ท่านเป็นอาจารย์ผมท่านหนึ่ง ที่ให้ความรู้ในเรื่องของการโมดิฟายเครื่องยนต์สองจังหวะแรงสูง รวมทั้งเครื่องยนต์สี่จังหวะ ตำราของท่านผมยังเก็บรักษาไว้เลยครับ ถึงวันนี้เกือบๆสามสิบปีแล้วครับ องค์ความรู้ในตำราเหล่านั้น ทำให้เรารู้แจ้งเห็นจริงว่า ไม่ว่ารถรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ สามารถทำให้แรงได้แทบจะไม่ต่างกันนัก
ซึ่งมีหลักการคล้ายๆกัน มุ่งสู่จุดหมายเดียวกันคือชัยชนะบนสนามแข่ง หรือบนถนนหลวง หรือเอาไว้เพื่อเร่งแซงให้ได้ดังใจของเรา ผมใช้ตำราของท่านทำรถสองจังหวะในยุคนั้น ซึ่งมีแค่ เออาร์ ๑๒๕ คอนคอร์ด ๑๓๕ อาร์จีวี๑๕๐ อาร์ซี๑๐๐ สปริ๊นเตอร์ ๑๐๐ เมท๘๐ โนวาฯลฯ ไว้แข่งทางตรงระยะหนึ่งถึงสองกิโลเมตร ไล่กินเงินเดิมพันมานักต่อนัก หลักการที่ว่านั้นก็คือ เครื่องยนต์ต้นแบบจากโรงงานนั้น หากเป็นสองจังหวะ ๑๒๓ซีซี จะสามารถผลิตแรงม้าได้๔๕-๕๐ แรงม้า หรือประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ แรงม้าต่อเครื่องยนต์สองจังหวะ ๑๐๐๐ ซีซี หากเป็นสี่จังหวะก็ลดลงมาประมาณครึ่งหนึ่งหรือประมาณ ๑๐๐๐ซีซีต่อ ๑๕๐ แรงม้า อันนี้ให้ไปดูแรงม้าของรถเอฟวันในปัจจุบันเอาครับ นั่นล่ะต้นแบบตัวจริงเสียงจริงเลยครับ แล้วลองเทียบดูว่าสามห่วงสุดที่รักของเรานั้น มีซีซีมากถึง ๑๕๙๐ ซีซี แต่ดันมีแรงม้าแค่ร้อยนิดๆเอง เขาเผื่อไว้เป็นสิบๆเท่า เพื่อให้เราใช้ได้อึดได้ทนหลายแสนกิโลเมตรไงครับ จุดนี้ทำให้ผมทราบความจริงที่หลายๆคนไม่รู้ไม่ทราบ ก็คือว่า เราถูกหลอกให้เชื่อว่ารุ่นใหม่ต้องดีกว่าแรงกว่ารุ่นเก่าเสมอ ซึ่งไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป อยู่ที่ว่าโรงงานเขาจะกำหนดว่า จะเอาอะไร แรง หรือประหยัด หรือเอาอึดเอาเหนียว ซึ่งทั้งสองสามอย่างนี้ไม่เคยอยู่ด้วยกัน มักสวนกันเสมอ เฉกเช่น ทำไมฮอน เป็นม้าตรีนต้น นำสามสี่รอบ แต่พอรอบหลังๆ กลายเป็นพี่ต้าไปซะงั้น เพราะปรัชญาของบริษัทผู้ผลิตนั้นเน้นข้อดีที่แตกต่าง ฮอนเน้นแรงไว้ก่อน ส่วนเรื่องเหนียวเรื่องอึดไว้ทีหลัง แต่ต้าเน้นแรงพอดีๆ เอาเหนียวๆไว้ต้นๆ จึงเป็นม้าตรีนปลายที่ทั้งอึดทั้งทนไงครับวิ่งครบรอบโดยไม่กระจายเหมือนฮอนไปซะก่อนไงครับ ผมขับรถแรงๆมาทั้งชีวิต ไอ้ที่เอ่ยมาแรกๆนั้น แข่งกันสองกิโล ก็ต้องรื้อไส้ในกันใหม่หมดเลย มันไม่เหนียวหรอก แต่รอบจัดจนพร้อมที่จะพังเหมือนเครื่องรอบสูงๆทั่วไปนั่นล่ะ เคยสังเกตไหมว่า ทำไมรถเอฟวัน รอบเครื่องที่เขาใช้ในสนาม อยู่ที่หมื่นปลายๆถึงสองหมื่นรอบต่อนาที แต่ทำไม่รถดีเซล เรดไลน์อยู่ที่สี่พันสอง ยิ่งเครื่องใหญ่รถบัส รถบรรทุก เรดไลน์ต่ำติดดิน อยู่ที่พันกว่าๆถึงสองพันรอบต่อนาที ที่เห็นได้อย่างชัดเจนเครื่องเรือ ทำไม่เรดไลน์มันแค่ไม่กี่ร้อยรอบ ยิ่งใหญ่ ยิ่งช้า ยิ่งเล็ก ยิ่งสั้น ยิ่งจัด
อ.ธเนศร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา เป็นผู้ให้ความรู้แท้ๆในเรื่องนี้ไว้ในหนังสือของท่านหลายๆเล่ม แต่ท่านเหมือนเป็นตัวของตัวเองมากไปหน่อย ทำงานร่วมกับใคร ก็ต้องมีอันแตกคอกับเขาไปเสียแทบทุกรายไป ผมเห็นตั้งแต่นิตยสารมอร์เตอร์มาร์ต ที่ท่านวิจารณ์รถอย่างตรงไปตรงมา จนบริษัทค้อนเอาหลายครั้งและปวดกระบาลกับคำวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาของท่านจนหมดยาพาราไปหลายแผง แต่สุดท้ายก็ต้องพึ่งพาท่านอยู่ดี คนที่มีประสพการณ์จากการดูแลซ่อมอากาศยาน เรื่องรถคงหมูๆครับ ผมไม่เคยเห็นตัวจริงท่าน แต่เป็นแฟนหนังสือของท่านซึ่งต้องถือว่าเป็นอาจารย์เราท่านหนึ่ง
ใครที่ยังไม่มีตำราที่ว่า หากคิดที่จะแต่งรถให้แรง องค์ความรู้แบบไม่ปิดบังในนั้น เป็นเหมือนเข็มทิศส่องทางให้ท่านเดินไปข้างหน้าได้อย่างถูกตรงตามจริงไม่ปิดบัง แต่ผมวางมือจากเรื่องเหล่านี้แล้ว แต่องค์ความรู้ที่ว่าอยู่ในหัวตลอด อยู่ที่จะเรียกมาบอกเล่าให้ฟังหรือไม่เมื่อไรเท่านั้นครับ
ขอท่านไปสู่สัมปรายภพ คุณความดีที่ท่านฝากไว้แก่สังคมจะบังเกิดเป็นบุญกุศลติดตัวไปตลอดกาล การจากไปอย่างสงบเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงที่หมายสุขคติภูมิที่ท่านไปครับ ขอแสดงความเสียใจกับกัลยาณมิตรของท่านกับการจากไปครั้งนี้ด้วยครับ
ด้วยจิตคารวะ