัง จะพบปัญหาหลายอย่าง เช่น จานจ่ายอยู่ตำแหน่งท้ายเครื่อง ต้องตีผนังห้องเครื่องด้านหลังให้เป็นหลุม ท่อร่วมไอเสียและท่อร่วมไอดี ท่อร่วมไดดีอาจโค้งขึ้นจะทะลุฝากระโปรง ต้องทำท่อร่วมไอดีใหม่ ยุ่งยาก ส่วนท่อร่วมไอเสียที่ติดตัวถัง แก้ไขไม่ยากและไม่แพง โดยทำเป็นท่อเฮดเดอร์ใหม่เลย
เทคนิคการเลือกเครื่องยนต์ผสมข้ามพันธุ์กับรถขับเคลื่อนล้อหน้าด้วยกัน
ได้รับความนิยมน้อย ยุ่งยากและซับซ้อนกว่ารถขับเคลื่อนล้อหลัง เรื่องตำแหน่งของการวางเครื่อง เพราะจะมีผลกับมุมของเพลาขับทั้งสองข้าง ละมีผลต่อการทรงตัวด้วย
ขนาดของเครื่องยนต์ ? วัดความยาวของเครื่องยนต์ให้ดี ๆ เพราะห้องเครื่องนั้นขยายทางด้านกว้างได้ยาก และมีผลต่อการรับน้ำหนัก ดังนั้น อย่าเลือกเครื่องยนต์ที่มีขนาดใหญ่เกินไป จนต้องตัดแต่งผนังห้องเครื่อง
ยางแท่นเครื่อง ? ควรมีจุดยึดเครื่องหรือยางแท่นเครื่องไม่น้อยกว่าเดิม เพราะจะมีผลต่อการขับเคลื่อน ควรแก้ไขที่ตัวรถเพื่อใช้ยางแท่นเครื่องตัวที่ติดมากับเครื่องยนต์ เพราะจะรองรับความแรงของเครื่องยนต์ได้ดีกว่า
ระบบคลัตช์ ? คล้ายกับกรณีของรถขับเคลื่อนล้อหลัง ถ้าต่างระบบกัน ประเมินความสะดวกในการติดตั้งแม่ปั๊มคลัตช์อย่างรอบคอบด้วย
เพลาขับ ? เป็นปัญหาใหญ่ในการเปลี่ยนเครื่องยนต์ข้ามตระกูลในรถขับเคลื่อนล้อหน้า เพราะจะใช้เพลาเดิมไม่ได้ ต้องใช้หัวเพลาขับตัวในเครื่องยนต์ตัวใหม่ แต่ต้องใช้หัวเพลาขับตัวนอกของเครื่องยนต์ตัวเก่า เพื่อให้ใส่กับดุมเบรกของช่วงล่างเดิมได้ ดังนั้น จึงต้องมีการตัดต่อเพลาขับ ซึ่งยุ่งยากกว่าการตัดต่อเพลากลาง เพราะเพลาขับของรถขับเคลื่อนล้อหน้าส่วนใหญ่จะเป็นเพลาตัน และเมื่อใส่เข้าไปแล้วจะต้องมีมุมเท่าเดิม
การเชื่อม ควรกลึงเพลาจุดที่จะต่อให้เป็นมุมแหลม เพื่อนำมาชนกันแล้วค่อยเชื่อมพอกจนกลมแล้วกลึงให้เรียบอีกที อย่านำเพลามาชนกันเฉย ๆ แล้วเชื่อมพอกด้านนอก เพลาจะขาด ถ้าจะให้ดีควรสวมปลอกสั้น ๆ คร่อมรอยต่อแล้วเชื่อมหัวท้าย เพื่อเพิ่มความแข็งแรงอีกครั้งหนึ่ง การเชื่อมต่อเพลาขับเคลื่อนล้อหน้าที่ไม่ประณีต มักพบอาการขาดหรือสั่น จากการคดซึ่งเสี่ยงต่ออันตรายมาก เมื่อตัดต่อเสร็จแล้ว ควรนำเพลาไปถ่วงสมดุลด้วย และด้วยความยุ่งยากทั้งหมดนี่เอง เราจึงไม่ค่อยพบการดัดแปลงข้ามตระกูลในรถขับเคลื่อนล้อหน้า