กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงคืออะไร มีไว้ทำไมหน้าที่ 1 - แนวคิดการจัดตั้งกองทุนน้ำมันฯ
หลายคนคงสงสัยว่าทำไมช่วงนี้ถึงได้ยินคำว่ากองทุนน้ำมันฯ กันบ่อย ๆ แล้วกองทุนน้ำมันฯ คืออะไร และมีไว้ทำไม ก่อนอื่นอาจจะต้องบอกกันก่อนว่าจริงๆ แล้ว กองทุนน้ำมันฯ ที่ได้ยินกันบ่อย ๆ นั้น มีชื่อเต็มว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อยู่ภายใต้สังกัดของสำนักงานงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน แต่ถามว่า แล้วกองทุนน้ำมันฯ คืออะไร และมีไว้ทำไม
แนวคิดการจัดตั้งกองทุนน้ำมันฯ มีมาตั้งแต่ช่วงปี 2516-2517 ที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์น้ำมัน ซึ่งในช่วงนั้น ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นมากอย่างรวดเร็ว และหาซื้อได้ยาก ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันขึ้นในประเทศไทย รัฐบาลจึงได้คิดหาวิธีที่จะใช้เป็นเครื่องมือเพื่อแทรกแซงหรือควบคุมกลไกตลาดน้ำมัน เพื่อรักษาความมั่นคงในประเทศชาติ และช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ดังนั้นในปี 2516 รัฐบาลไทยจึงได้ออกพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อใช้เป็นกลไกในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยเหลือประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้น และก็ได้ใช้พระราชกำหนดนี้ ช่วยบรรเทาผลกระทบของราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นมาเกือบจะทุกครั้งที่ราคาน้ำมันโลกปรับสูงขึ้น รวมทั้งในช่วงวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันครั้งที่ 2 ด้วย ซึ่งต่อมาในปี 2534 รัฐบาลได้ยกเลิกการควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา โดยเหลือเพียงก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือก๊าซหุงต้ม หรือที่เรียกกันว่า LPG ที่ยังคงมีการควบคุมราคาอยู่ จนกระทั่งในปี 2544 ได้เปลี่ยนการควบคุมราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) มาเป็นแบบกึ่งลอยตัว โดยกำหนดให้รัฐบาลควบคุมเพียงราคาขายส่ง ส่วนราคาขายปลีกและค่าการตลาด ให้ผู้ค้าก๊าซเป็นผู้กําหนด แต่ยังให้หน่วยงานของรัฐ ได้แก่ สํานักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และกรมการค้าภายใน มีหน้าที่กํากับดูแลมิให้มีการกําหนดราคาเพื่อเอาเปรียบผูบริโภค
สำหรับการดูแลจัดการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น ในปี 2546 ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่บริหารกองทุนน้ำมัน ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงและใช้ในการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา รวมทั้งราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว ในยามที่ราคาเชื้อเพลิงเหล่านี้สูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อช่วยให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้เชื้อเพลิงเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นในกิจการร้านค้าหรือประชาชน ให้น้อยที่สุด
แล้วกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเอาเงินมาจากไหน? กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะมีรายได้จากการนำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ จากผู้ค้าน้ำมันในอัตราที่กำหนด เช่น ปัจจุบันมีการกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ สำหรับน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ในอัตรา 4 บาทต่อลิตร และดีเซลหมุนเร็ว 0.70 บาทต่อลิตร เป็นต้น ส่วนรายจ่ายของกองทุนส่วนใหญ่ จะเป็นการจ่ายเพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล และเบนซิน ในบางช่วงเวลา ในยามที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกส่วนหนึ่งก็จะเป็นรายจ่ายเพื่อส่งเสริมในส่วนของพลังงานทดแทน เช่น การให้การอุดหนุนด้านราคาแก่ไบโอดีเซล นอกจากนี้ ที่ผ่านมากองทุนน้ำมันยังมีรายจ่ายสำหรับการอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) อีกด้วย เนื่องจากมีการควบคุมราคาก๊าซ LPG จึงจำเป็นต้องมีการใช้กองทุนน้ำมันฯ เป็นเครื่องมือในการรักษาระดับราคาของก๊าซ LPG และจ่ายชดเชยค่าขนส่งระหว่างคลังก๊าซ ปตท. (กองทุนฯ มีหนี้สินที่เกิดจากการชดเชยราคาก๊าซ LPG ที่สะสมมาจากอดีต ณ เดือน พ.ย. 2550 อยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนธันวาคม 2550 รัฐบาลได้เริ่มทยอยปรับราคาขายก๊าซ LPG เพิ่มขึ้น ตามแผนการลอยตัวราคาก๊าซ เพื่อลดภาระการแทรกแซงราคาของกองทุนน้ำมันฯ
แล้วกองทุนน้ำมันฯ เข้ามามีบทบาทตอนไหน? การเข้าแทรกแซงราคาเชื้อเพลิงของกองทุนน้ำมันฯ อาจยกตัวอย่างเช่น กรณีที่ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก หรือกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่หรือที่เราได้ยินกันว่ากลุ่มโอเปค (Organization of the Petroleum Exporting Countries หรือ OPEC) ประกาศปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันลง ก็จะทำให้ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกลดลง ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ทัน ดังนั้น การที่ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกมีน้อยลง ราคาน้ำมันในตลาดโลกย่อมแพงขึ้น ก็ย่อมทำให้ประเทศไทยที่มีการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในสัดส่วนสูงถึงเกือบร้อยละ 90 ของปริมาณการใช้ต้องมีต้นทุนการนำเข้าน้ำมันในราคาที่แพงขึ้น และย่อมทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศไทยต้องแพงตามไปด้วย หากสมมติให้สิ่งอื่นๆไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น อัตราแลกเปลี่ยนคงที่
หากไม่มีกองทุนน้ำมันฯ เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกแพงขึ้น ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศก็ย่อมต้องแพงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและประชาชน แต่การมีกองทุนน้ำมันฯ อาจจะทำให้รัฐบาลตัดสินใจที่จะไม่ปรับราคาเชื้อเพลิงในประเทศให้แพงตาม แต่ใช้วิธีการลดอัตราการนำส่งเงินของผู้ค้าน้ำมันเข้ากองทุนน้ำมันฯ เช่น จากที่เคยนำส่ง 4 บาทต่อลิตร เหลือ 3.60 บาทต่อลิตร เป็นการชั่วคราว ซึ่งเมื่อทำแบบนี้ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศก็ไม่จำเป็นต้องปรับเพิ่มขึ้นมากเท่ากับที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกแพงขึ้น เป็นต้น ซึ่งหากในเวลาต่อมาราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลง หรือกลับเข้าสู่ภาวะปกติ รัฐบาลก็อาจจะกำหนดให้มีการนำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในอัตราเดิมอีกครั้ง หรืออาจกล่าวได้ว่า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะทำหน้าที่เป็นเสมือนกองทุนฯ ที่ช่วยรองรับความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก เพื่อจะทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศผันผวนน้อยที่สุด
อย่างไรก็ตาม การมีกองทุนน้ำมันฯ เพื่อช่วยพยุงราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศนั้น หากทำในช่วงสั้น ๆ ก็นับว่ามีผลดีต่อเศรษฐกิจและประชาชน แต่หากราคาน้ำมันในตลาดโลกแพงขึ้นเป็นเวลานาน ๆ การที่กองทุนน้ำมันฯ ช่วยพยุงราคาน้ำมันในประเทศไปเรื่อยๆ อาจจะเป็นการบิดเบือนกลไกตลาดของราคาน้ำมันในประเทศได้ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่จะเห็นได้ชัดเจนคือ การที่ประชาชนจะไม่ตระหนักถึงการประหยัดการใช้น้ำมัน ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ หรือหันมาใช้พลังงานทางเลือกที่ได้จากวัตถุดิบทางการเกษตร ซึ่งสามารถผลิตได้ในประเทศแทน เช่น ไบโอดีเซล และแก๊สโซฮอล์ เพราะคิดว่ายังไงก็มีกองทุนน้ำมันฯ ช่วยตรึงราคาไว้ให้ ซึ่งในที่สุด จะทำให้วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนน้ำมันฯ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงสั้น ๆ บิดเบือนไป
อ้างอิงจาก http://www.vcharkarn.com/varticle/34213
ยกเลิกกองทุนน้ำมันแล้วจะเป็นยังไง (ความเห็นที่จะได้อ่านต่อไปนี้เป็นหนึ่งในหลายๆความเห็นนะครับ เพราะมันยังไม่เกิดขึ้นจริงในตอนนี้
อ้างอิงจาก
http://hilight.kapook.com/view/60454/2)
"มนูญ" ระบุไม่เห็นด้วยนโยบายเพื่อไทยให้ยุบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง "พลังงาน" ชี้หากยุบจริง ครัวเรือนอ่วม แก๊สหุงต้มแพงถังละ 575 บาท รัฐมีภาระต้องหาเงินชดเชย ด้าน กบง.ลดเก็บเงินเข้ากองทุนอีก 60 สตางค์ หลังราคาตลาดโลกพุ่งไม่หยุด "อภิสิทธิ์" เซ็นแล้ว ขึ้น LPG ภาคอุตสาหกรรมไตรมาสละ 3 บาท
นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่จะยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะปัจจุบันกองทุนฯ เป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการควบคุมราคาน้ำมัน ไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก จนส่งผลกระทบกับค่าครองชีพของประชาชน นอกจากนี้กองทุนฯ ยังมีภาระหลักคือการอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม (LPG ) และก๊าซธรรมชาติ (NGV)
"การยุบกองทุนน้ำมันไม่สามารถทำได้ เพราะกองทุนฯ เป็นเครื่องมือในการควบคุมราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งการยุบกองทุนฯ จะทำให้รัฐบาลประสบปัญหาการหาเงินที่ต้องหามาชดเชยราคา LPG ภาคครัวเรือน และ NGV และถ้ายกเลิกก็ต้องลอยตัวราคาน้ำมัน แต่เชื่อว่า เพื่อไทยจะตรึงราคาน้ำมันไปถึงเดือน ก.ย.นี้" นายมนูญกล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ต้องจับตาดูการจับขั้วตั้งรัฐบาล หากพรรคเดิมได้โควตากระทรวงพลังงาน นโยบายด้านพลังงานก็ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่หากพรรคเพื่อไทยเข้ามาบริหารเอง อาจมีความเป็นไปได้ที่จะยุบกองทุนฯ เพราะจะทำให้ราคาน้ำมันลดลงทันที ซึ่งปัจจุบันจัดเก็บเงินจากน้ำมันเบนซิน 95 เข้ากองทุนฯ 7.50 บาทต่อลิตร น้ำมันเบนซิน 91 อยู่ที่ 6.70 บาทต่อลิตร ส่วนแก๊สโซฮอล์ 95 เก็บ 2.40 บาทต่อลิตร
นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับนโยบายพรรคเพื่อไทยในการยกเลิกกองทุนน้ำมันฯ เนื่องจากจะช่วยในเรื่องกลไกราคาได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การยุบกองทุนน้ำมันฯ นั้น ทำไม่ได้ เพราะผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งปัจจุบันต้องอุดหนุนราคาก๊าซ LPG ในภาคครัวเรือนประมาณ 19 บาทต่อ กก. ดังนั้น หากยกเลิกจะทำให้ราคาก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้นทันทีจาก กก.ละ 18.13 บาท เป็น 37.13 บาทต่อ กก. หรือราคาจำหน่ายก๊าซหุงต้มขนาดถึง 15 กก. ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 575 บาท จากราคาปัจจุบัน 290 บาทต่อถัง
นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องนโยบายยุบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ต้องรอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่เป็นผู้พิจารณา เพราะกระทรวงพลังงานอยู่ในฐานะผู้ปฏิบัติเท่านั้น
สำหรับการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 4 ก.ค. มีมติปรับลดเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันสำหรับดีเซลลง 60 สตางค์ต่อลิตร จากเดิม 2.40 บาทต่อลิตร เหลือ 1.80 บาทต่อลิตร เนื่องจากน้ำมันในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ค่าการตลาดน้ำมันดีเซลเหลือเพียง 54 สตางค์ต่อลิตร
นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในประกาศคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว เพื่อรองรับการประกาศลอยตัวราคา LPG ภาคอุตสาหกรรมส่งผลให้ราคาก๊าซ LPG ปรับเพิ่มขึ้น ไตรมาสละ 3 บาทต่อ กก. ส่วนจะมีผลเมื่อไหร่ ต้องรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน
(ผิดถูกยังไง มีข้อมูลเพิ่มเติมยังไง สั่งสอนให้ด้วยนะครับ
)