กองบรรณาธิการบทความและสารคดี
4wheels@autoinfo.co.th , 02.02.2010
ฉนวนกันความร้อนฝากระโปรง ติดแล้วเท่ แต่ได้ประโยชน์จริงหรือ ? ฉนวนกันความร้อนฝากระโปรง เป็นสินค้าที่อยู่ในประเภทอุปกรณ์ถนอมรถ บ้างว่าช่วยทะนุถนอมสีรถบนฝากระโปรง ช่วยเก็บเสียง ยิ่งกว่านั้นยังเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มความสวยงาม ยามเปิดฝากระโปรงโชว์กันในกลุ่มเพื่อนฝูง
อุปกรณ์ชิ้นนี้มีสัดส่วนกำไรมหาศาล ทำนองเดียวกับอุปกรณ์กันขโมย น้ำยากันสนิม และน้ำยาเคลือบสีรถ
เท่าที่ผมได้พบเห็น และสัมผัสด้วยตัวเอง ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่แล้ว เป็นฉนวนกันความร้อนอย่างดีจริงๆ ครับ แต่ติดเข้าไปแล้วจะให้คุณหรือโทษนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ดูจากโฆษณาคุณประโยชน์มากมายหลายข้อแล้วงงครับ บางข้อก็ไม่เห็นจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความเป็นฉนวนของมันตรงไหน ผมขอไม่ยกตัวอย่างให้เปลืองเนื้อที่ ลองไปหาอ่านกันเองดีกว่าครับ
ข้อสำคัญที่ดึงดูด หรือขู่ลูกค้าให้กลัวจนต้องรีบไปรับบริการ คือ ข้อที่อ้างว่า ช่วยป้องกันสีที่ฝากระโปรงไม่ให้ชำรุดเพราะความร้อนจากเครื่องได้ ซึ่งไม่เป็นความจริงครับ
ความร้อนของฝากระโปรงรถจากการถูกแดดนั้น มากกว่าความร้อนที่รับจากเครื่องยนต์ครับ โดยเฉพาะถ้าเป็นสีเข้มแล้วจอดตากแดดไว้หลายชั่วโมง เราสามารถทอดไข่ดาวบนฝากระโปรงรถได้เลย ในต่างประเทศเคยวัดอุณหภูมิของฝากระโปรงรถสีเข้มกลางแดดได้เกือบ 100 องศาเซลเซียส แม้ไม่มีเครื่องวัด เราก็สามารถพิสูจน์ได้ง่ายด้วยตนเอง โดยการจับฝากระโปรงของรถที่เครื่องยนต์ร้อนเต็มที่ แต่จอดอยู่ในที่ร่ม เปรียบเทียบกับฝากระโปรงรถที่ไม่ได้ติดเครื่องเลยตั้งแต่เช้า แต่จอดตากแดดไว้จนบ่ายโมง อย่างหลังนี่จะร้อนกว่ามากมายครับ
แต่ข้อสำคัญ ก็คือ ไม่ว่าจะเป็นความร้อนอย่างแรก หรืออย่างหลัง หรือทั้ง 2 อย่างผสมกันก็ตาม สีรถของเรานั้นทนได้ครับ แต่มีข้อแม้ว่าต้องเป็นสีที่มีคุณภาพสูงพอเท่านั้น
ผู้อ่านบางคนอาจเคยพบ หรือประสบกับรถของตนเองที่ถูกโรงงานใช้สีคุณภาพต่ำพ่นให้มาแล้ว (อย่าให้บอก "ยี่ห้อ" เลยครับ อาจถูกฟ้องหมิ่นประมาณได้ เป็นรถญี่ปุ่น 2 ยี่ห้อ ใช้สีเมทัลลิค หรือที่ช่างชอบเรียกกันว่า สี "ลูไซท์") ว่าสีที่ชำรุดจากการถูกแดดนั้น ชำรุดในส่วนที่อยู่ในแนวราบ ซึ่งรับความร้อนจากดวงอาทิตย์เต็มที่ คือ ฝากระโปรงหน้า หลังคา และฝากระโปรงหลังด้วย
มาถึงตอนนี้ผู้ที่ไปรับบริการติดตั้ง และเสียเงินไปเรียบร้อยแล้ว อาจใจหายวาบคิดว่าคงสูญเงินไปโดยเปล่าประโยชน์แน่แล้ว สถานการณ์ยังไม่เลวร้ายขนาดนั้นครับ ผมขอสรุปผลของการติดฉนวนใต้ฝากระโปรงหน้า (ของรถที่มีเครื่องยนต์อยู่ข้างหน้า หรืออาจจะเป็นด้านหลังของรถที่มีเครื่องยนต์อยู่หลังก็ได้) ดังนี้
1. ถ้าแดดไม่จัด หรือฝากระโปรงด้านนอกได้รับการระบายความร้อนจากลมปะทะขณะวิ่งอยู่ ห้องเครื่องรวมทั้งตัวเครื่องยนต์ น่าจะมีอุณหภูมิสูงกว่าเดิม เพราะความร้อนจากเครื่องยนต์ไม่สามารถถ่ายเทสู่ฝากระโปรงรถได้ ซึ่งก็ยังไม่ถือว่าให้โทษ เพราะเครื่องยนต์ร้อนย่อมดีกว่าเย็นครับ แต่ในรถบางรุ่นและบางคัน ซึ่งมีแนวโน้มเครื่องยนต์ร้อนจัดอยู่แล้ว อาจมีปัญหาได้
สรุปแล้วถ้าไม่มีปัญหาก็ไม่เป็นไรครับ
2. ถ้าไม่ติดเครื่องแล้วจำเป็นต้องจอดรถตากแดด ฝากระโปรงรถของคุณจะร้อนกว่าเดิม เพราะความร้อนไม่สามารถถ่ายเทสู่อากาศด้านในห้องเครื่องได้ ซึ่งก็คงไม่เป็นอะไรอีกแหละครับ
ถ้าสีรถของคุณได้มาตรฐานทั่วไป คือ มีคุณภาพสูงพอ แต่ถ้าต้องจอดตากแดดทั้งวันและทุกวัน ผมว่าอย่าติดดีกว่าครับ
3. คุณจะได้ฉนวนชั้นดีสำหรับกันเสียงรบกวนจากเครื่องยนต์แลกกับเงินที่จ่ายไป เสียงรบกวนจากเครื่องยนต์จะลดลง ไม่ว่าคุณจะอยู่นอกหรือในห้องโดยสารก็ตาม เพราะฉนวนกันความร้อนเหล่านี้มีความนุ่ม ช่วยดูดซับคลื่นเสียง ซึ่งก็คือ คลื่นความดันของอากาศได้อย่างดี
ฉนวนที่ติดฝากระโปรงรถราคาสูงจากโรงงาน ทั้งรถที่ประกอบในนี้ หรือจากนอกก็ตาม ล้วนทำหน้าที่ลดเสียงรบกวนจากเครื่องยนต์ทั้งสิ้น ข้อนี้แหละครับที่ถือว่าเป็นประโยชน์แท้จริง ไม่ใช่มีไว้กันความร้อน
ผมไม่มีอะไรต่อต้านผู้บริการติดตั้งฉนวนความร้อน (และเสียง) ทั้งหลายนะครับ ของดีๆ เหล่านี้มีประโยชน์มาก แต่ต้องติดให้ถูกที่ ส่วนที่จำเป็นและให้ประโยชน์มากกว่า คือ ผนังห้องเครื่องด้านห้องโดยสาร ที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า FIRE WALL นั่นแหละครับ น่าติดที่สุด เพราะช่วยป้องกันความร้อนจากห้องเครื่องเข้าสู่ห้องโดยสารอย่างได้ผลชะงัด
ทั้งยังช่วยลดเสียงรบกวนเป็นผลพลอยได้อีกด้วย แต่การติดตั้งยากหน่อย เพราะผนังส่วนนี้มีสิ่งกีดขวางมาก เช่น มัดสายไฟ ท่อน้ำ (พวกรถจากนอกที่มีชุดทำความร้อน) ท่อน้ำยาแอร์ แกนพวงมาลัย และรังสีความร้อน นี่จะเอาแอร์ขนาดใหญ่เย็นจัดแค่ไหนมาลบล้างมันไม่ได้ครับ ต้องอาศัยผนังห้องที่เป็นฉนวนกันความร้อนชั้นดีเท่านั้น
ตำแหน่งที่ 2 ซึ่งเหมาะแก่การติดฉนวนกันความร้อน คือ บริเวณพื้นรถส่วนที่เป็นห้องโดยสาร ช่วยลดความร้อนที่เข้าสู่ห้องโดยสารได้มากครับ โดยเฉพาะส่วนที่อยู่เหนือท่อไอเสีย และหม้อพักท่อไอเสีย ผลพลอยได้ คือ การช่วยลดเสียงรบกวนจากยาง และช่วงล่าง อย่างได้ผล ผู้ที่จริงจังกับการฟังดนตรี และให้ความสำคัญกับระบบเครื่องเสียงในรถ ไม่ควรพลาดครับ แต่เป็นงานที่ต้องใช้เวลาและความประณีต เพราะต้องรื้อเบาะทั้งหมด รวมทั้งพรมปูพื้นด้วย การติดส่วนนี้ต้องทากาวให้หนามากพอ และต้องทาให้ทั่วด้วยครับ
ถ้าเน้นด้านเสียงรบกวนจริงๆ ต้องใช้ฉนวนแบบแผ่นยางมะตอย ซึ่งหาซื้อยาก และติดยากมากด้วย เพราะต้องใช้ความร้อนช่วย เอาอย่างที่เขามีไว้บริการทั่วไปก็คงพอ
2 จุดที่ว่านี้ ผมลองมาด้วยตนเองแล้ว ความเย็นสบายเพิ่มขึ้นจนรู้สึกได้ ส่วนเสียงรบกวนนั้นลดลงมากมาย เสียงดนตรีคลาสสิค พวกเพียโน และไวโอลิน ซึ่งมักจะมีปัญหาในรถ สดใสขึ้นมาก จนรู้สึกได้โดยไม่ต้องหาความแตกต่างเลยครับ
ตำแหน่งที่ 3 คือ บริเวณหลังคารถซึ่งมีฝากั้นอยู่แล้ว แต่ความร้อนจากแสงแดดยังเข้าสู่ห้องโดยสารได้อีกไม่น้อย ตำแหน่งนี้ติดตั้งฉนวนค่อนข้างยากครับ ไม่ถือว่าจำเป็น ยกเว้นกรณีเข้าพ่นสีใหม่ทั้งคันถึงจะคุ้ม
จาก
http://www.autoinfo.co.th/page/th/article_event/detail.php?id=28376เห็นว่ามีประโยชน์ดีครับ